เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดูโฮม เพิ่งแถลงข่าวฉลองครบรอบ 40 ปี บนเส้นทางของธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ดูโฮม มีจุดเริ่มต้นจากห้องแถวค้าปลีกวัสดุก่อสร้างในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หากเปรียบอายุของ ดูโฮม ในเวลานี้คงเหมือนคนหนุ่มสาววัยทำงานที่กำลังมีไฟ และมองเห็นเส้นทางการเติบโตของตัวเอง การผ่านร้อนผ่านหนาวบนสมรภูมิรบของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะเป็นอันดับต้นๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน แต่การสยายปีกมาสู่เมืองหลวงต้องใช้มากกว่าแค่ความกล้า เมื่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเจ้าตลาดในธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างอยู่ก่อนแล้ว
“ผู้จัดการ 360” มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมผู้บริหารซึ่งเป็นเจเนอเรชันรุ่น 2 ที่ถ่ายทอดมุมมองนักบริหารรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำการค้ามาหลายต่อหลายรุ่น
ฐานรากของ ดูโฮม คือ อุบลค้าวัสดุ
ห้องแถว 2 ห้อง พนักงานเพียง 5-6 คน ถูกปลุกปั้นด้วยมือของ อดิศักดิ์ และนาตยา ตั้งมิตรประชา ผู้บุกเบิกดูโฮม ความขยัน ซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ทายาททั้งสามของตระกูลตั้งมิตรประชาเข้าใจอย่างถ่องแท้
“ดูโฮม ก่อตั้งเมื่อปี 2526 จนถึงวันนี้ครบ 40 ปีพอดี ก่อตั้งโดย คุณพ่อ คุณแม่ คือ คุณอดิศักดิ์ และคุณนาตยา ตั้งมิตรประชา เริ่มต้นธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างที่จังหวัดอุบลราชธานี จากร้านค้าเล็กๆ 2 ห้องแถว มีพนักงานเพียงแค่ 5-6 คน ธุรกิจเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะความซื่อสัตย์ และขยันหมั่นเพียร
คุณแม่ทำการค้าด้วยความเป็นมืออาชีพค่อนข้างสูง ธุรกิจจึงเติบโตภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี บวกกับความหลักแหลมในการทำธุรกิจ มองเห็นโอกาส ทุกๆ 3-4 ปี มีการขยายธุรกิจอยู่ตลอด ในเวลาไม่ถึง 5 ปี จากสองห้องแถว มาสู่ 4 ห้องแถว และ 10 ห้องแถว” อริยา ตั้งมิตรประชา หรือ ฮั้ว กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการและจัดซื้อ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ทายาทคนโตของตระกูลตั้งมิตรประชา บอกเล่าเรื่องราว
ธุรกิจของดูโฮม เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากการขยายพื้นที่ของสาขาจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว การเป็นธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างในลักษณะกึ่งโมเดิร์นเทรด สร้างแรงกระตุ้นให้แก่เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่น้อย จากพื้นที่ 37 ไร่ สู่ 70 ไร่ ทำให้ครอบครัวตั้งมิตรประชาเริ่มมองไปไกลกว่าการเติบโตแค่ในพื้นที่ของตัวเอง
กระทั่งดูโฮมตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจ และสร้างรากฐานที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น “การตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการพูดคุยกันในครอบครัว เพราะธุรกิจเรามีอัตราการเติบโตที่สูง ทั้งรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ และรุ่นเราที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ เราคิดว่าธุรกิจเรามั่นคงและแข็งแรง เรามีจุดแข็งที่ค่อนข้างเด่นชัด มีโชว์รูมสินค้าที่มีครบครัน เราจึงมองว่า เราน่าจะขยายสาขา ขยายตลาดไปยังจังหวัดอื่นๆ บ้าง เรามีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ เราต้องการให้ธุรกิจเราเติบโต เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต จึงอยากขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าในราคาถูก ครบทุกบริการ ซึ่งจะต่อยอดกับแนวคิดที่มีต่อสังคม ซึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง” อริยาอธิบาย
การค้าขาย มันอยู่ในดีเอ็นเอ
ทายาทธุรกิจบางคนอาจมีความฝัน และกำหนดเส้นทางของตัวเอง บางคนอาจถูกครอบครัวกำหนดเส้นทางไว้ให้ แต่ทายาททั้งสามของตระกูลตั้งมิตรประชา มีมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย
“เราเติบโตมาในครอบครัวที่ทำการค้ามา รุ่นพ่อแม่ อาม่า มันอยู่ในดีเอ็นเอ ทำให้เรามีความรักในธุรกิจครอบครัว เรามี Passion สูงมากๆ ที่จะทำธุรกิจของตระกูล อย่างดูโฮม คือความฝันเดียวในวัยเด็ก ว่าเราจะทำอย่างไรให้ดูโฮมเป็นธุรกิจระดับประเทศและยั่งยืนกว่านี้ เราอาจจะโชคดีที่โตมาแล้วมีแรงปรารถนานี้ ที่เหมือนส่งผ่านมาทางดีเอ็นเอ จึงทำให้เรารักและมีแรงขับเคลื่อนในการทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างตั้งแต่เด็กๆ
เราเห็นคุณพ่อคุณแม่ขยัน เกิดมาก็เห็นแบบนี้มันจึงหล่อหลอมตัวเรา ให้เราต้องการอยู่จุดนี้ วางโรดแมปในชีวิตจะต่อยอดตรงไหนจากความฝันที่มี” อริยาเปิดความคิด
ขณะที่ สลิลทิพ เรืองสุทธิภาพ หรือ อี่ กรรมการบริหาร และ รองกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชี การเงิน และสนับสนุนองค์กร พี่คนรอง บอกเล่าแนวคิดที่ไม่ต่างกันมากนักว่า “เหมือนกันค่ะ จริงๆ ความคิดคล้ายๆ กันค่ะ เราเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว การค้าขาย ทีมงาน การฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ก็จะรู้อยู่แล้วว่าต้องกลับมาทำ แล้วช่วงที่กลับมาบริษัทกำลังขยายสาขาไปที่โคราช ตัวอี่เองรู้สึกสงสารคุณพ่อ คุณแม่ ภาระท่านเยอะ เพราะฉะนั้นตอนที่กลับมาก็ไม่ได้ไขว้เขว ไม่ลังเล ว่าทำไมเราต้องกลับ และตอนเข้ามาทำงานทีมงานก็ซัปพอร์ตเราอย่างดี เข้ากับทีมงานได้ดีมาก ไม่ว่าจะคนเก่าแก่ คนใหม่”
“ก็คล้ายกัน แต่ของผมตอนอายุ 11-12 ขวบ ก็เริ่มทำงานช่วยที่บ้าน ตอนนั้นทำแคชเชียร์ ช่วยตรวจสอบบาร์โค้ด ไปทำงานที่คลังเหล็กช่วยพี่ๆ ทีมงานที่นั่น คอยตรวจสอบเหล็กว่าจ่ายถูกต้องไหม ซึ่งก็ทำให้เราซึมซับการทำงานของครอบครัวมาตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากเรียนจบก็ได้มาลองธุรกิจใหม่ของบริษัทคือ ด้านออนไลน์ ได้ลองทำด้วยตัวเอง แต่ก็จะมีพี่ๆ ทีมงานคอยซัปพอร์ตเหมือนกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเต็มที่ ทำให้เราสนุกกับงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมในธุรกิจของเราจากที่เคยขายเฉพาะออฟไลน์ แต่เราเข้ามาเพิ่มช่องทางออนไลน์ และมีช่องทางใหม่ๆ เสริมเข้ามาให้กับบริษัทของเราด้วย” มารวย ตั้งมิตรประชา กรรมการบริหาร และ รองกรรมการผู้จัดการสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตลาดออนไลน์ เล่ามุมมองของตัวเอง
“น่าจะเป็นเพราะดีเอ็นเอค่ะ เพราะครอบครัวของเราทำการค้ากันหมดเลย เราอาจจะอยากเป็นศิลปินก็ได้ แต่ไม่มีความสามารถ” อริยากล่าว
ผลสำเร็จจากการทำงานอย่างหนักของทั้งอดิศักดิ์และนาตยา ตั้งมิตรประชา ไม่ใช่แค่การสร้างดูโฮมให้สามารถก้าวขึ้นเวทีการแข่งขันผู้ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่มีเจ้าตลาดอย่าง ไทวัสดุ และโฮมโปร ได้ แต่แนวคิดของเจเนอเรชันรุ่นที่ 2 คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่ถ่ายทอดมาได้มากกว่าดีเอ็นเอ แต่ทายาททั้งสามยังซึมซับและพร้อมจะเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัว
เมื่อธุรกิจของครอบครัวคือความฝันอันดับต้นๆ ของเจเนอเรชันรุ่นที่ 2 การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ามาร่วมบริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทว่า สามพี่น้องเลือกคณะที่เรียนโดยพิจารณาจากบุคลิกของตัวเองเป็นหลัก อริยาเล่าว่า “เราไม่ได้คุยกันในรายละเอียดว่าใครจะเรียนอะไร แต่ด้วยคาแรกเตอร์ของแต่ละคนมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เราควรเลือกเรียนอะไร อย่างตัวฮั้วเอง ค่อนข้างมีสังคม ชอบพูดคุย เจรจา ก็เลือกเรียน Marketing ส่วนคุณอี่ บุคลิกเขาเฉียบคม หัวไว ชอบตัวเลข ก็เลือกด้านเศรษฐศาสตร์ ส่วนคุณเฮง ชอบตัวเลข คำนวณ แก้ปัญหา ก็เลือกเอนจิเนียร์ แต่ถ้าถามว่า เรามองไหมว่าเรียนจบแล้วจะต้องมาดูแลแผนกนี้ แผนกนั้น คำตอบคือไม่ ทุกคนเลือกในสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเรียนด้านอะไรมา เราจะนำความรู้มาพลิกแพลงให้เหมาะสมกับการทำงานของเรา”
ถึงเวลาเรียนรู้จากประสบการณ์
วัฒนธรรมองค์กรของหลายธุรกิจ มักจะไม่อนุญาตให้ลูกหลานในตระกูลเริ่มต้นทำงานกับธุรกิจของครอบครัวเป็นที่แรก และปล่อยให้ออกไปหาประสบการณ์เองก่อนจะเปิดโอกาสให้กลับเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจของครอบครัว ทว่า ธุรกิจดูโฮมดูจะต่างไปเล็กน้อย เมื่อลูกทั้งสามของอดิศักดิ์และนาตยากลับเข้ามาเริ่มทำงานในธุรกิจครอบครัวทันทีที่เรียนจบ
“ฮั้วกับอี่ก็คุยกันว่า เรียนจบแล้วจะยังไงดี ก็คุยกันว่ากลับมาช่วยครอบครัวดีกว่า ทีแรกคิดว่าเมื่อมาทำงานบริษัทเริ่มนิ่งขึ้น จะไปหาประสบการณ์ แต่เมื่อเราทำไปเรื่อยๆ ธุรกิจเติบโตขึ้นตลอด ทำให้เราต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากความรักในสิ่งที่เรามี เราก็ขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวต่อไป ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมาก เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เข้าใจดูโฮมถึงแก่นแท้ เราไม่ได้มองว่านี่เป็นสิ่งที่เราเสียโอกาสนะคะ แต่มองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีเช่นกัน”
นอกจากดีเอ็นเอการค้าที่ทั้งสามได้รับมาจากครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ดูจะยึดมั่นและต่อยอดใช้ในธุรกิจคือ วิสัยทัศน์ ที่เป็นเสมือนกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจดูโฮม คือ ครบ ถูก ดี และการบริหารแบบเหรียญสองด้าน
อริยายังขยายความถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นการบริหารงานรูปแบบครอบครัวว่า “แม้ว่าเราจะบริหารแบบครอบครัว แต่สิ่งที่เราเติมเต็มจากการเข้าตลาด และหลังจากเราสามคนเข้ามาร่วมบริหารคือ การสร้างความเป็นมืออาชีพ ซึ่งทุกคนในครอบครัวเห็นตรงกัน ว่าสิ่งนี้สามารถต่อยอดธุรกิจได้
ซึ่งความเป็นมืออาชีพนี้ การที่เราจะดูแลทั้งหมดสามกลุ่ม หนึ่งคือ ทีมงาน คนภายในองค์กร คือเราบริหารแบบครอบครัว ดังนั้น ทีมงานเราจะถูกสร้างความเข้าใจว่า เขาคือเจ้าของร่วม คือต้องมีความทุ่มเท ขยัน รักในองค์กร พี่น้อง สองคือ การบริหารคู่ค้า เรามองว่าเขาก็คือส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา ดังนั้น เราต้องคิดว่าจะบริหารอย่างไรให้คู่ค้าของเราสามารถต่อยอดและเติบโตไปพร้อมกับเราแบบยั่งยืน
และส่วนที่สำคัญที่สุด แต่ไม่ใช่ท้ายสุดคือ ลูกค้า เรามีวัฒนธรรมในการบริการลูกค้าด้วยความจริงใจ เป็นเหตุเป็นผล ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้สิ่งที่เรียกว่า ครบ ถูก ดี ให้แก่ลูกค้า นี่คือสิ่งที่ต่อยอดและเป็นวัฒนธรรมองค์กร”
มุมมองแนวคิดของทายาทดูโฮมชี้ให้เห็นว่า ดีเอ็นเอการค้า สามารถส่งต่อได้ ทว่า ก้าวย่างนับจากนี้ของดูโฮม ในการจะก้าวขึ้นมายืนในอันดับสามของผู้ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างได้หรือไม่นั้น น่าจับตาดูไม่น้อย.