วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Life > อย่าชะล่าใจถ้าอดนอน

อย่าชะล่าใจถ้าอดนอน

 
Column: Well – Being
 
คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่คิดว่า การอดนอนหรือนอนไม่เต็มตาไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แค่เพียงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และอาจหงุดหงิดอีกเล็กน้อย แต่ผลการศึกษาล่าสุดต่างยืนยันตรงกันว่า การอดนอนส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งระบบดังที่นิตยสาร GoodHealth แจกแจงรายละเอียดให้พึงระวังดังนี้
 
ระบบกระตุ้นความอยากอาหารผิดปกติ 
คุณอาจเคยสังเกตตัวเองว่า เวลาเหนื่อยเพลีย คุณกินเก่งมาก ซึ่งผลการศึกษาใหม่ทั้งสองครั้งให้คำตอบได้ ครั้งแรกเป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยชิคาโกที่พบว่า การอดนอนเพิ่มระดับโมเลกุล 2-AG ในร่างกายที่มีหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาครั้งที่สองพบว่า การนอนไม่เต็มอิ่มมีผลกระทบต่อสมองหลายส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมการเลือกอาหาร ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ทำงานด้อยลง ขณะที่สมองส่วนที่ควบคุมความรู้สึกต้องการรางวัลจากอาหารทำงานแข็งแกร่งขึ้น
 
เคท สวอนน์ นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Do You Really Want to Lose Weight? แนะนำวิธีป้องกันภาวะข้างต้นว่า ให้พยายามสังเกตรูปแบบการบริโภคเวลาเหนื่อยเพลีย แล้วเอาชนะให้ได้ เช่น ถ้าคุณรู้ตัวว่า ต้องหาอะไรหวาน ๆ ใส่ปากตอนบ่ายสามทุกวัน ให้กินอาหารว่างที่มีประโยชน์เสียก่อนในช่วงบ่ายสองโมงครึ่ง
 
ผิวเหี่ยวย่นเร็ว
ดร.เอลมา บารอน แห่ง University Hospitals Case Medical Center ในสหรัฐฯ ระบุว่า ผลการศึกษาของเธอนับเป็นชิ้นแรกที่ยืนยันว่า ภาวะอดนอนมีความเชื่อมโยงกับการบั่นทอนสุขภาพผิวและการเร่งให้ผิวเหี่ยวย่นแก่เร็ว ยิ่งกว่านั้น ผิวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็นเมื่อถูกทำลายจากแสงยูวี รวมทั้งสูญเสียความชุ่มชื้นเร็วกว่าปกติ
 
วงการยังไม่มีคำตอบแน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุข้างต้น แต่บริษัทเครื่องสำอางเอสเต้ ลอเดอร์ ที่ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยของ ดร.บารอน อธิบายว่า เวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ผิวหนังจะอยู่ในกระบวนการ purification process ที่เรียกว่า catabolism ซึ่งเป็นกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังนั่นเอง ถ้าการนอนหลับถูกขัดจังหวะ ย่อมหมายถึงกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังต้องสะดุดลงด้วย
 
จึงแนะนำให้ทาโลชั่นกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟสูงๆ ควบคู่กับการเน้นบริโภคอาหารประเภททับทิม กระเทียม และชาเขียว ซึ่งล้วนได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยป้องกันผิวจากการทำลายของรังสียูวีได้จากภายในร่างกายของเรา
 
ทะเลาะกับคนรอบข้าง
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเตือนว่า การอดนอนแม้เพียงคืนเดียว ทำให้คุณมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างที่คุณรักได้ และมักรุนแรงกว่าปกติเสียด้วย พวกเขาพบว่า สาเหตุเป็นเพราะความอ่อนเพลียทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ด้อยลง ทำให้แลดูเหมือนคุณเป็นคนพาลไร้เหตุผล
 
ทางที่ดีให้พยายามอย่าโต้เถียงขณะที่รู้สึกอ่อนเพลีย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ จอห์น ไอเคน นักจิตวิทยาด้านสัมพันธภาพแนะนำว่า อย่าพลั้งปากเริ่มต้นด้วยวลีที่ว่า “เธอชอบ” หรือ “เธอไม่เคย” เพราะมักทำให้การโต้เถียงรุนแรงขึ้นและวกวนไม่รู้จบ ให้คิดถึงแต่สิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ดีขึ้นและเยือกเย็นเข้าไว้
 
สีหน้าซูบซีดเต็มไปด้วยริ้วรอย
ดร.ทินา ซุนเดลิน แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม พบว่า ยิ่งคุณอ่อนเพลียมากเท่าไร ก็ยิ่งฟ้องออกมาทางสีหน้ามากขึ้นเท่านั้น ความอ่อนล้าทำให้คุณยิ่งซูบซีด มีริ้วรอยเหี่ยวย่นมากขึ้น และมุมปากตก ซึ่งไม่เพียงทำลายความเชื่อมั่นของคุณเอง ยังอาจมีผลต่อท่าทีที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณด้วย เพราะ “ผลการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ด้านสุขภาพระบุว่า ผู้คนอาจหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่แลดูซูบซีดอ่อนแอ”
 
ให้บริโภคผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้นอีกวันละสองส่วนเป็นอย่างน้อย ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์แห่งสกอตแลนด์พบว่า การทำอย่างนี้ทำให้ผิวพรรณของคุณผ่องใสมีสุขภาพดีขึ้นได้ภายใน 6 สัปดาห์เท่านั้น และเชื่อกันว่ายิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเห็นผลเร็วขึ้นเท่านั้น
 
สมองสะสมสารพิษ
มีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การนอนหลับเป็นการดีท็อกซ์ให้กับสมองด้วย ขณะที่คุณหลับสนิท เซลล์สมองหดตัวจนมีขนาดเล็กลงราวร้อยละ 60 ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถดีท็อกซ์สารพิษ เช่น เบตา-อะไมลอยด์ ซึ่งเป็นสารที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการการเกิดโรคอัลไซเมอร์
 
ดังนั้น ยิ่งคุณได้นอนน้อยเท่าไร สมองยิ่งมีโอกาสดีท็อกซ์ตัวเองน้อยลงเท่านั้น ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก ในสหรัฐฯ พบว่า ระยะเวลานอนที่สั้น มีส่วนสัมพันธ์กับการสะสมสารเบตา-อะไมลอยด์ในสมองมากขึ้น
 
ศาสตราจารย์ราล์ฟ มาร์ตินส์ จากมหาวิทยาลัยอีดิธ โคแวน กล่าวว่า “ปีที่แล้วเรายืนยันผลการศึกษาว่า อาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนที่อุดมด้วยผัก ผลไม้ ปลา มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และมีแอลกอฮอล์พอประมาณ มีส่วนสัมพันธ์กับการลดปริมาณการสะสมสารเบต้า-อะไมลอยด์ในสมอง นอกจากนี้ อาหารประเภทแกงที่มีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งน้ำทับทิมคั้น ช่วยยับยั้งการสะสมสารเบต้า-อะไมลอยด์เช่นกัน แต่ดูเหมือนการออกกำลังกายจะเป็นยาขนานเอกที่ช่วยลดปริมาณการสะสมเบต้า-อะไมลอยด์ในสมองได้ชะงัดที่สุด”
 
วิตกกังวลมากขึ้น
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า เมื่อเราเหนื่อยเพลีย สมองส่วนที่ควบคุมความวิตกกังวลและความกระวนกระวายจะทำงานมากขึ้น แพทย์ผู้ทำการทดลองจึงให้ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับความกระวนกระวายและอยู่ในภาวะอดนอน เข้ารับการเยียวยาด้านการนอนหลับ
 
อมฤต เกรวัล นักจิตวิทยาแห่งซิดนีย์แนะนำว่า การจะหยุดยั้งความวิตกกังวลในช่วงที่เหนื่อยเพลียได้ คุณต้องกำหนดช่วงเวลาวิตกกังวลขึ้นช่วงหนึ่ง เมื่อคุณเกิดความรู้สึกกังวลนี้ขึ้นจริง เพียงบอกสมองว่า คุณได้กำหนดช่วงเวลานี้เอาไว้แล้ว ให้รอจนถึงช่วงเวลานั้นก่อน เมื่อเวลานั้นมาถึงจริง คุณเพียงถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำให้คุณวิตกกังวลจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะเลวร้ายเพียงใด ส่วนใหญ่แล้วคำตอบที่ได้คือ คุณกังวลในสิ่งที่อาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ให้เน้นไปที่การกระทำเพื่อบรรเทาความคิดวิตกกังวลนั้น