เส้นทาง 30 ปีของห้างค้าปลีก “โลตัส” ผ่านสมรภูมิโชกโชนและผูกพันเป็นบุพเพสันนิวาสกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งแต่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือซีพี เกิดแนวคิดต้องการสร้างธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกช่องทางการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค
วันที่ 13 สิงหาคม 2536 เครือซีพีจดทะเบียนตั้งบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท และเปิดบริการสาขาทดลองแห่งแรกที่ซีคอนสแควร์ ใช้ชื่อว่า โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537 ปรากฏว่า ลูกค้าตอบรับอย่างดี
ปีถัดมา บริษัทลุยสาขาที่ 2 โลตัส ดิสเคาน์สโตร์ ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้คอนเซ็ปต์ธุรกิจค้าปลีกที่เน้นจำหน่ายสินค้าราคาย่อมเยา
ปี 2539 บริษัททุ่มงบกว่า 3,000 ล้านบาท เปิดศูนย์กระจายสินค้าวังน้อย หวังรองรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทว่า ทุกอย่างพลิกผัน เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วเอเชียในปี 2540 ที่หลายคนเรียก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้เครือซีพีตัดสินใจขายหุ้น 75% ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม ให้กลุ่มเทสโก้ ผู้ประกอบการค้าปลีกประเทศอังกฤษ โดยเป็นแนวทางที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ระบุว่า ต้องเลือกสละบางอย่าง เพื่อรักษาเรือและเอาชีวิตรอด
ปี 2541 กลุ่มเทสโก้เข้ามาบริหารงานและเป็นจุดกำเนิดของห้าง “เทสโก้ โลตัส” มีการขยายสาขาและแตกโมเดลร้านรูปแบบต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าและทำเลที่แตกต่างกัน เช่น ปี 2544 เผยโฉมสาขารูปแบบร้านสะดวกซื้อ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” สาขาแรกในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ย่านรามอินทรา รองรับพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าที่หันมาจับจ่ายสินค้าใกล้บ้าน
ขณะเดียวกัน Tesco และ Sime Darby เข้ามาทำกิจการร่วมค้า จัดตั้งกิจการ Lotus’s Malaysia เปิดสาขาเจาะตลาดมาเลเซีย
ปี 2546 เปิดตัวเทสโก้ โลตัส คุ้มค่า สาขาแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด และโมเดลซูเปอร์มาร์เกตสาขาแรกที่พงษ์เพชร รวมถึงโมเดลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ พร้อมประกาศใช้แคมเปญลดราคาชื่อ “โรลแบ็ค” ดัมป์ราคาสินค้าถูกลงกว่าเดิม ดึงดูดลูกค้าและเปิดศึกการแข่งขันในตลาดค้าปลีกอย่างดุเดือด
ปี 2552 เปิดตัวแคมเปญ “คลับการ์ด” ให้ลูกค้าสะสมแต้มทุกการใช้จ่ายเปลี่ยนเป็นคูปองเงินสดและสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ปี 2554 หลังเทสโก้ โลตัส แพ้การประมูลกิจการคาร์ฟูร์ให้กลุ่มคาสิโน เจ้าของบิ๊กซีในประเทศไทยขณะนั้น บิ๊กซีประกาศใช้แบรนด์ “เอ็กซ์ตร้า” ปรับปรุงสาขาคาร์ฟูร์ที่เหลือเกือบทั้งหมด
ขณะที่เทสโก้ โลตัสทุ่มทุนพัฒนารูปแบบสาขา เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า ขึ้นมาแข่งอีกหนึ่งรูปแบบ ตั้งเป้าหมายเป็น “พารากอน” ของตลาด “ไฮเปอร์มาร์เกต” เริ่มจากการปรับปรุงใหญ่สาขาพระราม 4 ที่มี บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน หวังเจาะกลุ่มเป้าหมาย A+ เน้นสินค้านำเข้า เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยจำหน่ายมาก่อนในเทสโก้ มีความพิเศษด้านความสะดวกสบาย
ปี 2556 เทสโก้ โลตัสรุกสงครามออนไลน์ ตอบรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เน้นจุดขายจำนวนสินค้าให้เลือกผ่านระบบการสั่งซื้อกว่า 20,000 รายการ ครอบคลุมทั้งอาหารแห้ง อาหารสด อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง พร้อมบริการส่งถึงบ้าน
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2557 เมื่อกลุ่มเทสโก้ถูกคณะกรรมการ Serious Fraud Office ตรวจสอบฐานแสดงบัญชีไม่ตรงกับการดำเนินการจริง ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ของกลุ่มเทสโก้ลดลงจนขาดทุน 3.1 แสนล้านบาทในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ต้องตัดสินใจขายกิจการในหลายประเทศ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและพยุงสถานะทางการเงิน แต่กลุ่มเทสโก้ไม่ขายกิจการในไทยและมาเลเซีย เพราะเป็นฐานรายได้หลักนอกประเทศอังกฤษ
มีกระแสข่าวว่า ธนินท์เร่งปรึกษากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เพื่อขอกู้เงินซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมา ธนินท์ยอมรับว่า เจรจาขอซื้อคืนหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ จึงหยุดแผนทั้งหมด
กระทั่งปลายปี 2562 มีรายงานว่า กลุ่มเทสโก้กำลังตัดสินใจขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยมี 3 บริษัทเอกชนของ 3 ตระกูลใหญ่ เสนอซื้อกิจการ ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตระกูลเจียรวนนท์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ตระกูลสิริวัฒนภักดี และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตระกูลจิราธิวัฒน์
ปรากฏว่า บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าเฉพาะกิจถือหุ้นโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด เสนอราคาประมูลสูงสุด 338,445 ล้านบาท และลงนามสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 กระบวนการซื้อขายทั้งหมดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ ยื่นฟ้องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีที่คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 อนุญาตให้กลุ่มซีพีเข้าควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มซีพีมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มโมเดิร์นเทรดสูงถึง 83.97% อาจเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจ รวมทั้งเป็นบริษัทด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ มีธุรกิจครอบคลุมการดำรงชีวิตของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยคดีดังกล่าวมีสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินรับฟ้องเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 และศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564
แต่ที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ศาลปกครองยกคำร้องทั้งหมด โดยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ยังไม่มีเหตุรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ซีพี ออลล์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ร่วมกับที่ประชุมของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีมติให้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) รับโอนกิจการของ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง ทั้งหมด ประกอบด้วย บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ (บริษัท เทสโก้ สโตร์ (เอเชีย) เดิม), บริษัท โลตัส สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โลตัส สโตร์ (มาเลเซีย) จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเท็ม จำกัด เพื่อช่วยให้แม็คโครและโลตัสสามารถบริหารงาน ทั้งค้าส่งค้าปลีก ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
15 กุมภาพันธ์ 2564 โลตัสภายใต้เครือซีพีเปิดภาพลักษณ์ใหม่ เปลี่ยนโลโก้เป็น Lotus’s ตัด Tesco ออกและเติม ’s ปรับใช้สีโทนพาสเทลทันสมัยขึ้น โดยนำร่องที่สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นแห่งแรก พร้อมปรับโฉมเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และเทสโก้ โลตัส ตลาด เป็น โลตัส โก เฟรช ที่สาขาเอกชัย 99 เป็นสาขาแรก ก่อนปรับปรุงแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565
ขณะเดียวกัน เปิดตัว Lotus’s SMART App รวมออนไลน์ชอปปิ้งและรีวอร์ดโปรแกรมใหม่ myLotus’s ตอบรับพฤติกรรมการชอปปิ้งของลูกค้า
ปี 2566 เปิดตัว โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ และโลตัสพรีเว่ เน้นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าโมเดลอื่น ๆ โดยเปิดสาขาแรกที่ย่านถนนราชพฤกษ์และโครงการไอซีเอสไอคอนสยาม
ในปีนั้นยังเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อหลักทรัพย์จาก MAKRO เป็น CPAXT ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งเผยโฉมโมเดลธุรกิจค้าส่งรูปแบบใหม่ “Hybrid Wholesale 2 in 1” รวมกันระหว่างสินค้าส่งของแม็คโครและศูนย์การค้าของโลตัสในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้ชื่อ แม็คโคร โลตัส มอลล์ สาขาแรกที่สมุทรปราการ
ปี 2567 ในเดือนสิงหาคมเปิดตัว Lotus’s Eatery ศูนย์อาหาร Stand Alone ผสานจุดแข็งของแม็คโคร-โลตัส มอลล์ ที่ จ.สมุทรปราการ และนครสวรรค์ ในไตรมาสที่ 4
ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 ซีพี แอ็กซ์ตร้า มีเครือข่ายค้าปลีกรวม 2,690 สาขา แยกเป็นโลตัส 2,520 สาขา โดยอยู่ในประเทศไทย 2,451 สาขา และมาเลเซีย 69 สาขา ส่วนแม็คโครอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย กัมพูชา โอมาน เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 170 สาขา
สำหรับจำนวนสมาชิกรวม 25 ล้านราย แยกเป็นสมาชิกแม็คโคร 4.7 ล้านราย Lotus’s ประเทศไทย มีสมาชิก My Lotus’s ประมาณ 17.3 ล้านราย และ Lotus’s มาเลเซีย 3 ล้านราย.