วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ลุ้นยอดมอเตอร์เอ็กซ์โป อัดแรงส่งตลาดรถปีหน้า

ลุ้นยอดมอเตอร์เอ็กซ์โป อัดแรงส่งตลาดรถปีหน้า

ค่ายรถยนต์ต่างลุ้นยอดจองโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะแรงส่งจากงานใหญ่ มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 (Motor Expo 2022) ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม จะเข้าเป้าอย่างน้อย 37,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 5,000 คัน หรือเติบโต 15-20% เทียบปีก่อนหน้า เม็ดเงินสะพัดมากกว่า 50,000 ล้านบาทได้หรือไม่

ล่าสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่า ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับเข้ามาสู่ระดับปกติอีกครั้ง ภายหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ยอดขายหดตัวติดลบ 21.4% และติดลบ 4.0% ตามลำดับ โดยสัญญาณกระเตื้องชัดเจนในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียอดขายรถยนต์สะสม 698,305 แสนคัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.0%

ปัจจัยบวกหลักๆ มาจากการบริโภคภายในประเทศที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว การเปิดประเทศทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ซึ่ง ttb analytics คาดว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ยอดขายรถยนต์จะเร่งขึ้นจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปช่วงสิ้นปี และสามารถปิดตัวเลขทั้งปีที่ 8.6 แสนคัน หรือปรับเพิ่มขึ้น 13.3% แต่ยังห่วงปัจจัยเดิมๆ คือ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นและหนี้ภาคครัวเรือนสูง

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่ 9.3 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.1% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดหมายเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัว 3.7% จากปีนี้ 3.2% ตามด้วยภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทย 18.5 ล้านคน จากปี 2565 ที่เข้ามา 9.5 ล้านคน บวกกับคนไทยมีแนวโน้มเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกันภาคเกษตรเติบโตต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรจะทรงตัวในระดับสูงและผลผลิตการเกษตรจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร

ที่สำคัญ เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ที่มีความประหยัด ท่ามกลางแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น การลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อ เพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลง ทำให้กระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนั้น การออกกฎหมายควบคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ได้แก่ รถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อกระบวนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น

ด้านผู้ประกอบการในวงการรถยนต์ ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2565 น่าจะขยายตัวได้ 3-5% ส่วนในปี 2566 และปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะความต้องการใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่จะกลับมาเติบโตได้ดีและบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ เร่งประชันรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 (Motor Expo 2022) กล่าวว่า ปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “ได้เวลา…สัมผัสอนาคต-It’s TIME…Come Touch the FUTURE” มีรถยนต์ร่วมแสดง 35 แบรนด์ จาก 10 ประเทศ รถจักรยานยนต์ 17 แบรนด์ จาก 8 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 20%

ไฮไลต์ในงาน ได้แก่ รถต้นแบบ Honda SUV e:Prototype รถพลังงานไฟฟ้า 100% รูปทรงคล้ายกับ Honda HR-V ไฮบริด และ MINI Strip คันเดียวในโลก ผลงานออกแบบร่วมกันของ MINI และ Paul Smith ดีไซเนอร์แถวหน้าของอังกฤษ ภายใต้แนวคิด “ความเรียบง่าย ความโปร่งใส ความยั่งยืน” รวมทั้งรถที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ Honda Civic Type R และ Lexus RX โดยแบรนด์ บีวายดี (BYD) จองพื้นที่บูธขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่รวม 1,849 ตารางเมตร

นอกจากนั้น ยังมีรถรุ่นใหม่ เช่น Audi Q5 Sportback 55 TFSI e, Bentley Hybrid, BMW 3 Series, Ford Ranger, Haval H6 Plug-in Hybrid, Hyundai Stargazer, Isuzu V-Cross 4×4 Magic Eyes, Jeep Gladiator Rubicon, Kia Carnival, Lamborghini Urus Performante, Maserati Grecale, Mazda Carbon Edition, Mitsubishi Pajero Sport, Moke, Nissan Kicks e-POWER, Peugeot 2008 SUV, Porsche Panamera Platinum Edition, Subaru Forester, Suzuki Ertiga Hybrid

ส่วนรถไฟฟ้า 100% ซึ่งเป็นยานยนต์ที่กำลังมาแรง มีทั้ง BYD Atto 3, Mercedes-EQS 500 4Matic AMG Premium, MG4, MINE EV Mini Truck MT30, MINI Cooper SE, NETA V, ORA Grand Cat, Pocco, Toyota BZ4X, Volt City EV, Volvo C40 Recharge Pure Electric

ทั้งนี้ ข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่า ตลาดรถยนต์ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออกเติบโตดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากตัวเลขเดือนตุลาคม 2565 มียอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก 97,832 คัน มีสัดส่วน 57.31% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.75% รวม 10 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 844,206 คัน เพิ่มขึ้น 7.02% ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 72,885 คัน มีสัดส่วน 42.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.31% รวม 10 เดือนผลิตได้ 690,548 คัน เพิ่มขึ้น 19.65%

ขณะที่ยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ประเภทไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ช่วงเดือนตุลาคม 2565 มีทั้งสิ้น 1,960 คัน เพิ่มขึ้นแบบถล่มทลายจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 288.89% รวมยอดสะสม 26,527 คัน เพิ่มขึ้น 162.25% ประเภทไฟฟ้าไฮบริด (HEV) มี 5,036 คัน เพิ่มขึ้น 121.65% รวมยอดสะสม 250,743 คัน เพิ่มขึ้น 30.86% และประเภทไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) มี 899 คัน เพิ่มขึ้น 84.98% รวมยอดสะสม 40,790 คัน เพิ่มขึ้น 35.38%

ดังนั้น ส.อ.ท. มั่นใจว่า ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะทำได้ 1.75 ล้านคันแน่นอน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 9 แสนคัน เป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8.5 แสนคัน ซึ่งหากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นปี มีโอกาสสูงที่จะผลักดันยอดผลิตรถยนต์ทั้งปีแตะ 1.8 ล้านคันตามเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีหรืออาจมากกว่านั้น

ทั้งหมดต้องติดตามลุ้นกันอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับช่วงที่เหลือของปีนี้จะทำได้แค่ไหน เพราะหลายฝ่ายยังมีความกังวลเรื่องปัญหาการขาดแคลนชิป หลังจากจีนเริ่มประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งและสถานการณ์โควิดจะกลับมาเขย่าขวัญจนทุกอย่างสะดุดอีกหรือไม่.