ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเฉลี่ยเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 12.7 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super-aged society ซึ่งจะมีผู้สูงวัยสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ
ข้อมูลจากกรมผู้สูงอายุชี้ว่า จำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งประกอบไปด้วยช่วงอายุ 60-69 ปี กว่า 7 ล้านคน เมื่อพิจารณาถึงรายได้จากแหล่งที่มาของผู้สูงวัยทั้งหมด พบว่า 1 ใน 3 จะมาจากการทำงาน และอีก 1 ใน 3 มีรายได้มาจากบุตร และประมาณ 1 ใน 4 ของผู้สูงวัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบุตรในครัวเรือนนั้น ได้รับเพียง 1,000-4,999 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่า Poverty line ของธนาคารโลกที่ระบุไว้ประมาณ 27,000 บาทต่อปี
สำหรับผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่มีความนิยมทำเกษตรและประมง 60.5% และพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า 18.2% มากที่สุด และหากจำแนกตามสถานภาพการทำงานพบว่า 65% ของผู้สูงวัยที่ยังทำงาน ทำธุรกิจส่วนตัว 19% ช่วยธุรกิจในครัวเรือน 13% เป็นลูกจ้าง และ 3% เป็นนายจ้าง
ภาพรวมสถานการณ์ผู้ป่วยสูงอายุในประเทศไทย ผศ. พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ ความชำนาญพิเศษ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “ผู้สูงวัยที่เข้าสู่อายุ 60 จะหยุดทุกอย่างทั้งการทำงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ หากผู้สูงวัยอยู่ในภาวะที่ไม่แข็งแรง คุณค่าเชิงเศรษฐกิจผู้สูงวัยอาจไม่สามารถทำได้เต็มที่
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญของภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจึงศึกษาวิจัยและหาแนวทางวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือผู้ป่วยสูงอายุอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี โดยการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional care) หลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ให้มีความพร้อมเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม เป็นเรื่องที่ศิริราชให้ความสำคัญอย่างยิ่ง”
เป้าหมายของ รพ. ศิริราชคือ “สังคมสูงวัยคุณภาพ” ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดี แต่การจะไปสู่เป้าหมายนั้นจำเป็นที่จะต้องอุดรูรั่ว หรือแก้ปมปัญหาห่วงโซ่ที่หายไปเสียก่อน นั่นคือเรื่องการฟื้นฟูร่างกายของผู้สูงวัยหลังเข้ารับการรักษาก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตต่อที่บ้าน หรือ Intermediate care
Intermediate care หรือ ระบบการดูแลระยะกลาง หรือการดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นฟู คือการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการผ่านพ้นวิกฤตและมีอาการคงที่แล้ว แต่ยังมีความบกพร่องทางร่างกายบางส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายโดยบุคลากรทางสุขภาพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หรือพยาบาล ในช่วงเวลาสำคัญช่วงแรกหลังออกจากโรงพยาบาล (เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนแต่ไม่เกิน 6 เดือน) เพื่อลดความพิการหรือภาวะทุพพลภาพตลอดชีวิต หรือการถูกผลักให้เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงลง
ผศ. พญ.ฐิติมาขยายความเพิ่มเติมว่า “การเติมเต็มช่องว่างนี้ในประเทศอื่นๆ เขามีมาก่อน เพื่อสามารถเชื่อมต่อหลังการรักษา สิ่งที่ศิริราชต้องการทำคือ 1. เตรียมความพร้อมไม่ให้ผู้สูงวัยเหล่านี้กลับมาป่วย หรือกลับมานอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น 2. ทำให้คนไข้ฟื้นตัวกลับมาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เท่าที่ตัวคนไข้จะสามารถทำได้
เพราะการนอนโรงพยาบาลมีหลายอย่างที่ต้องสูญเสียนอกจากค่าใช้จ่าย นั่นคือ เวลา ของทั้งตัวคนไข้ ญาติหรือผู้ดูแล ที่ต้องหยุดงานหรือกิจกรรมเพื่อมาดูแลผู้สูงวัยในเวลาเจ็บป่วย ที่สำคัญคือลดอัตราการเสียชีวิตลงได้”
การดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional care คือการดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ ด้วยการดูแลและฟื้นฟูอย่างเป็นองค์รวมสำหรับแต่ละรายโดยเฉพาะ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลต่อเนื่องอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแลเมื่อออกจากสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำ ลดภาวะพึ่งพิง ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นระยะที่เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ป่วยสูงวัย รวมถึงผู้ดูแลก่อนกลับสู่บ้านและสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช
“เบื้องต้น ผู้ป่วยสูงวัยที่จะสามารถเข้ารับการดูแลแบบ Transitional care จะมีเกณฑ์การพิจารณา เช่น เป็นผู้ป่วยเปราะบาง ครอบครัวมีความพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยสูงวัยต่อได้ที่บ้าน และเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยสูงวัยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพผ่านบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านภายใต้ชื่อ Multidisciplinary team หรือทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบแบบแผนที่ถูกต้อง ครอบคลุมการดูแลเป็นรายบุคคลที่มีภาวะอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบไปด้วยอายุรแพทย์ด้านผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักอรรถบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์” ผศ. พญ.ฐิติมา กล่าว
นอกจากการดูแลผู้ป่วยในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านขณะที่ยังพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว ทีมสหสาขาวิชาชีพยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ดูแลและญาติ ครอบครัวผู้ป่วย ทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ดูแลเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติต่อผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพที่สุดเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม
“เรามีทีมที่จะ Coaching ผู้ดูแล และฝึกผู้ป่วยสูงวัย เช่น การเรียนรู้จดจำเรื่องยา ต้องรับประทานกี่เม็ด กี่มื้อ แนะนำวิธีการฝึกเดิน การใช้ชีวิต การพูด นันทนาการ ซึ่งทั้งหมดเราดำเนินการภายใต้ 4 เสาหลัก คือ 1. ร่างกาย 2. จิตใจ 3. ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง 4. สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐฐานะ
ทั้งนี้ นอกจากการฝึกและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ดูแลแล้ว ยังมีการดูแลแบบ Long Term คือ ทีม Multidisciplinary จะต้องไปสำรวจยังที่พักอาศัยของผู้ป่วย ว่าอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมสำหรับผู้ป่วยสูงวัยหรือไม่ เช่น ทางลาดชันสำหรับรถเข็น ราวจับ ราวกั้นต่างๆ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยสูงวัย
โมเดลการดูแลผู้ป่วยสูงวัยแบบ Transitional care ที่ศิริราชกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันใช้พื้นที่บนชั้น 5 ของตึกสลากในการดูแลผู้ป่วยสูงวัย ขณะที่ในอนาคตคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วางแผนที่จะพัฒนาไปสู่โครงการ “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ศิริราชวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เติมเต็มการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย สู่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช แตกต่างจากเนิร์สซิ่งโฮม หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ แต่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นสถานที่สำหรับการเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยในช่วงการพักฟื้น ก่อนกลับบ้าน และยังเป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ ทั้งการฝึกอบรม วิจัย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การกระจายองค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ฯ แห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บนพื้นที่กว่า 24 ไร่ รองรับผู้ป่วยในจากโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลใกล้เคียงในพื้นที่ ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในระยะที่ 1 คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปลายปี 2566
“อย่างไรก็ดี เพื่อให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม ต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความสุขนี้ได้ด้วยการสมทบทุนบริจาคสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” เพื่อเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการวางรากฐานระบบสาธารณสุข และเติมเต็มระบบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน” ผศ. พญ.ฐิติมา ทิ้งท้าย.