วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > New&Trend > มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ และพันธมิตร ขานรับร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ใหม่ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ และพันธมิตร ขานรับร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ใหม่ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ และพันธมิตร ขานรับร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ใหม่ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ ส่งเสริมสังคมการดื่มอย่างรับผิดชอบและดื่มไม่ขับที่เข้มงวดขึ้น

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) องค์กรที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบที่มีต่อร่างกาย ร่วมประกาศขานรับการอนุมัติร่างกฏกระทรวง (ฉบับที่..) พ.ศ. … ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ให้ครอบคลุมและเข้มงวดยิ่งขึ้น อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้ โดยพร้อมเดินหน้าร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำความผิด อันเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน ตามเป้าประสงค์ของการปรับร่างกฎกระทรวงที่มีขึ้น ตั้งเป้าร่วมจัดแคมเปญและกิจกรรมส่งเสริมการดื่มไม่ขับ อันรวมถึงการดื่มอย่างรับผิดชอบตลอดปี 2567

ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่..) พ.ศ. … ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้ครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่ที่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจได้ คือ นอกจากการตรวจวัดลมหายใจ ยังได้กำหนดวิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยตรวจจากเลือด (ต้องได้รับความยินยอม) หรือตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ (กำหนดให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด) นอกจากนี้ กรณีผู้ขับขี่มีพฤติการณ์ที่ทำให้เชื่อว่า ได้ขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ได้กระทำการฝ่าฝืนฯ หรือไม่ “ได้ทุกกรณี”

นางสาวชัชฎา จันทรางศุ ประธานมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง มปอ. เราทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ในการเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นรู้เท่าทันการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมต่างๆ และผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ที่อาจมีผลกระทบต่อตนเองและสังคม ในวันนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ เพราะมปอ. เชื่อว่า การส่งเสริมสังคมการดื่มอย่างรับผิดชอบที่ควบคู่กันไประหว่างการให้ความรู้ จำเป็นต้องดำเนินการร่วมไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่ครอบคลุมและเข้มงวดเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย อันจะนำมาซึ่งการลดปัญหาของการดื่มแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน”

สำหรับแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ ที่มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้เท่าทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นการให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆ ประกอบไปด้วย

· ความร่วมมือกับพันธมิตร คือ สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน และแกร๊บ ประเทศไทย จัดกิจกรรม “ฉลองมั่นใจ ดื่มปลอดภัย ไม่ขับเอง” รณรงค์ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2567 ณ ถนนข้าวสาร มุ่งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวและลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหารกลางคืนดื่มไม่ขับ ในส่วนของพนักงานร้านเองก็ส่งเสริมให้มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ โดย มปอ. และพันธมิตรจะจัดกิจกรรม “ฉลองมั่นใจ ดื่มปลอดภัย ไม่ขับเอง” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นี้เช่นกัน

· ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกิจกรรมรณรงค์การดื่มไม่ขับช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น ปีใหม่ สงกรานต์

· การอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำเยาวชนมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้การสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนของ มปอ. เพื่อผลักดันการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด สร้างความตระหนักรู้ผลกระทบของการดื่มก่อนวัยอันควร รวมไปถึงเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับด้วยเช่นกัน

· จัดทำโครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์” เป็นเวลา 3 ปี ในการให้ความรู้เยาวชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปแบบกิจกรรมละครเชิงสร้างสรรค์ ณ โรงเรียนต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต อังกฤษ ประจําประเทศไทย และสถาบัน Collingwood learning (องค์กรกระบวนการเรียนรู้สําหรับเยาวชน สหราช อาณาจักร) โดยโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายการ เรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากสถานการณ์จําลอง เรียนรู้จากปัญหา ซึ่งนําไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจําวัน

ในส่วนของสมาชิกมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) เองก็มีการทำงานส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นและแผนงานขององค์กร อาทิ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการตัดสินใจเลือกดื่มอย่างเหมาะสมและป้องการกันดื่มก่อนวัยอันควร ดื่มไม่ขับ และการเสิร์ฟเครื่องดื่มอย่างเหมาะสม