วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > New&Trend > The 1 Insight ส่องเทรนด์การใช้จ่ายคึกคักรับสงกรานต์ 2567 ชี้นักท่องเที่ยวจีนทวงแชมป์ใช้จ่ายในไทยอันดับ 1

The 1 Insight ส่องเทรนด์การใช้จ่ายคึกคักรับสงกรานต์ 2567 ชี้นักท่องเที่ยวจีนทวงแชมป์ใช้จ่ายในไทยอันดับ 1

The 1 Insight ส่องเทรนด์การใช้จ่ายคึกคักรับสงกรานต์ 2567 เผยคนไทยแห่ใช้จ่าย ตจว. กระตุ้นเศรษฐกิจหัวเมือง ชี้นักท่องเที่ยวจีนทวงแชมป์ใช้จ่ายในไทยอันดับ 1

The 1 Insight ร่วมกับ CRC VoiceShare เผยเทรนด์ผู้บริโภคช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดลิสต์สินค้าคลายร้อนที่มียอดขายเติบโตโดดเด่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยนี้ พร้อมชี้เศรษฐกิจภาพรวมคึกคักโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ดันยอดการใช้จ่ายเติบโต 2 เท่าตัว สูงสุดใน 5 จังหวัดหัวเมืองสำคัญ ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง อุดรธานี จันทบุรี และชลบุรี เนื่องจากพฤติกรรมชาวไทยกว่า 60% แห่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ-กลับภูมิลำเนาตามธรรมเนียมช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย วางแผนใช้จ่ายโดยประมาณ 9,000 – 18,000 บาทต่อคน พร้อมยังเผยตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ชาวจีนกลับมาขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงมาเลเซีย

ข้อมูลจาก The 1 Insight เผยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงวันที่ 1-15 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่เป็นที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในช่วงสงกรานต์ในทุกๆ ปี ได้แก่ 1. กระเป๋ากันน้ำ +260% 2. พัดลม +250% 3. เครื่องปรับอากาศ +230% 4. เสื้อลายดอก +110% 5. น้ำแข็ง +70% 6. ไอศกรีม +60% 7. แป้งทาตัว +50% 8. ครีมกันแดด +40% 9. ยาดม +30% 10. น้ำยาเปลี่ยนสีผม +20% เห็นได้ว่าสินค้าที่ยอดขายเติบโตได้ดี มีทั้งสินค้าจำเป็นในการช่วยดับร้อนในช่วงเดือนเมษายนที่อุณหภูมิสูงสุดในช่วงปี และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฉลองเทศกาลสงกรานต์

ทาง CRC VoiceShare ยังเผยผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคในช่วงสงกรานต์ พบว่าคนไทยกว่า 60% มีแผนที่จะเดินทางในประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา โดยนิยมไปเที่ยวทะเลเป็นอันดับหนึ่ง จังหวัดยอดนิยมได้แก่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต โดยส่วนใหญ่วางแผนเดินทางช่วงก่อนสงกรานต์จนถึงช่วงเทศกาลระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน และมักเดินทางในช่วงสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ในส่วนของค่าใช้จ่าย โดยรวมอยู่ระหว่างช่วง 9,000 – 18,000 บาท แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ค่าเดินทาง 5,000 – 10,000 บาท โดยส่วนใหญ่ 72% เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว 15% เดินทางโดยขนส่งสาธารณะ และ 13% เดินทางโดยเครื่องบิน 2. ค่าที่พัก 1,000 – 3,000 บาท 3. ค่ากิน-เที่ยว 3,000 – 5,000 ส่วนคนไทยอีก 30% ที่เลือกพำนักอยู่ที่อยู่อาศัยในจังหวัดเดิม มักมีกิจกรรมหลักๆ คือการใช้เวลากับครอบครัว เดินเล่นในห้างสรรพสินค้า เยี่ยมเยียนและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมี 10% วางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยกว่าครึ่งตั้งเป้าไปประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ จีน ไต้หวัน เวียดนาม

จากฐานข้อมูล The 1 ยังบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวในปี 2566 ซึ่งภาพรวมเติบโตอย่างมีนัยสำคัญถึง 200% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอีกในปี 2567 นี้ โดย 3 ประเทศที่ใช้จ่ายสูงสุดได้แก่ จีน มาเลเซีย และรัสเซีย โดยการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 10 เท่า ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีแนวโน้มเติบโตแตะระดับก่อนเหตุการณ์โควิด-19 เนื่องด้วยนโยบายวีซ่าฟรี ไทย-จีน ที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ CRC VoiceShare ยังได้เผยผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคในหัวข้อ “เมื่อนึกถึงสงกรานต์ คนแต่ละช่วงวัยนึกถึงอะไร” โดย Gen Z นึกถึง “การเล่นน้ำ” ด้วยความเป็นวัยรักสนุกที่เพิ่งพ้นผ่านช่วงวัยรุ่นมาไม่นาน Gen Y นึกถึง “วันหยุดเทศกาล” สะท้อนความต้องการ Work-Life Balance เพื่อผ่อนคลายจากการทำงาน Gen X นึกถึง “วันขึ้นปีใหม่” เรียกได้ว่าเป็นโอกาสรวมญาติครั้งสำคัญแห่งปีสำหรับช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวอบอุ่น ส่วน Baby Boomers นึกถึง “การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่” สะท้อนการให้คุณค่าของผู้สูงวัยต่อธรรมเนียมปฏิบัติของเทศกาลสงกรานต์