วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > PR News > สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย จัดสัมมนา”มหันตภัยโรคใบด่าง วิกฤตมันสำปะหลังไทย..ไม่มีทางรอด”

สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย จัดสัมมนา”มหันตภัยโรคใบด่าง วิกฤตมันสำปะหลังไทย..ไม่มีทางรอด”

สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ร่วมกับ สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย, สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดสัมมนา “มหันตภัยโรคใบด่าง วิกฤตมันสำปะหลังไทย..ไม่มีทางรอด” โดยมี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดงาน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัญหาโรคใบด่างที่กำลังระบาดในต้นมันสำปะหลังทั่วประเทศ “กระทรวงพาณิชย์และทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้านที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังและการเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร รวมถึงการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประเทศไทยของเราสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งต่อไป” นายพิชัย นริพทะพันธุ์ กล่าว

นายธำรงค์เดช อินทนิเวศน์ อุปนายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า “โรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส” Cassava mosaic virus (CMV) ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้จากการนำท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไปปลูกและการระบาดผ่านแมลงหวี่ขาวยาสูบ การแพร่ระบาดของโรคนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเกษตรกร และอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ โดยมีผลผลิตลดลงมากถึง 10-40% และหากไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออก และเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ซึ่งมูลค่าความเสียหายคาดว่าอาจสูงถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี

ในปี 2562-2564 หน่วยงานภาครัฐได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการกำจัดต้นที่เป็นโรคและใช้พันธุ์ทนทานในพื้นที่ระบาด แต่จากการสำรวจล่าสุดของคณะทำงานในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าโรคใบด่างยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้แก่ ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ อุดรธานี ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก กำแพงเพชร และกาญจนบุรี ซึ่งแสดงถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนและเข้มข้นมากขึ้น

ในงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาได้ให้ข้อมูล และแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นที่การใช้พันธุ์ต้านทาน การควบคุมแมลงหวี่ขาวยาสูบ และการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ และควบคุมโรคในพื้นที่ปลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้นอีก พร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของสมาคมต่าง ๆ ในการร่วมมือกันเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้