วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 14, 2024
Home > Cover Story > ONNEX by SCG Smart Living หมัดเด็ดบุกตลาดโซลาร์จากเอสซีจี

ONNEX by SCG Smart Living หมัดเด็ดบุกตลาดโซลาร์จากเอสซีจี

จากวิกฤตพลังงานที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และประเด็นเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้บริโภค องค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ให้ความสำคัญกับภารกิจรักษ์โลก และมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้ “พลังงานแสงอาทิตย์” หนึ่งในพลังงานสะอาดเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ

ในขณะที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ในฐานะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่าร้อยปีก็ไม่อยู่เฉย แม้ที่ผ่านมาจะมีภาพจำของการเป็นผู้นำในตลาดวัสดุก่อสร้างก็ตามที แต่ภายใต้ร่มใหญ่ของเอสซีจียังมีกลุ่มธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ที่เน้นการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน ที่สำคัญคือมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ เพื่อปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น

หลังสั่งสมองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญมามากกว่า 10 ปี ล่าสุด เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ประกาศรุกตลาดโซลาร์แบบเต็มตัว ด้วยการส่งแบรนด์ “ONNEX by SCG Smart Living” อาวุธลับมาบุกตลาด

วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวถึงการเปิดตัว ONNEX by SCG Smart Living ว่า ONNEX by SCG Smart Living เน้นการพัฒนานวัตกรรมและบริการด้านระบบโซลาร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเริ่มต้นจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เองภายในโรงงานต่างๆ ในเครือของเอสซีจี ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากสุดถึง 40%

ด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน จึงมีความพร้อมที่จะตอบรับความต้องการในตลาดโซลาร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการติดตั้งระบบโซลาร์ในปัจจุบันนั้นมีราคาที่ถูกลง  ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ายังคงมีราคาสูง จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว ONNEX by SCG Smart Living ที่ให้บริการทั้งการติดตั้งระบบโซลาร์และโมเดลธุรกิจที่เอสซีจีหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ในประเทศไทยได้

โดย ONNEX by SCG Smart Living มีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบโซลาร์ทุกรูปแบบ ทั้ง Solar Roof, Solar Floating, Solar Farm และ Solar Carport ซึ่งแต่ละประเภทมีข้อดี ข้อเสีย ต้นทุนในการติดตั้ง และความสามารถในการผลิตไฟฟ้าที่ต่างกัน “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปทำความรู้จักแต่ละประเภทผ่านโครงการนำร่องที่เอสซีจีได้ทำมากว่า 10 ปี

Solar Carport @เอสซีจี บางซื่อ ขนาด 735 kWp ถือเป็นโครงการนำร่อง โดยเริ่มทำที่พื้นที่ลานจอดรถขนาด 3 ไร่ ของสำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับสำนักงานใหญ่ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 28 บาทต่อวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 993,000 kWh และช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 3,525,150 บาทต่อปี สำหรับ Solar Carport เป็นการติดตั้งโซลาร์ที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุด เพราะต้องลงทุนในระดับโครงสร้าง ตั้งแต่ฐานรากที่ต้องยึดโยงตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงแผงโซลาร์ที่อยู่ด้านบน

Solar Roof ขนาด 2,000 kWp เป็นระบบโซลาร์ที่ใช้งบลงทุนประหยัดที่สุด เนื่องจากเป็นการติดตั้งกับหลังคาที่ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว จึงลดงบประมาณลงทุนในส่วนโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคายังทำได้ง่ายกว่าการติดตั้งในระบบอื่นๆ อีกด้วย

โดยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของเอสซีจีมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด การใช้พื้นที่บนหลังคาที่มีขนาดใหญ่ถึง 13 ไร่ มาสร้างให้เป็นพื้นที่สร้างพลังงานสะอาดจึงถือเป็นการลงทุนที่ช่วยลดต้นทุนทางพลังงานให้กับเอสซีจีได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้โซลาร์รูฟที่เอสซีจีติดตั้งสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 2,700,000 kWh ทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานหินกองและหนองแค (ผลิตกระเบื้อง SCG Ceramics) ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 9,585,000 บาทต่อปี โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 18 บาทต่อวัตต์

Solar Floating ขนาด 999 kWp หรือ ระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าระบบโซลาร์อื่นๆ ถึงประมาณ 5-20% แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เนื่องจากต้องทำการติดตั้งแผงด้วยทุ่นลอยน้ำ แต่ก็มีข้อได้เปรียบเรื่องการระบายอากาศและอุณหภูมิที่เย็นกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น

โดยพื้นที่ในการติดตั้ง Solar Floating มักเป็นการเพิ่มมูลค่าให้พื้นที่บ่อพักน้ำสะอาดให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้การออกแบบระบบ Solar Floating จะมีต้นทุนการก่อสร้างทุ่นและระบบยึดโยงทุ่นที่ต้องคำนวณเผื่อระดับการขึ้น-ลงของน้ำตามหน้างานที่เหมาะสมเพิ่มเติม

สำหรับการติดตั้ง Solar Floating สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 1,350,000 kWh จ่ายไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานผลิตสุขภัณฑ์สยามซานิทารีแวร์ และช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 4,792,500 บาทต่อปี โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 21-22 บาทต่อวัตต์

Solar Farm ขนาด 7.2 MWp ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 47.5 ไร่ จังหวัดสระบุรี เปรียบเสมือน Outdoor Experimental Space หรือพื้นที่ทดสอบประสิทธิภาพของระบบโซลาร์ที่ครบวงจร ทั้งด้านคุณภาพและประเภทของแผงโซลาร์ชนิดต่างๆ, การติดตั้งแผงโซลาร์ในจุดที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานไฟฟ้า, การติดตั้ง Inverter, Energy Storage รวมถึงเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่ใช้ในระบบโซลาร์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 9,723,600 kWh ทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานผลิตกระเบื้องได้ 2 โรงงาน คือ โรงงานหนองแค 1 SCG Ceramics และโรงงานหนองแค 2 Sosuco Ceramics ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 34,518,780 บาทต่อปี และต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20 บาทต่อวัตต์

ที่ผ่านมา ONNEX by SCG Smart Living จัดทำระบบโซลาร์มากถึง 321 โครงการ เป็นลูกค้าภายนอกเอสซีจีประมาณ 80% ผลิตพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ (MWp) และยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอีกถึง 400-600 เมกะวัตต์ (MWp) โดยพื้นที่โซลาร์ฟาร์มขนาด 47.5 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี ถือเป็นโซลาร์ฟาร์มต้นแบบที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ภายใต้แนวคิด Smart Utilization – Smart Investment – Smart Flexibility – Smart Monitoring ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับรู้ปริมาณการผลิตโซลาร์และการนำพลังงานสะอาดไปใช้อย่างเหมาะสม และถือเป็นโซลาร์ฟาร์มต้นแบบที่มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยในส่วนของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ ONNEX by SCG Smart Living เคยพัฒนาได้สูงสุดจะอยู่ที่ IRR 34% และระยะเวลาคืนทุนภายใน 3 ปี

โดยเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะอยู่ที่ 30 บาทต่อวัตต์ และระยะเวลาในการคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 7-8 ปี แต่ ณ ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทำให้ต้นทุนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 20-25 บาทต่อวัตต์ ระยะเวลาในการคืนทุนร่นลงมาเหลือเพียง 4-5 ปี และในอีก 5 ปีข้างหน้า แนวโน้มต้นทุนจะลดลงมากกว่าเดิม

ขับเคลื่อนการเติบโตผ่าน EPC+ Business Model

นอกจากรูปแบบการติดตั้งระบบโซลาร์ข้างต้นที่เรียกได้ว่าครบทุกแบบและทุกขนาดแล้ว เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ยังเตรียมอีกหนึ่งหมัดเด็ดให้กับ ONNEX by SCG Smart Living ในการบุกตลาดโซลาร์ นั่นคือ EPC+ Business Model หรือรูปแบบธุรกิจที่มีถึง 5 รูปแบบ

ดุสิต ชัยรัตน์ Smart Home Living Solution Director ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งด้วยนโยบายจากภาครัฐและจากความต้องการของลูกค้าในการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งในระยะหลังมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นจากผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและมีความผันผวนต่ำในระยะยาว ซึ่ง ONNEX by SCG Smart Living มีบริการ EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งด้านการออกแบบทางวิศวกรรม การขออนุญาตโครงการ รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างระบบแบบครบวงจรอยู่แล้ว

แต่เพื่อขยายตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จึงได้เตรียมกลยุทธ์ EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้เกี่ยวข้องในระบบโซลาร์แต่ละกลุ่ม ที่จะช่วยสร้างอีโคซิสเต็มส์ให้แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ให้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีให้กับกลุ่มผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการลดภาวะโลกร้อนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

สำหรับ EPC+ Business Model เบื้องต้นมี 5 รูปแบบ คือ

EPC+F (Finance) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าพื้นฐานมาติดตั้งระบบโซลาร์ ผลดีคือนอกจากธุรกิจจะได้ใช้พลังงานสะอาดแล้ว ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากส่วนลดค่าไฟสูงสุดถึง 40% ซึ่งแผน EPC+F นี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเอง แต่ ONNEX จะดำเนินการหาผู้ลงทุนให้

EPC+D (Project Development) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ สถาบัน กองทุน ที่สนใจลงทุนในโครงการโซลาร์ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทีมงานจัดทำโครงการ หรือไม่สามารถหาโครงการที่เหมาะสมได้  ONNEX จะทำหน้าที่คัดสรรโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ขนาดโครงการ ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ลงทุน

EPC+ O&M (Operations & Maintenance) เหมาะสำหรับเจ้าของโครงการที่ติดตั้งโซลาร์ในหลายโครงการ และเริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการแบบองค์รวม (Centralized monitoring & maintenance) ทาง ONNEX มีบริการตั้งแต่การตรวจสอบประสิทธิภาพ (Efficiency Audit), การทำ Centralized Dashboard ตลอดจนการดูแลระบบให้สามารถผลิตไฟได้ตามเป้าหมาย โดยมีการรับประกันประสิทธิภาพ (Performance Warranty) ในกรณีที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้

EPC+ Alliance รูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตร EPC ด้วยกัน โดยมีแนวคิดที่จะช่วยให้ในกลุ่มพันธมิตรสามารถบริหารต้นทุนที่ดีที่สุดในระบบการจัดซื้อ โดย ONNEX มีแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาแผงและอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบโซลาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว โดย EPC+ Alliance ได้เริ่มดำเนินการและเปิดรับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันอยู่ในขณะนี้

EPC+Authorized Referral เหมาะสำหรับตัวแทนอิสระที่มีเครือข่ายลูกค้าที่มีศักยภาพในธุรกิจโซลาร์ สามารถเข้ามาเป็น Authorized Referral ได้ เพื่อร่วมธุรกิจและรับผลตอบแทนจากโครงการ

ซึ่งเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง มั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี มีทีมงานที่เชี่ยวชาญ มีความพร้อมทางเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าอย่าง “EPC+ Business Model” แล้ว ภายใน 5 ปี ONNEX by SCG Smart Living จะสามารถขยายกำลังการผลิตติดตั้งในระบบพลังงานโซลาร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน และการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโซลาร์ที่ตั้งใจไว้ก็คงไม่ยากนัก.