วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์”

ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์”

 
 
หากผ่านไปแถวถนนราชดำเนินกลาง ไม่ไกลจากเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศนัก คงคุ้นตากับลานกว้าง แวดล้อมด้วยไม้ประดับร่มรื่น ด้านหนึ่งมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้านเป็นที่ตั้งของพลับพลาที่สร้างอย่างวิจิตรงดงาม มีโลหะปราสาทที่สูงตระหง่านเป็นฉากหลัง สถานที่แห่งนี้คือ “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” นั่นเอง
 
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3แห่งราชวงศ์จักรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” 
 
เดิมทีบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ “ศาลาเฉลิมไทย” โรงภาพยนตร์ล้ำสมัยแห่งแรกของไทย แต่เมื่อศาลาเฉลิมไทยปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ.2532 จึงได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทยและสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ขึ้นแทน ณ บริเวณเดิม อีกทั้งยังเป็นการเปิดทัศนียภาพให้เห็นความสง่างามของโลหะปราสาทที่อยู่ด้านหลังอีกด้วย
 
พื้นที่โดยรอบของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์นั้นเป็นลานกว้างประดับประดาด้วยไม้ดอกช่วยเพิ่มความร่มรื่นทางสายตา ภายในบริเวณประกอบด้วยพลับพลาที่ประทับสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมืองของประเทศ อีกด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประทับนั่งตรง มีฐานหินอ่อนรองรับ ฉากหลังเป็นรูปพระวิมานอันเป็นพระราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พื้นฉากเป็นหินอ่อนจารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 3 ซึ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทำนุบำรุงบ้านเมืองสร้างความเจริญมั่นคงทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา และศาสนา ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามรวมทั้งสิ้นถึง 53 วัด รวมทั้งวัดราชนัดดารามวรวิหาร และวัดเทพธิดารามวรวิหาร ที่อยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ด้วยเช่นกัน
 
จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์เดินตัดมาด้านหลังจะพบกำแพงสีขาวทอดยาวมีถนนเล็กๆ คั่นกลาง ด้านในเป็นเขตของวัดราชนัดดารามวรวิหารและโลหะปราสาท พุทธสถานที่มีเพียง 3 แห่งในโลก อีก 2 แห่งอยู่ที่ประเทศอินเดียและศรีลังกา แต่ผุพังไปหมดแล้วตามกาลเวลา ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือโลหะปราสาทที่เมืองไทย
 
สำหรับวัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ “วัดราชนัดดาราม” นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389เพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่ “พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี” พระราชนัดดาอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์
 
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ทรงเป็นพระธิดาองค์เดียวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสองค์ที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงกำพร้าตั้งแต่เด็ก เพราะพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จพระองค์เจ้าหญิงเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังภายใต้การดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ) พระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จนกระทั่งมีพระชันษาได้ 12 พรรษา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยิ่งทวีความเมตตาต่อพระราชนัดดาพระองค์นี้มากขึ้นไปอีก ทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเสมอพระราชธิดาของพระองค์เอง
 
นอกจากเป็นพระราชนัดดาที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระเมตตายิ่งแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 อีกด้วย ปรากฏพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี แต่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นพระอัครมเหสีอยู่เพียง 9 เดือนเศษเท่านั้น ก็เสด็จสวรรคต
 
กลับมาดูที่สถาปัตยกรรมภายในวัดกันบ้าง สิ่งที่เราสัมผัสได้ของวัดราชนัดดารามคือความใหญ่โตโอ่อ่าของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดทั้งพระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญ โดยพระอุโบสถนั้นตั้งอยู่ระหว่างพระวิหารและศาลาการเปรียญ ลักษณะขวางดวงตะวันเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ทำให้แสงแดดไม่ส่องเข้ามาตรงๆ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ออกแบบแผนผังและกำกับการก่อสร้าง
 
ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ศิลปกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องสีน้ำเงินสลับเหลือง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานปางมารวิชัย พระนาม “พระพุทธเสฏฐตมมุนินทร์” ซึ่งความหมายของพระนามนี้คือ พระพุทธองค์ผู้ทรงประเสริฐสูงสุดยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมุนีใดในโลก
 
นอกจากความงามของพระอุโบสถแล้ว สิ่งที่โดดเด่นและมีความสำคัญเป็นอย่างมากของวัดราชนัดดารามที่ทั้งคนไทยและต่างชาติต้องมาเยือนคือ “โลหะปราสาท” เอกพุทธศิลป์สถาปัตย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในโลก
 
โลหะปราสาทคือพุทธสถานที่มีเรือนยอดเป็นโลหะ มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น หลังแรกสร้างขึ้นที่ประเทศอินเดีย หลังที่ 2 สร้างในประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งสองหลังสร้างเมื่อ 2,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว จึงผุพังเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา สำหรับโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดารามนั้น เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกับวัดราชนัดดาราม แต่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และเสริมสร้างให้สมบูรณ์ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาตลอดรัชสมัย ทรงโปรดให้สร้างโลหะปราสาทเพื่อเป็นเกียรติแก่พระนครแทนการสร้างเจดีย์อย่างพระอารามอื่น มีเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยสร้างเป็นปราสาทสูง 7 ชั้น แต่ถ้ามองจากด้านนอกจะเห็นเป็น 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด กลางปราสาทเป็นช่องกลวงมีบันไดเวียน 67 ขั้น
 
ยอดปราสาททั้ง 37 ยอด หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เป็นธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ หรือธรรมที่สนับสนุนให้เกิดความตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรมะ 7 หมวด คือ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8 รวมเป็น 37 ประการ ภายในโลหะปราสาทจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ประวัติการก่อสร้างตลอดจนการบูรณะปฏิสังขรณ์ของโลหะปราสาท ส่วนชั้นแรกทางวัดจัดสถานที่ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการนั่งสมาธิเจริญภาวนาเป็นมุมสงบเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติภาวนา
 
บันไดเวียนทั้ง 67 ขั้นนั้น พาเราขึ้นไปสู่ยอดโลหะปราสาท อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในผอบทองคำสำหรับพุทธศาสนิกชนได้สักการะ แถมด้วยวิวแบบ 360 องศาของกรุงเทพมหานคร ยอมเหนื่อยในการเดินขึ้นสักนิด แต่รับรองว่าสิ่งที่ได้คุ้มค่าแน่นอน
 
ภายในเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่โดยรอบ ยังมีสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจ และมีความสำคัญอยู่อีกมากมาย ช่วยให้เราร้อยเรียงเรื่องราวในช่วงเวลาต่างๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างเห็นภาพและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี