วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Life > คริสติออง ลาครัวซ์กับพิพิธภัณฑ์กอนญัก-เจย์

คริสติออง ลาครัวซ์กับพิพิธภัณฑ์กอนญัก-เจย์

 

Column: From Paris

 

แม้ในวันนี้จะไม่มีห้างสรรพสินค้าลา ซามาริแตน (La Samaritaine) แล้วก็ตาม แต่ชาวปารีเซียงก็ยังพันผูกกับชื่อนี้ พร้อมกับหวังว่าสักวันหนึ่งห้างนี้จะคืนกลับ ทว่าจนทุกวันนี้โครงการของกลู่ม LVMH ในการปรับปรุงอาคารหลายหลังของห้างดังในอดีตแห่งนี้ยังไม่อาจสรุปลงตัวได้

 

ผู้ให้กำเนิดลา ซามาริแตนหรือเรียกกันสั้นๆ ว่าซามาริแตน คือ แอร์เนสต์ กอนญัค (Ernest Cognacq) ซึ่งเป็นพ่อค้าหาบเร่ที่ลา โรแชล (La Rochelle) และมาแสวงโชคที่ปารีส เริ่มจากการทำงานตามห้าง แล้วตั้งแผงขายของ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงออกไปทำงานต่างจังหวัดก่อนที่จะกลับมาปารีส คราวนี้ตั้งแผงตรงปั๊มน้ำชื่อลา ซามาริแตนแถวปงต์ เนิฟ (Pont Neuf) ต่อมาเช่าร้านกาแฟเพื่อขายของตรงมุมถนน rue du Pont-Neuf และ rue de la Monnaie ได้ลูกค้าจากย่านเลส์ อาลส์ (Les Halles) และจากห้าง A la Belle Jardinière ที่อยู่ใกล้เคียง กิจการดีขึ้นเป็นลำดับ แอร์เนสต์ กอนญัคแต่งงานกับมารีหลุยส์ เจย์ (Marie-Louise Jay) ซึ่งเป็นพนักงานขายของของห้าง Au Bon Marché ทั้งสองร่วมกันเปิดร้านชื่อ La Samaritaine ด้วยนโยบายราคาตายตัวและสามารถลองได้ถ้าเป็นเสื้อผ้า

 

แอร์เนสต์ กอนญัคได้สร้างอาคารเพิ่มเติมสไตล์อารต์นูโว (art nouveau) และสร้างอาคารอีกหนึ่งหลังสไตล์อารต์เดโก (art déco)

 

แอร์เนสต์ กอนญัคและมารีหลุยส์ เจย์ (Martie-Louise Jay) เป็นแบบอย่างนักธุรกิจที่มีคุณธรรม เขาให้สวัสดิการแก่พนักงานของห้าง มีบ้านพักฟื้น บ้านพักคนเกษียณ ศูนย์ฝึกงาน สถานผดุงครรภ์ บ้านพักผ่อน และมอบเงินทุนสำหรับคนลูกมาก สองสามีภรรยาเป็นนักสะสมงานศิลป์ศตวรรษที่ 18 มีทั้งภาพเขียน ประติมากรรม เครื่องพอร์ซเลน ไม้แกะสลัก กล่องเล็กกล่องน้อย แล้วนำไปจัดแสดงที่ Samaritaine de Luxe อาคารเลขที่ 25-29 ถนนกาปูซีนส์ (boulevard des Capucines) ซึ่งขายสินค้าไฮเอนด์ แอร์เนสต์ กอนญัคมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ติดกับ Samaritaine de Luxe แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อน แอร์เนสต์ กอนญัคและมารีหลุยส์ เจย์ไม่มีลูก จึงมอบงานศิลป์ที่สะสมแก่กรุงปารีส – Ville de Paris ซึ่งหาสถานที่ที่จะแสดงงานศิลป์เหล่านี้ ไปได้โอเต็ล โดนง (Hôtel Donon) ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ (Musée Carnavalet ) ซึ่งเป็นสมบัติของ Ville de Paris เช่นกัน พิพิธภัณฑ์กอนญัคเจย์จึงถือกำเนิดในปี 1990

 

Lumières: Carte blanche à Christian Lacroix เป็นชื่อนิทรรศการที่จัดที่พิพิธภัณฑ์กอนญัคเจย์ โดยที่ Ville de Paris มอบหมายให้ช่างเสื้อดังอย่างคริสติออง ลาครัวซ์จัดนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยใช้คอลเลกชั่นถาวรของพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ผู้นี้

 

คริสติออง ลาครัวซ์เป็นชาวเมืองอาร์ลส์ (Arles) ทางใต้ของฝรั่งเศส แสงสีเมืองใต้มีอิทธิพลต่อการออกแบบของเขาในภายหลัง จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มหาวิทยาลัยมงต์เปลลีเอร์ (Montpellier) แล้วมาเรียน Ecole du Louvre ที่ปารีสเพื่อจะเป็นภัณฑารักษ์ เขาได้ทำงานช่วงสั้นๆ ที่แอร์แมส (Hermès) แล้วไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของห้องเสื้อฌอง ปาตู (Jean Patou) ผลงานต้องใจแบร์นารด์ อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ซึ่งเป็นนายทุนเปิดห้องเสื้อ Christian Lacroix เริ่มจากการทำเสื้อชั้นสูง แล้วจึงทำเสื้อสำเร็จรูปและของใช้ในบ้าน

 

ชื่อเสียงของ Christian Lacroix ขจรขจาย สไตล์ของเขาเต็มไปด้วยสีสัน และสะท้อนศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในระยะแรกสินค้าของ Christian Lacroix ขายดีมาก แบร์นารด์ อาร์โนลด์จึงแต่งตั้งให้คริสติออง ลาครัวซ์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของห้องเสื้อเอมิลิโอ ปุชชี (Emilio Pucci) ด้วย จวบจนปี 2005 Christian Lacroix ไม่ทำกำไรอีกแล้ว แบร์นารด์ อาร์โนลต์จึงขายกิจการให้กลุ่มธุรกิจอเมริกัน

 

คริสติออง ลาครัวซ์ชอบงานดีไซน์ จึงได้รับการว่าจ้างให้ทำโน่นนี่อยู่เสมอ เช่น การออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานสายการบินแอร์ฟรานซ์ ตกแต่งรถไฟความเร็วสูง ตกแต่งโรงแรมขนาดเล็ก เช่น Le Petit Moulin โรงแรม Hôtel Bellechasse ย่านแซงต์แจร์แมงเดส์เพรส์ (Saint-Germain-des-Prés) โรงแรม Hôtel Le Notre Dame โรงแรม Hôtel Jules César ที่อาร์ลส์ ตกแต่งโรงภาพยนตร์ Gaumont Parnasse เป็นต้น เขาได้รับเชิญออกแบบเสื้อคอลเลกชั่นหนึ่งให้ห้องเสื้อเอลซา เชียปาเรลลี (Elsa Schiaparelli) และเสื้อยี่ห้อ Petit Bateau

 

บริษัท XCLX ของคริสติออง ลาครัวซ์จึงมีงานไม่ขาดมือ

 

ต้นปี 2015 คริสติออง ลาครัวซ์ได้รับมอบหมายให้จัดนิทรรศการ Lumières: Carte blanche à Christian Lacroix เขามีอำนาจเต็มในการจัดการเกี่ยวกับงานศิลป์ของพิพิธภัณฑ์กอนญัคเจย์ จึงเห็นงานศิลป์ศตวรรษที่ 18 แอบมีของสมัยใหม่วางเคียง ภาพเขียนโบราณมีภาพถ่ายสมัยใหม่แทรกอยู่ นอกจากนั้นยังนำเครื่องแต่งกายที่ขอยืมจากพิพิธภัณฑ์กัลลีเอรา (musée Galliera) มาแสดง โดยมีผลงานของคริสติออง ลาครัวซ์แซม

 

เนื่องจากคริสติออง ลาครัวซ์เคยออกแบบเครื่องแต่งกายให้โอเปรและละครหลายเรื่อง การจัดพิพิธภัณฑ์กอนญัคเจย์จึงสะท้อนการจัดแต่งของละคร เขาเชิญอาร์ติสต์นับ 40 คนให้รังสรรค์ผลงานเพื่อนำไปแสดงเคียงศิลปะศตวรรษที่ 18 ได้อย่างลงตัว