วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > WB ORGANIC Farm รุกแผนบุกสมรภูมิเฮลท์ตี้ฟู้ด

WB ORGANIC Farm รุกแผนบุกสมรภูมิเฮลท์ตี้ฟู้ด

กว่า 8 ปี หลังบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่สู้วิกฤตเศรษฐกิจ บุกเบิกธุรกิจเกษตรอินทรีย์ “WB ORGANIC Farm” ภายใต้ Vision “World Best ORGANIC Farm” ในตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง เมืองนครราชสีมา จนล่าสุดขยายผลผลิต เปิดคาเฟ่ จุดเช็กอิน นำเสนอเมนูอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ พร้อมๆ กับการลุยช่องทางจัดจำหน่าย ไม่ใช่แค่หน้าร้าน แต่เจาะโมเดิร์นเทรด ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

เหตุผลสำคัญ คือ บริษัทยังมีโจทย์การเข้าถึงผู้บริโภค เพราะแบรนด์ WB ORGANIC Farn ยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดอย่างกว้างขวาง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะ 3 รายใหญ่ อย่าง “โอ้กะจู๋” ที่มีแบ็กอัปอย่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ “สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory)” ในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี และร้านโจนส์สลัด (Jones Salad) ของคู่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง

จริงๆ แล้ว WB ORGANIC Farm อยู่ในเครือสหพัฒน์ บิ๊กเบิ้มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด  ซึ่งชื่อรองเท้า “แพน” ถือเป็นแบรนด์เก่าแก่อายุมากกว่า 40 ปี  โดยเริ่มจากหน่วยงานหนึ่งในบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) ก่อนแยกออกมาตั้งบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด และขยายกิจการเปิดบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี เมื่อปี 2522

เวลานั้น แพนเอเซียไม่ใช่แค่ผลิตและจำหน่ายรองเท้านักเรียนและรองเท้ากีฬา “แพน” แต่รับจ้างผลิตและจำหน่ายรองเท้าไนกี้เพื่อส่งออกให้บริษัท NIKE IHM INC. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายแรกในประเทศไทย

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก WBOrganicFarm

ปี 2537 บริษัทยื่นขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เปลี่ยนเงินทุนก้อนแรก 10 ล้านบาท พุ่งกระโดดเป็น 2,700 ล้านบาท  รองรับคำสั่งการผลิตรองเท้าหลากหลายแบรนด์ มีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์กระเป๋าแบรนด์ JANSPORT, KIPLING, EASTPAK

ทว่าช่วงปี 2552-2555 อุตสาหกรรมรองเท้าเจอมรสุมธุรกิจลูกใหญ่ เมื่อคู่แข่งรองเท้าและเครื่องหนังของจีนกับเวียดนามอาศัยจุดแข็งด้านต้นทุน ทั้งวัตถุดิบและค่าแรง เข้ามาดัมป์ตลาด ใช้ราคาช่วงชิงลูกค้า  ประกอบกับประเทศไทยประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน  ถล่มซ้ำด้วยพิษต่างประเทศ เมื่อไนกี้ลูกค้ารายใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนและเวียดนาม รายได้หดหายและขาดทุนสะสมถึง 1,000 ล้านบาท

ปี 2554 บริษัทแม่ “สหพัฒน์” สั่งยกเครื่องบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ให้บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เลิกพึ่งพิงการรับจ้างผลิตแบรนด์ต่างชาติ หันมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง คือ เอคโค่ เดย์เบรก เพิ่มไลน์สินค้ากลุ่มแฟชั่น และเปิดช็อป SHOES OUTLET ปลุกปั้นแบรนด์ในฐานะสินค้าไทยคุณภาพสูง พร้อมๆ กับตัดลดขนาดธุรกิจและกำหนดแนวทางการดำเนินงาน รูปแบบโฮลดิ้งคอมปะนี มีธุรกิจ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจผลิตรองเท้า-เครื่องหนังกับกลุ่มธุรกิจลงทุนในหุ้นบริษัทต่างๆ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก WBOrganicFarm

ต่อมา เครือสหพัฒน์วางโรดแมปรุกธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยวางเป้าหมายเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ผักออร์แกนิกเป็นหัวขบวนแรก

ปี 2558-2559 แพนเอเซียฟุตแวร์ จึงเริ่มโครงการธุรกิจเกษตร (Agriculture Business) ด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็น Smart Product ภายใต้แบรนด์ WB ORGANIC Farm ใน อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา เนื้อที่กว่า 300 ไร่ จนผ่านการรับรองมาตรฐานแปลงปลูกพืชอินทรีย์ Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร คือ เป็นพื้นที่ว่างเว้นจากการใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี ไม่มีการเผาป่าหรือหน้าดินที่ทำลายระบบนิเวศในธรรมชาติ  ใช้เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ หรือเมล็ดพันธุ์ทั่วไปที่ไม่เคลือบสารเคมี ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ในแปลงปลูก และปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ฟาง มูลสัตว์ ต้องมีที่มาที่ไปชัดเจน ตรวจสอบได้

ช่วงแรกๆ ปลูกผัก 40 กว่าชนิด และจัดแพ็กเกจ 2 รูปแบบ คือ แพ็กเกจขนาดเล็ก ส่งจำหน่ายให้ผู้บริโภคผ่านช่องทางดีลิเวอรีและโมเดิร์นเทรด ส่วนแพ็กเกจขนาดใหญ่ เน้นกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม โดยพุ่งเป้าสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จักและเห็นความสำคัญของการเลือกบริโภคผักออร์แกนิก เช่น การเดินสายจัดบูธจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ต่างๆ เพราะผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นจุดแตกต่างของผักออร์แกนิกที่มีราคาแพงกว่าผักทั่วไป รวมถึงผักปลอดสารพิษ และผักไฮโดรโพนิกส์  ซึ่งในกระบวนการผลิตยังใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน รวมถึงสารสังเคราะห์ เพียงแต่ต้องเก็บผลผลิตในระยะปลอดภัยแล้ว ต่างจากพืชอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิกไม่ใช้สารใดๆ ทั้งสิ้น

ตามรายงานประจำปี 2565 ของบริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของ WB ORGANIC Farm เน้นตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพแต่ไม่มีเวลาเลือกซื้อสินค้า เช่น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ Facebook Line Instagram และบริการจัดส่งผลผลิตสดจากฟาร์มถึงบ้านหรือที่ทำงานให้ลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิก เพื่อเพิ่มโอกาสการกระจายสินค้า

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก WBOrganicFarm

ขณะเดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเยี่ยมชมฟาร์มและศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ทุกขั้นตอน ทั้งการปลูกแบบกลางแจ้งและในโรงเรือน

ล่าสุด WB ORGANIC Farm มีผลผลิตรวม 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผักสลัด เช่น เบบี้คอส เรดโครอล เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก คอสเขียว บัตเตอร์เฮด ฟิลเลย์ สลัดแก้ว วอเตอร์เครส ไวด์ ร็อกเกต ร็อกเกตสลัด มิซูนา

กลุ่มผักใบ เช่น ผักบุ้งจีน ผักกาดหอมเขียว กวางตุ้งฮ่องเต้ กวางตุ้งต้น คะน้าต้น คะน้ายอด คะน้าฮ่องกง เคล โขมเขียว โขมแดง เบบี้ผักฉ่อย สวิสชาร์ต จิงจูฉ่าย ผักกาดขาวปลี ปวยเล้ง

กลุ่มผักสมุนไพร เช่น กะเพรา ขึ้นฉ่าย ตะไคร้ ผักชีไทย พริกขี้หนูสวน พริกจินดา มินต์ โรสแมรี่ ต้นหอม

กลุ่มผักผล เช่น มะเขือยาว กระเจี๊ยบ ข้าวโพดหวาน บวบเหลี่ยม ฟักทอง มะเขือเทศเชอรี่ มะเขือเทศเนื้อ

กลุ่มผักหัว เช่น เบบี้แคร์รอต แคร์รอต ไชเท้า กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี แรดิช บีทรูต บลอกโคลี

สำหรับลูกค้าเป้าหมายมี 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มโมเดิร์นเทรด หรือกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ตามห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในจังหวัดใหญ่ๆ กลุ่มลูกค้าส่งออกสินค้าเกษตร กลุ่มลูกค้ารักสุขภาพและกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยการแข่งขันในตลาดยังมีสูง แต่ปริมาณความต้องการ(Demand) ยังมากกว่า Supply เพราะพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์และช่องทางการจัดจำหน่ายยังมีจำกัด  ผู้ซื้อเข้าถึงผลผลิตได้ยากและมีตัวเลือกน้อย เนื่องจากพืชที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ทนต่อโรคระบาด และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,403,441 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 4% แต่มูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ 9,169.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 27% โดยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์แตะ 2 ล้านไร่ภายในปี 2570 เพื่อรองรับทิศทางสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก

ที่สำคัญ ร้านสลัดและเฮลตี้ฟู้ดเชนขยายตัวทุกปี ล่าสุดมีมากกว่า 20 แบรนด์ จำนวนสาขาทุกแบรนด์รวมกันมากกว่า 100 สาขา จากอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนมีไม่เกิน 5 แบรนด์ โดยตลาดรวมร้านอาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Salad) ปีที่ผ่านมาเติบโตมากกว่า 50% หรือมีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะเติบโตมากกว่า  60% ตลาดมีมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านบาท และแนวโน้มเติบโตไม่หยุดด้วย

ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ของ WB ORGANIC Farm กับเกมสร้างการรับรู้แบรนด์ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งให้ได้มากที่สุด.