วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ระเบิดศึกป๊อปคอร์น เอสเอฟแซ่บนัว เมเจอร์หวานฉ่ำ

ระเบิดศึกป๊อปคอร์น เอสเอฟแซ่บนัว เมเจอร์หวานฉ่ำ

สงครามป๊อปคอร์น “SF-MAJOR” ยังคงร้อนระอุ ทั้งการประชันรสชาติเข้มข้นและการตะลุยเจาะช่องทางใหม่ๆ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อค่ายหลังประกาศตั้งเป้าหมายผลักดันรายได้พระเอก “ป๊อปคอร์น” ไม่น้อยหน้าตั๋วหนัง ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงอีกหลายเท่า

ล่าสุด ทั้งสองค่ายเปิดสมรภูมิตั้งแต่ต้นปี โดยเอสเอฟ จับมือ “รสดีเมนู” อายิโนะโมะโต๊ะ ส่งป๊อปคอร์นรสลาบ-น้ำตก แซ่บ นัว สไตล์อีสาน หอมมะนาว ข้าวคั่ว เริ่มจำหน่ายแล้วจนถึงปลายเดือนหน้า ขณะที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ชิงจังหวะจับเทศกาลวาเลนไทน์ งัด Strawberry Overload รับช่วงเทศกาลแห่งความรักของทุกปี  พร้อมโปรโมชันแพ็กคู่ 1 แถม 1 ราคา 69 บาท จากปกติ 138 บาท

ต้องยอมรับว่า หากเปรียบเทียบกลยุทธ์ด้านรสชาติแล้ว เอสเอฟ เน้นรสชาติแซ่บๆ แบบไทยๆ โดยก่อนหน้านี้เคยดึง “อาฟเตอร์ยำ (After Yum)” เปิดตัวป๊อปคอร์นรสไก่ทอดซอสยำปู เพื่อฉีกสไตล์ความแตกต่างจากเบอร์ 1 ในตลาด

พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพยายามเพิ่มโอกาสจากธุรกิจเสริมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด เพื่อสร้างประสบการณ์ (Experience) ใหม่ๆ ให้กลุ่มลูกค้านอกเหนือจากการชมภาพยนตร์ เช่น การเปิด SF Shop จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตัวภาพยนตร์ ทั้งการขายหน้าร้านและผ่านช่องทางออนไลน์

การเปิด Cine Café นำรูปแบบคาเฟ่เข้ามาผสมกลมกลืนกับโรงภาพยนตร์ ถ้าคุณเลือกชมภาพยนตร์ในโรงซีเนคาเฟ่จะได้เครื่องดื่มด้วย เหมาะสำหรับกลุ่มที่ชอบแฮงก์เอาต์ ซึ่งล่าสุดเปิดให้บริการ 8 สาขา แบ่งเป็นโมเดลร้านใหญ่มีที่นั่งรับรองลูกค้า 4 สาขา คือ เอส เอฟ ซีเนม่า สาขาศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ สาขาเดอะมอลล์ ท่าพระ สาขาเทอร์มินอล21 พระราม3 และสาขา เดอะมอลล์ บางแค

ส่วนอีก 4 สาขา เป็นโมเดล CINECAFÉ EXPRESS ลักษณะจุดขายเครื่องดื่มในโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า สาขาโรบินสันไลฟ์สไตล์ ฉะเชิงเทรา สาขาเซ็นทรัล ชลบุรี สาขาเดอะคริสตัล ราชพฤกษ์ และสาขาเซ็นทรัล อยุธยา

หรือการแตกไลน์ธุรกิจ “ป๊อปคอร์น ดีลิเวอรี” ตั้งแต่โควิดรอบแรกและขยายบุกช่องทางออนไลน์ผ่าน ShopeeFood ในรูปแบบป๊อปคอร์นถุงแบบฟอยล์ ซึ่งเก็บรักษารสชาติได้นานถึง 6 เดือน ทำให้ได้ลูกค้าใหม่อีกกลุ่ม แต่การแข่งขันสูงและโจทย์ยากขึ้น ทั้งในแง่คู่แข่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและความชอบของลูกค้าต่างกัน ทำให้ต้องพยายามหารสชาติที่ถูกใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ปัจจุบัน SF POPCORN มี 4 รสชาติหลัก คือ ORIGINAL (รสเค็ม) รส CARAMEL รส CHEESE รส  PAPRIKA และวางกลยุทธ์รสชาติพิเศษตามเทศกาลหรือเสียงเรียกร้องของลูกค้า อย่างเช่นรสดีเมนูรสลาบ โดยวางจำหน่ายในรูปแบบถุงซิปล็อก ราคาเริ่มต้น 180 บาทและหน้าสาขา ซึ่งราคาแตกต่างกัน รวมทั้งมีโปรโมชันต่างๆ เช่น คอมโบเซต เซตพรีเมียมต่างๆ และรูปแบบป๊อปคอร์นฟอยล์ในถุงฟอยล์ที่คงความกรอบ อร่อย นานถึง 6 เดือน

สำหรับช่องทางการขายแบ่งเป็นจุดขายออฟไลน์หน้าโรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ ทุกสาขา กับช่องทางออนไลน์เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

ขณะเดียวกัน บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังเปิดตัวสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ต่อยอดไอเดียจากป๊อปคอร์นที่อยู่คู่โรงหนัง เป็นขนมขบเคี้ยวพร้อมรับประทาน คือ CORN QUIX (คอร์นควิก) เป็นป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุกระป๋อง 3 รสชาติ ได้แก่ เห็ดทรัฟเฟิล คาราเมล และปลาหมึกย่าง ราคากระป๋องละ 120 บาท และ CORN STIX (คอร์นสติ๊ก) ขนมข้าวโพดแท่งอบกรอบผสมเกล็ดข้าวโพดบรรจุถุง มี 3 รสชาติ ได้แก่ โนริสาหร่าย ต้มยำกุ้งและบาร์บีคิว ราคาถุงละ 40 บาท

แน่นอนว่า สัญญาณสำคัญที่สะท้อนการต่อสู้เริ่มต้นชัดเจนตั้งแต่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ฟื้นตัวต่อเนื่องแตะระดับ 80% เมื่อปีที่ผ่านมาและน่าจะเติบโตเต็มที่เหมือนก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดในปี 2567

ตัวแปรสำคัญมาจากคอนเทนต์ภาพยนตร์ ทั้งหนังฮอลลีวู้ดกับหนังไทยที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีที่ผ่านมา เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น ใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาทปรับโฉมโรงหนังใหม่แบบยกเครื่องทั้งหมด ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว และเดอะ มอลล์ บางแค ส่วนปี 2567 จะลงทุนเปิดโรงหนังใหม่ 5-7 สาขา จำนวนทั้งสิ้น 40 โรง เงินลงทุนเฉลี่ย 15-18 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันบริษัทมีโรงหนังให้บริการทั้งสิ้น 66 สาขา จำนวน 400 โรง

นอกจากนั้น เดินหน้าสร้างรายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะป๊อปคอร์น ทั้งการวางแผนขยายช่องทางขายปลีกและเตรียมกระจายกิจกรรม “เปิดซ่าท้าให้ลอง” ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ “โค้ก” ให้ลูกค้านำภาชนะอะไรก็ได้มาใส่ป๊อปคอร์น ในสาขาต่างจังหวัดด้วย เพราะถือเป็นซิกเนเจอร์อีเวนต์ของเอสเอฟ และขยายการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าได้อย่างแข็งแกร่ง

ด้านเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ตะลุยปูพรมผ่านสารพัดช่องทางการขาย ทั้งภายในโรงหนัง In Cinema และนอกโรงหนัง Out Cinema เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างรายได้ของธุรกิจ Concession อาหาร ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม ให้เติบโตเท่ากับรายได้ตั๋วหนัง โดยเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ สร้างแบรนด์ POPCORN MAJOR รูปแบบซองสแน็กขนาด 35 กรัม ราคาเพียง 28 บาท จำนวน 3 รสชาติ คือ  รสชีส รสคลาสสิก และรสข้าวโพดปิ้ง หวังเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ผ่านช่องทางขายร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น 14,000 สาขาทั่วประเทศ นอกเหนือจากป๊อปคอร์นพรีเมียมที่ขายหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ฯ และ POP STAR คีออสนอกโรงหนัง

ขณะเดียวกัน ยังมีช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต อย่างวิลล่า มาร์เก็ต กูร์เมต์ มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

ปัจจุบัน คีออส Popstar by Major Cineplex เปิดให้บริการกว่า 40 สาขา เน้นทำเลคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เกต ศูนย์การค้า ขนาดพื้นที่ร้าน 6-10 ตารางเมตร รวมถึงร้านสแตนด์อโลน รูปแบบป๊อปอัปสโตร์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มดีลิเวอรีและลูกค้าวอล์กอิน

ต้องยอมรับว่า การแตกไลน์ธุรกิจป๊อปคอร์นของเมเจอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2563 ช่วยเสริมรายได้ให้ธุรกิจหลัก ทั้งช่วงโควิดและช่วงปกติชนิดสร้างเซอร์ไพรส์มาก โดยบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 จะออกมาดีมาก และทำจุดสูงสุด (Peak) ของปี 2566 เนื่องจากรายได้จากการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการขายในและนอกโซนโรงภาพยนตร์ บวกกับยอดขายบัตรภาพยนตร์ทั้งแบบปกติ และแบบจัดโปรโมชันได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้า หลังจบโควิด-19 มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ฝั่งฮอลลีวู้ดเริ่มกลับมาฉายมากขึ้น และภาพยนตร์ไทยได้การตอบรับดีมาก

ทั้งนี้ บรรดาโบรกเกอร์ต่างประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ปี 2567 ผลการดำเนินงานของกลุ่มเมเจอร์ฯจะอยู่ในระดับ 9,000 ล้านบาท เพิ่มสูงกว่าปี 2566 ซึ่งมีตัวเลขเติบโตก้าวกระโดด หลังงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวมแล้ว 5,754.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 706.97 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 มีรายได้รวม 6,749.40 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 252.15 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่ง คือ ธุรกิจป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มจะพุ่งสูงกว่าปี 2566 ที่คาดว่าจะทำได้ในระดับ 2,200-2,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25-30% ของรายได้รวม โดยเฉพาะช่องทางขายนอกโรงภาพยนตร์ ซึ่งบริษัทเตรียมขยายครอบคลุมร้านค้าปลีกทุกแบรนด์ ไม่ใช่แค่เซเว่นอีเลฟเว่น แต่ตั้งเป้าหมายจะสามารถวางขายได้มากกว่า 25,000 จุด และเตรียมแผนส่งออกไปขายต่างประเทศผ่านช่องทางการจำหน่ายของบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) อีกด้วย.