วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > Cover Story > SCG: ถึงเวลาเปลี่ยนควาญช้าง ความเป็นไปในยุคหลัง กานต์ ตระกูลฮุน

SCG: ถึงเวลาเปลี่ยนควาญช้าง ความเป็นไปในยุคหลัง กานต์ ตระกูลฮุน

 
การประกาศแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่แทนผู้บริหารท่านเดิมที่กำลังจะเกษียณอายุขององค์กรชั้นนำอย่าง SCG เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจให้ภาพของแบบแผนพิธีการที่ต้องดำเนินให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการ มากกว่าที่จะเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางหรือการเปลี่ยนผ่านขององค์กรอย่างที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจแห่งอื่นๆ
 
เหตุที่เป็นดังนี้ก็เนื่องเพราะก่อนหน้านี้ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อจากกานต์ ตระกูลฮุน ภายใต้แผนสืบทอดผู้นำ หรือ Succession plan มาตั้งแต่เมื่อปี 2554 หรือกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาแล้ว
 
ช่วงเวลาที่ทอดยาวดังกล่าวทำให้รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เป็นว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ที่มีโอกาสในการเตรียมตัว และผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ทดสอบ ภายใต้แรงกดดันและประสบการณ์ที่ท้าทายหลากหลายมากที่สุดคนหนึ่ง ขณะที่ความรู้และประสบการณ์ในเอสซีจีในช่วงที่ผ่านมาของเขา ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการบริหารและผลักดันยุทธศาสตร์องค์กรในยุคที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นนี้
 
ภายใต้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ ด้วยการมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services: HVA) ซึ่งถือว่าเป็นเข็มมุ่งในการบริหารองค์กรในอนาคต ดูเหมือนว่าบทบาทของรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส จะได้รับการบ่มเพาะและเตรียมตัวมาอย่างดี โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขาถูกส่งไปเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกระดาษ (เอสซีจี แพคแกจจิ้ง) ซึ่งถือเป็นกระบวนการสร้างประสบการณ์บริหารอย่างครอบคลุม ยืดหยุ่น และมีนัยความหมายสอดคล้องกับจังหวะก้าวของเอสซีจีในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่สองอย่างมาก
 
เพราะขณะที่ธุรกิจกระดาษกำลังขับเคลื่อนท่ามกลางปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ธุรกิจกระดาษของ SCG  จะต้องสร้าง “โอกาสทางการตลาด” ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจึงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและความแตกต่าง โดยเฉพาะการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นโอกาสให้ SCG สร้างรายได้จากสินค้า HVA นี้เพิ่มขึ้นอีก
 
“นี่คือเซกเมนต์ที่เราจะทำ HVA เป็นแต้มต่อทางการค้า เป็นวิธีเลี่ยงสงครามราคา แต่ว่าแต้มต่อนี้จะหายไปเร็ว ถ้าหยุดดำเนินการ เพราะคู่แข่งจะขยับเข้ามาใกล้ได้ตลอด” รุ่งโรจน์บอกกับสื่อในฐานะที่เขาคุมบังเหียนธุรกิจกระดาษของ SCG ก่อนหน้านี้
 
โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2558 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA รวม 124,072 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ตราสินค้า SCG eco value มียอดขาย 87,954 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26 ของยอดขายรวม  โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2558 เอสซีจีใช้งบประมาณ R&D 2,354 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของยอดขายรวม โดยงบประมาณที่จัดสรรไว้ทั้งปีอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท และในปี 2559-2560 เอสซีจีตั้งงบประมาณ R&D ไว้ 6,700 ล้านบาท และ 8,300 ล้านบาท ตามลำดับ
 
บทบาทและก้าวย่างที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของรุ่งโรจน์ในช่วงที่ผ่านมา ก็คือการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนกลาง (2543-2548) และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซึ่งก็คือตำแหน่ง CFO ของเอสซีจี (2548-2553) ก่อนที่จะได้รับมอบหมายวางตัวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และย้ายไปรับผิดชอบงานในฐานะผู้จัดการใหญ่ธุรกิจกระดาษ ซึ่งทำให้เขามีประสบการณ์ครอบคลุมหลากหลายมิติยิ่งขึ้นอีก
 
เรียกได้ว่า รุ่งโรจน์เป็นผู้บริหารที่ครบเครื่องเรื่องคุณสมบัติทั้งด้าน Hard side และ Soft side คือมีความรอบด้านในองค์ความรู้ ความสามารถในการบริหารงาน และการเป็นผู้นำที่สามารถโน้มน้าวให้คน “เชื่อ” และก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งในฐานะองค์กรขนาดใหญ่อย่าง SCG แน่นอนว่านี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ใครหรือทุกคนจะทำได้โดยง่าย
 
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเหมืองแร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ University of Texas (Arlington) และปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจ Harvard  Business School ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมงานกับเอสซีจีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ในตำแหน่งวิศวกร บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และปฏิบัติงานในตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนกลาง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคแกจจิ้ง และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี
 
ในการแถลงผลประกอบการไตรมาสสาม และ 9 เดือนของปี 2558 ปรากฏว่า เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขายในไตรมาสที่สาม 43,570 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน จากความต้องการของตลาดภายในประเทศลดลง มีกำไร 2,073 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 28 จากไตรมาสก่อน 
 
สำหรับ 9 เดือนของปี 2558 มีรายได้จากการขาย 136,314 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวช้าของตลาดภายในประเทศ มีกำไร 8,527 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
 
ขณะที่เอสซีจี เคมิคอลส์ มีรายได้จากการขายในไตรมาสที่สาม 51,591 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงอย่างมากตามราคาน้ำมันดิบ และมีกำไร 6,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน จากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือดังกล่าว
 
โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2558 มีรายได้จากการขาย 153,183 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 20,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
 
ในส่วนของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขายในไตรมาสที่สาม 18,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน มีกำไร 645 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 16 จากไตรมาสก่อน จากค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
 
สำหรับ 9 เดือนของ ปี 2558 มีรายได้จากการขาย 52,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ มีกำไร 2,287 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในช่วงต้นปีหน้าแล้ว การปรับเปลี่ยนแบรนด์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน เอสซีจีได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าจาก “ตราช้าง” เป็น “เอสซีจี” ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่าย เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับองค์กร ทำให้แบรนด์เอสซีจีมีพลังและแข็งแกร่งมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
 
ที่ผ่านมา “ตราช้าง” เป็นแบรนด์ที่ใช้ในประเทศไทยและประเทศลาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะใช้ชื่อ “เอสซีจี” เป็นแบรนด์หลักในการทำตลาด ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างดีทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือและคุณภาพสินค้าระดับพรีเมียม การเปลี่ยนชื่อจาก “ตราช้าง” เป็น “เอสซีจี” จะเป็นอีกกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง
 
ก้าวย่างของ SCG ในยุคที่โพ้นไปจากช้างและควาญช้างในฐานะผู้กำหนดทิศทาง มาสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการบริหารอย่างเป็นสากลในยุคศตวรรษที่ 2 นี้จะดำเนินไปด้วยจังหวะและท่วงทำนองรองรับกับความผันผวนและท้าทายในอุตสาหกรรมนี้ได้ดีอย่างไร เป็นงานที่รอคอยการพิสูจน์ฝีมือไม่เฉพาะสำหรับรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารองค์กรนี้เท่านั้น
 
หากในอีกมิติหนึ่งยังเป็นมาตรวัดที่ประเมินวิถีทางเลือกและความสำเร็จล้มเหลวของแผนสืบทอดผู้นำ หรือ Succession plan ที่องค์กร SCG ได้นำมาใช้คัดเลือกบุคลากรนี้ด้วย