วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Life > เชื่อหรือไม่ … เรามี 2 สมอง

เชื่อหรือไม่ … เรามี 2 สมอง

 
Column: Well – Being
 
คุณอาจเคยได้ยินมาแล้วเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า สารสื่อประสาท “เซโรโทนิน” มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิต แต่ที่คุณอาจยังไม่รู้คือ จริงๆ แล้วปริมาณเซโรโทนินในร่างกายอย่างน้อยร้อยละ 90 ผลิตโดยกระเพาะอาหาร ไม่ใช่สมอง
 
นิตยสาร GoodHealth อธิบายว่า สุขภาวะของระบบย่อยอาหารมีอิทธิพลสูงมากต่ออารมณ์ของคุณ รวมถึงต่อความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากความเชื่อมโยงกับภาวะเสียสมดุลของ “เซโรโทนินในกระเพาะอาหาร” เช่น โรคกระดูกพรุน และโรคหัวใจ
 
ดร. เจน มูร์ แห่งภาควิชาวิทยาทางเดินอาหาร (gastroenterology) มหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า “เราเพิ่งค้นพบว่า สุขภาพของกระเพาะอาหารมีอิทธิพลต่อสุขภาพของร่างกายโดยรวมมากเพียงใด และกระเพาะอาหารกับร่างกายมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นกว่าที่เราเคยคิดกันมาก” 
 
เปิดตัว “สมอง” ในช่องท้อง 
ความเกี่ยวโยงดังกล่าวแนบแน่นมากจนนักวิทยาศาสตร์ถึงกับสรุปว่า เรามีสองสมอง คือ สมองที่อยู่ในกะโหลกศีรษะกับสมองที่อยู่ในกระเพาะอาหาร
 
การที่สมองที่สองที่ตั้งอยู่ในระบบทางเดินอาหารหรือที่เรียกกันในเชิงเทคนิคว่าระบบประสาทของลำไส้ (enteric nervous system) นั้น ต้องประกอบด้วยสารสื่อประสาทที่แตกต่างกันมากกว่า 30 ล้านเซลล์ และเซลล์ประสาทอีก 600 ล้านเซลล์
 
กิจกรรมของสมองที่อยู่ในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารก็จริง แต่สมองทั้งสองส่วนมีการติดต่อเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อสมองส่วนหนึ่งเกิดความผิดปกติ สมองส่วนที่สองก็มีปัญหาตามไปด้วย ซึ่งอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อรู้สึกตื่นเต้น คุณจึงรู้สึกหวิวๆ ในกระเพาะอาหาร หรือรู้สึกปั่นป่วนในท้องเมื่อพยายามตัดสินใจอะไรสักอย่าง นั่นคือการที่สมองในกระเพาะอาหารมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างอิสระต่อข่าวสารที่ได้รับจากสมองในศีรษะของคุณ
 
แต่การไหลเวียนของข้อมูลสามารถเริ่มต้นจากกระเพาะอาหารไปยังสมองที่ศีรษะได้เช่นกัน โดยร้อยละ 90 ของเนื้อเยื่อบางส่วนในสมองที่กระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ขนส่งข้อมูลจากกระเพาะอาหารไปยังศีรษะด้วย ซึ่งนักวิจัยระบุว่า เป็นการอธิบายถึงสาเหตุที่ผู้ที่มีอาการของโรคผิดปกติในช่องท้อง มีอัตราการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไป
 
บทบาทของแบคทีเรีย
ในระบบย่อยอาหารของคุณยังประกอบด้วยแบคทีเรียหนัก 1.5 กิโลกรัมที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือย่ำแย่ของคุณด้วย แบคทีเรียดังกล่าวไม่เพียงมีอิทธิพลต่อการผลิตสารสื่อประสาทในกระเพาะอาหาร หากยังส่งสัญญาณโดยตรงไปยังสมองที่ศีรษะ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความสามารถในการรับมือกับความเครียดของคุณ
 
แบคทีเรียในกระเพาะอาหารยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดว่า คุณสามารถลดน้ำหนักได้ดีเพียงใด และมีบทบาทต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย รวมทั้งความเสี่ยงจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย
 
การที่แบคทีเรียบางชนิดมีส่วนสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ผลการวิจัยยืนยันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่ความหลากหลายของชนิดแบคทีเรียมากกว่า ผู้ที่มีแบคทีเรียหลากชนิดเจริญเติบโตอยู่ในระบบย่อยอาหาร จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่ำกว่า และมีแนวโน้มสามารถผลิตสารสื่อประสาทเซโรโทนินในกระเพาะอาหารในระดับที่สูงด้วย
 
วิธีถนอมสมองที่สองของคุณ
บริโภคกากใยวันละ 35 กรัม – 16 วันหลังจากนั้น กระเพาะอาหารของคุณจะมีปริมาณแบคทีเรียที่เป็นคุณต่อร่างกายมากขึ้น ซึ่งช่วยปกป้องคุณจากโรคเบาหวาน มะเร็งในช่องท้อง และทำให้ลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น 
 
นักวิจัยยังแนะนำให้บริโภคกากใยอย่างหลากหลาย เพราะแบคทีเรียในกระเพาะอาหารต้องการกากใยทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ คุณจึงจำเป็นต้องบริโภคอย่างผสมผสานตามสัดส่วน กากใยที่ละลายน้ำพบในผลไม้ ผัก ถั่วเลนทิล ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง และเมล็ดแฟลกซ์ ขณะที่อาหารไม่ผ่านการแปรรูป ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช เปลือกผลไม้และผัก ให้กากใยที่ไม่ละลายน้ำ
 
หลีกเลี่ยงสารให้ความหวานสังเคราะห์ – สารดังกล่าวเข้าไปเปลี่ยนทั้งองค์ประกอบของแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร และการทำหน้าที่ของมัน ซึ่งส่งผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบเผาผลาญที่ก่อให้เกิดภาวะร่างกายไม่ทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2
 
ปฏิเสธอาหารขยะ – ซึ่งมักประกอบด้วยไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก แต่แบคทีเรียในกระเพาะอาหารไม่ชอบทั้งไขมันและน้ำตาล ผลการศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วระบุว่า การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและหวานจัด ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียความสามารถในการรับรู้ของคุณ ยิ่งกว่านั้น ผลการวิจัยครั้งล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังพบว่า อาหารไขมันสูงส่งผลโดยตรงต่อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร จนทำให้มันไม่สามารถส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าคุณอิ่มแล้ว จึงต้องบริโภคอาหารมากเกินไป
 
ผ่อนคลายความเครียด – นักวิจัยกล่าวว่า ความเครียดไม่เพียงลดความหลากหลายของชนิดแบคทีเรียในลำไส้ แต่ยังส่งเสริมให้แบคทีเรียที่เป็นโทษต่อร่างกายเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งทั้งสองภาวะนี้นำมาซึ่งการทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดต่ำลง