วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ ทายาทสหฟาร์มกับการพลิกฟื้นธุรกิจ

น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ ทายาทสหฟาร์มกับการพลิกฟื้นธุรกิจ

“ตั้งแต่เด็ก เวลาที่ใครๆ ถามว่าโตขึ้นมาอยากเป็นอะไร ทุกคนก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่น้ำผึ้งไม่เคยโดนคำถามแบบนั้นเลย แต่เราโตมากับคำพูดที่ว่า โตขึ้นมาน้ำผึ้งต้องมาทำงานช่วยสหฟาร์ม มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าเวลาที่เราเรียน เราต้องเลือกเรียนในสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับการทำงานของสหฟาร์ม เหมือนเราโตมาเพื่อสหฟาร์ม” น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ ทายาทหมื่นล้านของสหฟาร์ม กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ในวันที่สหฟาร์มกลับคืนสู่ครอบครัว “โชติเทวัญ” อีกครั้ง หลังอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการมานานกว่า 7 ปี 

จารุวรรณ โชติเทวัญ หรือ “น้ำผึ้ง” เป็นลูกสาวคนเดียวท่ามกลางพี่ชายและน้องชายทั้ง 4 คนของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ กับ ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ เจ้าของธุรกิจหมื่นล้านแห่งสหฟาร์ม ที่ประกอบธุรกิจผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของประเทศ และเจ้าของอาณาจักร “บ้านสุขาวดี” แลนด์มาร์กและแหล่งท่องเที่ยวสุดอลังการของ จ.ชลบุรี ที่สร้างบนเนื้อที่กว่า 80 ไร่

น้ำผึ้งใช้เวลาเกือบ 10 ปี ในการศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงปริญญาโท โดยเริ่มที่ Trent College ก่อนศึกษาต่อในสาขา International Business Management ที่ Richmond University และ Surrey University ตามลำดับ และกลับเข้ามาเริ่มงานที่สหฟาร์มทันทีหลังเรียนจบ

“พอจบกลับมาวันแรก วันรุ่งขึ้นน้ำผึ้งต้องเข้าไปรายงานตัวที่สหฟาร์ม แล้วเขาก็ให้เราทำงานเลย คุณพ่อบอกว่าให้ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงิน ดูว่าจ่ายอะไร ราคาเท่าไร ลูกค้าเจ้าไหน ซัปพลายเออร์เจ้าไหน ซึ่งเราเรียนด้าน International Management มา เราก็ไม่เห็นว่ามันจะเกี่ยวกับที่เรียนมาเลยแต่ต้องทำ ตอนนั้นคุณพ่อกับคุณแม่ยังทำงานด้วยกันอย่างขันแข็ง มีการประชุมตลอด น้ำผึ้งก็ได้เรียนรู้งานจากการเข้าประชุม”

หลังอยู่ฝ่ายการเงินประมาณ 3-4 ปี น้ำผึ้งจึงย้ายไปอยู่ฝ่ายการตลาดต่างประเทศ เพื่อใช้วิชาความรู้ตามที่เรียนมา

“จำได้สัปดาห์แรกเจอลูกค้าบ่นหนักเลยว่าน้ำผึ้งไม่ค่อยตอบอีเมล พูดไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นเราไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรแล้วเขาให้เราไปขายของเลย ซึ่งลูกค้าที่เขาให้น้ำผึ้งดูแลเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในบริษัท แต่ยังโชคดีที่เขาเอ็นดูเรา คอยสอนว่าต้องทำอะไร น้ำผึ้งก็ใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าและค่อย ๆ สร้างทีมขึ้นมา”

จากช่วงแรกที่ยังถือเป็นมือใหม่ แต่ด้วยความที่เกิดและเติบโตมากับสหฟาร์ม แนวคิดที่น้ำผึ้งใช้ในการพัฒนาการทำงานมาโดยตลอดคือ “เราต้องรู้ เราต้องเก่ง” จึงพยายามเรียนรู้ทุกสิ่งของสหฟาร์ม ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารเป็นอย่างดี ทำให้การทำงานในฐานะทายาทสหฟาร์มค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปตามลำดับ และกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

“น้ำผึ้งเกิดและโตมากับสหฟาร์ม เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่รู้ต้องถาม ถามคนที่เขาอยู่มาก่อน ถามคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้สร้างสหฟาร์มขึ้นมา มันเลยทำให้เรามีความมั่นใจในการที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง และพัฒนาไปเรื่อยๆ อีกอย่างผู้บริหารเขาก็เห็นน้ำผึ้งมาตั้งแต่เด็กๆ เขาก็เอ็นดูและคอยสอนว่าต้องทำอะไร”

หลังดูแลฝ่ายการตลาดต่างประเทศอยู่พักใหญ่ น้ำผึ้งต้องกลับไปดูฝ่ายบัญชีและการเงินอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่สหฟาร์มกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ก่อนที่จะย้ายไปบริหารงานบริษัทในเครือสหฟาร์มแทน

“บริษัทในเครือเราเลี้ยงไก่เป็นหลัก มีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่เยอะที่สุดในประเทศไทย และเลี้ยงไก่ส่งให้สหฟาร์ม น้ำผึ้งดูในส่วนของบัญชีการเงินและการจัดการฟาร์มทั้งหมด เรียกได้ว่าครบวงจรในการทำงานแล้ว เพราะมีประสบการณ์ทั้งในบัญชีการเงิน การตลาดต่างประเทศ การดูแลฟาร์มและโรงงาน”

ปี 2557 สหฟาร์มต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพราะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้บริหารแผนนานกว่า 7 ปี กระทั่งเดือนสิงหาคม ปี 2565 สหฟาร์มจึงได้หวนคืนสู่ครอบครัวโชติเทวัญอีกครั้ง โดยมีทายาทโชติเทวัญเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ

“พอบริษัทออกจากแผนฟื้นฟู คุณพ่อก็กลับเข้ามาบริหารใหม่ ท่านก็ถามว่าอยากทำอะไร เพราะเขาตั้งใจให้น้ำผึ้งเป็นเลขานุการประธานกรรมการบริหารอย่างเดียว เพราะคุณพ่อมีแนวคิดปรับปรุงสหฟาร์ม โปรเจ็กต์และงานจะเยอะมาก น้ำผึ้งตอบไปว่าอยากทำบัญชีการเงินเหมือนเดิมเพราะมันคือหัวใจ เขาเลยมอบตำแหน่ง ‘ประธานสายบัญชีการเงิน’ ให้ดู พ่วงไปกับเลขานุการประธานกรรมการ”

นอกจากตำแหน่งประธานสายบัญชีการเงินและเลขานุการประธานกรรมการบริหารแล้ว น้ำผึ้งยังได้รับมอบหมายจาก ดร.ปัญญาให้มาดูแลด้านการตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในการกลับมาของโชติเทวัญให้กับลูกค้าอีกครั้ง

ทิศทางของสหฟาร์มหลังออกจากแผนฟื้นฟู

น้ำผึ้งเปิดเผยว่า ตอนที่อยู่ในแผนฟื้นฟูนั้นมีข้อจำกัดในการวางแผนธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถขยายอะไรได้มากนัก แต่เมื่อเป็นอิสระแล้ว สหฟาร์มจะกลับมาทำอะไรใหม่ๆ อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันสหฟาร์มทำธุรกิจผลิตและส่งออกไก่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไก่ ปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ โรงฟักไก่เนื้อ โรงชำแหละชิ้นส่วนไก่ โรงงานแปรรูปไก่เพื่อการส่งออก รวมทั้งอาหารสัตว์ มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี จนถึงเพชรบูรณ์ รวมกว่า 50,000 ไร่ สินค้าส่งออกยังคงเป็นไก่สด โดยตลาดหลักประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศในแถบยุโรปอย่าง อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี

สำหรับทิศทางธุรกิจหลังออกจากแผนฟื้นฟูนั้น ทายาทโชติเทวัญจะยังคงสานต่อเจตนารมณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งอย่าง ดร.ปัญญาวางไว้ นั่นคือ การเพิ่มกำลังการผลิต ขยายตลาดต่างประเทศ ปรับปรุงสหฟาร์มซูเปอร์มาร์เกต และเปิดบ้านสุขาวดีเพื่อเป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวของชลบุรีอีกครั้ง

“ลูกๆ ของคุณพ่อทุกคนช่วยงานที่สหฟาร์มทั้งหมด พอออกจากแผนฟื้นฟูคุณพ่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารทั้งหมด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน มีการลดต้นทุน และเพิ่มจำนวนไก่เข้าเชือด ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนตัวต่อวัน ในอนาคตเราจะเพิ่มไปจนถึง 1 ล้านตัว และมีแนวโน้มที่จะสร้างการเติบโตขึ้นไปอีก น้ำผึ้งอยากให้ความมั่นใจว่า ต่อจากนี้สหฟาร์มจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และเราจะดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดให้ราคาที่เป็นธรรม ให้คุณไปแข่งขันในตลาดได้”

น้ำผึ้งยังเปิดเผยต่อว่า ในระดับ B2B ไก่ของสหฟาร์มเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะสหฟาร์มมีระบบการเลี้ยงที่ดี อาหารไก่เป็นแบบ vegetarian feed ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ไม่มีโปรตีนจากสัตว์มาผสม ทำให้เนื้อไก่ไม่คาว อีกทั้งยังมีการตัดแต่งเนื้อไก่ที่เป็นแบบ handcraft ไม่ใช้เครื่องจักร ทำให้สินค้ามีความพรีเมียมและเนี้ยบกว่าที่อื่น จนเป็นที่ยอมรับของตลาด

ผลิตภัณฑ์ของสหฟาร์มเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็นส่งออกแบบสดและส่งออกแบบสุก โดยส่งออกแบบสดยังคงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งยอดส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ที่ 55,000 ตัน แต่สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ที่ 78,000 ตัน โตขึ้น 41% และปีที่ผ่านมามีไก่เข้าเชือด 73 ล้านตัว ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 94 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 28% และยังมีน้ำหนักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สำหรับยอดส่งออกรวมทั้งของสดและของสุก ปีที่ผ่านมาสหฟาร์มยังคงเป็นเบอร์ 2 ของตลาด แต่ปีนี้น้ำผึ้งกล่าวว่าการขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งนั้นอยู่ไม่ไกล

“น้ำผึ้งเชื่อว่ายอดขายที่เจริญเติบโตมากกว่ารายอื่น เพราะทุกคนรู้จักคุณพ่อเป็นอย่างดี พอคุณพ่อกลับมาบริหารมันเหมือนเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา เพราะเขามั่นใจ และทำให้ลูกค้าอยากสนับสนุน ดร.ปัญญาต่อไป รวมถึงลูกๆ คุณพ่อและทีมงานทุกคนล้วนมีส่วนที่ทำให้สหฟาร์มกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง และที่สำคัญคุณพ่อเป็นคนดีและทำเพื่อประเทศ อย่างอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนใหญ่สุดประมาณ 50% ของสินค้า พ่อจะใช้ข้าวโพดในประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีการนำเข้า”

ดันแบรนด์ไก่อารมณ์ดี “PAULDY” บุกตลาดพรีเมียม

นอกจากไก่ที่เลี้ยงในระบบปิดเพื่อการส่งออกแล้ว สหฟาร์มยังบุกตลาดพรีเมียมด้วยการออกผลิตภัณฑ์ไก่อารมณ์ดี ‘PAULDY” (พอลดีย์) เพิ่มอีกหนึ่งแบรนด์

โดยน้ำผึ้งเปิดเผยว่า ส่วนตัวอยากทำแบรนด์มาตั้งแต่สมัยที่เข้ามาในสหฟาร์มแรกๆ แต่ตอนนั้นยังเด็กอยู่ รู้ว่าอยากทำ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร พอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานได้ระยะหนึ่ง ได้ดูแลการทำฟาร์ม มีองค์ความรู้ที่มากพอ จึงเริ่มทำฟาร์มไก่อารมณ์ดีที่ใส่ใจในความรู้สึกของไก่ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดไข่และลูกเจี๊ยบที่สุขภาพสมบูรณ์ จัดพื้นที่ในการเลี้ยงที่ไม่แออัด มีพื้นที่ให้ไก่ได้เดินอย่างอิสระ มีขอนไม้ ข้าวโพด ให้ไก่ได้ใช้สัญชาตญาณอย่างเต็มที่ มีสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรให้ไก่จิกกินเสริมภูมิ รวมถึงยังเปิดเพลงคลาสสิกให้ไก่ฟังอีกด้วย ทำให้ไก่ไม่เครียด ส่งผลให้เนื้อไก่มีความเป็นกรดยูริกต่ำกว่ามาตรฐานประมาณ 20% ตอบโจทย์ลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ

“พ่อน้ำผึ้งเขาเป็นคนที่ชอบสมุนไพร เขาจะปลูกต้นฟ้าทะลายโจร เราก็เอาไปให้ไก่จิกกิน ฟาร์มที่ใช้เลี้ยงไก่อารมณ์ดีเป็นฟาร์มที่อยู่ในหุบเขา มีเขาเป็นกำแพง เวลาเข้าไปในฟาร์มต้องใส่ชุดเหมือนชุดพีอี เพราะป้องกันเอาโรคไปติดไก่ เพลงที่เปิดต้องเป็นเพลงคลาสสิกแต่ไม่ใช่คลาสสิกอะไรก็ได้นะคะ เดี๋ยวไก่เขาตกใจ ต้องเป็นคลาสสิกแบบ Canon in D Major ไก่เขาก็จะอารมณ์ดีนอนเหยียดขากันสบายเลย”

โดยแบรนด์ “PAULDY” เปิดตัวไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสร้างแบรนด์ด้วยการทำตลาดออนไลน์ที่เจาะตรงสู่กลุ่มผู้บริโภค ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา น้ำผึ้งยังถือโอกาสช่วงขึ้นปีใหม่ออกมาประกาศผลงานปิดดีลออเดอร์ส่งออกกว่า 6 พันตัน และยังเป็นแม่งานจัดงานฉลองครบรอบอายุ 92 ปีของ ดร.ปัญญา โดยเปิดบ้านสุขาวดีให้การต้อนรับแขก VIP กว่าพันคน ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณกลุ่มลูกค้าในรอบหลายปี และที่สำคัญยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ให้กับสหฟาร์มไปในตัว

ซึ่งน้ำผึ้งเปิดเผยว่า แม้จะอายุ 92 ปีแล้ว แต่ ดร.ปัญญา ยังคงแข็งแรงและติดตามการทำงานของลูกๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอจะโทรคุยกับผู้เป็นพ่อทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมง และใน 1 อาทิตย์ จะต้องไปบ้านสุขาวดีเพื่อรายงานการทำงานฉบับยาวให้ ดร.ปัญญา ฟัง

“น้ำผึ้งรายงานตั้งแต่ธุรกิจฟาร์ม โรงงาน การตลาด บัญชีการเงิน รวมถึงสารทุกข์สุกดิบของคนในองค์กรให้เขาฟัง ให้เขารู้ทุกเรื่องที่เรารู้  3-4 ชั่วโมง คุณพ่อก็นั่งฟังโดยไม่ขัด น้ำผึ้งให้ความสำคัญกับคุณพ่อมาเป็นอันดับหนึ่งเพราะท่านอายุมากแล้ว เราต้องใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด คุยกับเขาให้บ่อย นำแนวความคิด ปรัชญา และสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาให้ได้มากที่สุด เหมือนต้องโคลนนิ่งกันมาเลย คู่สนทนาของน้ำผึ้งคือคุณพ่อ ถ้าเราต้องการคุยกับเขาให้รู้เรื่อง แปลว่าเราต้องเก่งให้ได้เท่าเขา” น้ำผึ้งกล่าวทิ้งท้าย

แน่นอนว่าตลอดการเดินทางกว่า 54 ปี จากยุคบุกเบิก สู่ยุครุ่งเรือง จนถึงยุคที่ต้องเผชิญกับมรสุมทางธุรกิจ สหฟาร์มต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ วันนี้สหฟาร์มกำลังก้าวสู่อีกหนึ่งบทใหม่ที่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความท้าทายรอบใหม่รออยู่เช่นกัน.