วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > บทบาท TDO ยกระดับอุตสาหกรรม ป้องกันฟอกเงินด้วยคริปโท

บทบาท TDO ยกระดับอุตสาหกรรม ป้องกันฟอกเงินด้วยคริปโท

สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในไตรมาสสองของปี 2565 มีบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดผ่านศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 2.9 ล้านบัญชี เมื่อเทียบกับจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาเดียวกันมี 5.5 ล้านบัญชี นี่ทำให้เห็นว่าแม้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะเริ่มเป็นที่รู้จักไม่นาน แต่กลับได้รับความนิยมอย่างมาก

สินทรัพย์ดิจิทัลที่รู้จักกันแพร่หลายคือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และยังมีสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างอื่น เช่น โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน

ไทยถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดรับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ อย่างกว้างขวาง จนถูกจัดอันดับให้ไทยติด 1 ใน 10 ของโลกด้านการยอมรับและนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในกิจกรรมด้านการลงทุนหรือการใช้จ่ายในเชิงธุรกิจ

นอกจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมากำกับดูแลแล้ว ยังมีสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ข้อมูลและพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานและเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ

“สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หรือ TDO จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ภายใต้ พ.ร.บ. สมาคมการค้า พ.ศ. 2509 โดยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลและพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานและเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งสมาคมฯ ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล จำนวน 22 ราย” อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (TDO) ให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม TDO ยังทำงานสอดประสานกับหน่วยงานกำลังดูแลด้านการเงิน การลงทุน อย่าง ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึง ปปง. หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากรในการออกแบบและปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขอย่างบูรณาการ

“พันธกิจของ TDO มีอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมนวัตกรรม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น บล็อกเชน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล  2. ยกระดับความโปร่งใส สนับสนุนให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีมาตรฐานสูงสุดเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน  3. คุ้มครองผู้ลงทุน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและสาธารณชน โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. พัฒนาบุคลากร ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดอบรมพัฒนาทักษะและสร้างหลักสูตรในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งด้านเทคโนโลยี กฎหมายและจริยธรรม”

สินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากจะเป็นการลงทุนอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินของเหล่าอาชญากร หรือกลุ่มธุรกิจสีเทา ซึ่งแม้จะมีเปอร์เซ็นต์น้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่สร้างความกังวลไม่น้อย

“การฟอกเงินผ่านคริปโทถือว่ายังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับเงินสด โดยมีสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการฟอกเงินผ่านสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งหมดทั่วโลก การฟอกเงินเกิดขึ้นได้ในทุกสินทรัพย์ เช่น เครื่องดนตรี ทองคำ ส่วนกรณีที่อาชญากรใช้คริปโท โดยเฉพาะเหรียญ USDT, USDC ในการฟอกเงิน ซึ่งคริปโทมีเสถียรภาพ สามารถทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ และใช้เป็นคู่เทียบซื้อขายคริปโทได้ นี่เป็นสินทรัพย์ที่สะดวกรวดเร็ว เคลื่อนย้ายได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยได้ปฏิบัติตามกฎเณฑ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจสอบลักษณะการทำธุรกิจที่ต้องสงสัย เช่น รายได้ไม่สัมพันธ์กับวอลุ่มการซื้อขาย” อัฏฐ์กล่าว

ด้านปรีชา ไพรภัทรกุล กรรมการสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ให้ความเห็นว่า “สมาคมฯ มีการปฏิบัติตามเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเพิ่มการตรวจสอบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรต้องสงสัยมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการยืนยันตัวตน หรือ KYC ปัจจุบันมีมาตรการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด สำหรับการเปิดบัญชีซื้อขายคริปโทมีการยืนยันตัวตน 2 ขั้น ขั้นแรกคือ ต้องเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งต้องผ่านขั้นตอน KYC ธนาคาร แล้วนำมาเปิดบัญชีซื้อขายคริปโท ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการยืนยันตัวตนอีกรอบ โดยบัญชีธนาคารที่นำมาเปิดบัญชีซื้อขายคริปโทต้องเป็นชื่อเดียวกัน”

ปรีชายังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลกับ ก.ล.ต. เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้าน utility token และการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหารือเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบลูกค้าสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งยังเสนอการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจตัวกลางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.19 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ขณะที่ทิศทางการเติบโตสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยหากพิจารณาจากอัตราส่วนการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ติดอันดับ 5 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย นายกสมาคมฯ มองว่า “ความแตกต่างด้านกฎระเบียบที่จะทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียน ซึ่งไทยควรพัฒนามาตรการกำกับดูแลที่มีมาตรฐานเทียบเท่าและสร้างความยืดหยุ่นที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ควรสนับสนุนให้มีการกำกับดูแลการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล (wallet) ที่สามารถตรวจสอบตัวตนได้ เพื่อลดธุรกรรมผิดกฎหมาย และเพิ่มความโปร่งใสในระบบ รวมถึงกำหนดอัตราภาษีในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”.