วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > On Globalization > สิทธิในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศยูกันดา

สิทธิในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศยูกันดา

 
Column: Women in Wonderland
 
ยูกันดาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก หลังจากมีการโค่นล้มรัฐบาลชุดก่อน และ Yoweri Museveni ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2529 
 
รัฐบาลยูกันดาได้ทำการปฏิรูปการเมือง โดยพยายามส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบประเทศตะวันตก โดยเน้นเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ยูกันดามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงพอๆ กับประเทศจีน มีภาคการเกษตรและภาคการค้าบริการเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยในส่วนของภาคการเกษตรนั้นถือเป็นภาคที่มีการจ้างแรงงานสูงที่สุด พืชเศรษฐกิจหลักคือมันสำปะหลังและข้าว เพราะชาวยูกันดานิยมบริโภคและมีศักยภาพสูงในการปลูกมันสำปะหลัง 
 
เรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้น รัฐบาลยูกันดาได้มีการลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และยังมีการลงนามในอนุสัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศในภูมิภาค และข้อตกลงต่างๆ ในประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (the Convention on Economic, Social and Cultural Rights) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (the Convention on the Rights of the Child) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (the Convention on the Elimination of Violence against Women) เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยูกันดาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติยังได้ให้คำรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ของสหประชาชาติ ในเดือนกันยายน 2543 ว่าจะพยายามบรรลุเป้าหมายทั้ง 8 ประการในการต่อสู้กับความยากจน ความอดอยากหิวโหย การไม่รู้หนังสือ การต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศจะต้องพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทั้ง 8 ประการนี้ให้ได้ภายในปี 2558
 
สำหรับประเทศยูกันดานั้นในการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือเป้าหมายที่ 4 การลดอัตราการตายของเด็ก และเป้าหมายที่ 5 การพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์  ในยูกันดาประชากรมากกว่า 50% ของประเทศเป็นเด็ก และมากกว่า 80% อาศัยอยู่ในชนบทและค่อนข้างยากจน ถึงแม้เศรษฐกิจของยูกันดาจะมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความเจริญเหล่านี้จะมีอยู่แค่ในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ดังนั้นการที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงอาศัยอยู่ตามชนบท พวกเขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนอีกด้วย 
 
สำหรับเป้าหมายที่ 4 เรื่องลดอัตราการตายของเด็กนั้น จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า ในปี 2552 ยูกันดามีอัตราการเสียชีวิตของเด็กและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ที่ 137 คน ต่อเด็กจำนวน 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง เพราะเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษต้องการให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ที่ 56 คน ต่อเด็กจำนวน 1,000 คน และในปี 2558 อัตราการเสียชีวิตของเด็กลดลงมาอยู่ที่ 76 คน ต่อเด็กจำนวน 100,000 คน สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในยูกันดาเสียชีวิต คือโรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง โรคปอดบวม และโรคขาดสารอาหาร
 
ส่วนเป้าหมายที่ 5 ในการพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์นั้น ในยูกันดามีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์อยู่ที่ 523 คน ต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ 100,000 คน ซึ่งสหประชาชาติตั้งเป้าหมายว่าในปี 2558 อัตราการตายของผู้หญิงตั้งครรภ์ควรลดลงมาอยู่ที่ 131 คน ต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ 100,000 คน ปัจจุบันยูกันดามีผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตในโรงพยาบาลประมาณ 16 คนต่อวัน สาเหตุคือ ตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อจากการทำคลอด การทำแท้งแบบไม่ถูกวิธี และขาดแคลนคนที่มีความรู้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักไม่ค่อยพบในประเทศที่พัฒนาแล้ว
 
ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตของเด็กและเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์จะลดลงในประเทศยูกันดา แต่อัตราที่ลดลงในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่ารัฐบาลยูกันดาทำงานได้ช้ามาก และไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเพราะรัฐบาลยูกันดาไม่ได้ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหานี้แบบจริงจัง ทำให้ผู้หญิงและเด็กที่เจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี
 
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เมื่อ 4 ปีที่แล้วมีหญิงชาวยูกันดาสองคนเสียชีวิตหลังคลอดเพราะตกเลือดทั้งสองกรณีนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือถ้าทั้งสองคนได้รับการรักษาจากหมออย่างทันท่วงที ทั้งสองคนอาจจะไม่เสียชีวิต 
 
อย่างกรณีของ Jennifer Anguko คุณแม่ลูก 3 ชาวยูกันดาที่เพิ่งให้กำเนิดบุตรในโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง มีอาการตกเลือดหลังคลอด หลังจากสามีของ Jennifer รู้ว่าภรรยาของเขามีอาการตกเลือด เขาได้ไปตามหมอและพยาบาลในโรงพยาบาล แต่ปรากฏว่าทั้งโรงพยาบาลมีเพียงแค่หมอตำแย (ผู้ที่ถูกฝึกมาให้ทำคลอด แต่ไม่ใช่หมอ) เพียงแค่คนเดียวเท่านั้นในแผนกสูตินรี Jennifer นอนอยู่ในโรงพยาบาลถึง 12 ชั่วโมงตั้งแต่มีอาการตกเลือดจนเสียชีวิต โดยไม่มีหมอเข้ามาดูแล
 
หลังจากหญิงชาวยูกันดาทั้งสองคน (Jennifer Anguko และ Sylvia Nalubowa) เสียชีวิต ครอบครัวของทั้งสองคนพร้อมด้วย Centre for Health, Human Rights and Development (CEHURD) และศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย Ben Twinomugisha จากมหาวิทยาลัย Makerere ได้ร่วมกันฟ้องรัฐบาลยูกันดาที่ไม่จัดการเรื่องการบริการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอในด้านสุขภาพให้กับประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2554 และหนึ่งปีต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยกฟ้องในกรณีนี้ โดยให้เหตุผลว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในคดีใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อนโยบายสุขภาพของประเทศซึ่งออกโดยคณะรัฐมนตรี
 
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยกฟ้องคดีนี้ ทำให้นักสิทธิมนุษยชนในยูกันดาเริ่มตั้งคำถามการให้บริการพื้นฐานด้านสุขภาพกับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และเงินจำนวนมากที่รัฐบาลได้รับมาในแต่ละปีจากประเทศที่พัฒนาแล้วในการป้องกันโรคเอดส์ ว่าเงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้ที่ไหน
 
ในแต่ละปีประเทศในทวีปแอฟริกาจะได้รับเงินช่วยเหลือ Foreign Aid จากประเทศอเมริกาและประเทศอื่นๆ จำนวนมากเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อต่างๆ การที่รัฐบาลยูกันดาได้รับเงินช่วยเหลือนี้ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจลดงบประมาณด้านสาธารณสุขลงเป็นจำนวนมากและนำเงินนี้ไปใช้ด้านอื่นๆ แทน และเพราะประเทศยูกันดาได้รับเงิน Foreign Aid มาใช้ด้านสาธารณสุข รัฐบาลจึงผ่านกฎหมายให้ประชาชนสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์หรือค่าวิชาชีพสำหรับหมอ นี่หมายความว่า ถ้าคนไข้ไปหาหมอก็จ่ายเงินเพียงแค่ค่ายาเท่านั้น รัฐบาลยูกันดาเชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลยูกันดากลับไม่สามารถจัดหาหมอและพยาบาลไปทำงานตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ดังนั้นแม้ประชาชนจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น แต่เมื่อมีหมอและพยาบาลที่ไม่เพียงพอ คนไข้ก็ไม่ได้รับการรักษาขั้นพื้นฐานอยู่ดี
 
อย่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค ที่ Jennifer ได้เสียชีวิตนั้นพบว่า มีตำแหน่งงานสำหรับหมอและพยาบาลว่างมากกว่าครึ่ง นอกจากนี้โรงพยาบาลและสถานีอนามัยยังรายงานว่า ตามสถานที่ที่ให้บริการเหล่านี้ยังขาดแคลนยาสำคัญที่ใช้ในการรักษา และมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในระดับภูมิภาคที่มีอุปกรณ์พร้อมสำหรับทำคลอด
 
เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่มากๆ และมีมานานแล้ว เพียงแต่รัฐบาลยูกันดาไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ไข และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยกฟ้องกรณีข้างต้น ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งสองคนยื่นฟ้องคดีนี้อีกครั้งกับศาลสูงสุด
 
หลังจากศาลรับฟ้อง ทั้งสองครอบครัวต้องรอนานถึงสองปีเพื่อให้ศาลสูงสุดพิจารณาคดีนี้ และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลสูงสุดมีมติให้ยกเลิกคำสั่งยกฟ้องของศาลรัฐธรรมนูญ และสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการไต่สวนเรื่องนี้ เพื่อพิจารณาว่ารัฐบาลยูกันดาได้ทำทุกอย่างอย่างสุดความสามารถหรือไม่ในการให้บริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานกับหญิงตั้งครรภ์
 
เรื่องนี้ต้องติดตามต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไรในอนาคต แต่ที่แน่ๆ คือในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ประเทศยูกันดาจะมีการเลือกตั้ง และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ประชาชนต่างให้ความสนใจก็คือนโยบายด้านสุขภาพ ต้องดูว่ารัฐบาลยูกันดาจะจัดการแก้ปัญหาการให้บริการด้านสุขภาพต่อหญิงมีครรภ์อย่างไรเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ เพราะถ้าหากพรรครัฐบาลต้องการชนะการเลือกตั้งในปีหน้า ก็น่าจะต้องหาเสียงด้วยนโยบายด้านสาธารณสุขเป็นอันดับแรกๆ 
 
 
 
(Photo credit: http://www.freeimages.com/photo/happy-pregnant-1428876)