วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “อยู่วิทยา” กับอาณาจักร “กระทิงแดง”

“อยู่วิทยา” กับอาณาจักร “กระทิงแดง”

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “เดิมพัน อยู่วิทยา” ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อพร้อมกับการเปิดตัว 5 บริษัทแห่งอนาคต ภายใต้บริษัทแม่อย่าง Rapid Group ตั้งเป้าสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการให้บริการทางการเงินระดับโลก

ซึ่งทุกครั้งที่เห็นชื่อของคนในตระกูล “อยู่วิทยา” ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ตามหน้าสื่อ ชื่อของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอย่าง “กระทิงแดง” มักจะตามมาอย่างยากที่จะปฏิเสธ แม้ว่าเดิมพันจะให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาเป็นเพียงเครือญาติโดยเป็นตระกูลฝั่งแม่ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกระทิงแดงก็ตามที

“อยู่วิทยา” ถือเป็นครอบครัวไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ ที่สร้างชื่อและความมั่งคั่งจนติดอันดับตระกูลเศรษฐีลำดับต้นๆ ของเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่างกระทิงแดง โดยมี “เฉลียว อยู่วิทยา” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

เฉลียว อยู่วิทยา เป็นนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ และเป็นน้องชายของคุณตาของ “เดิมพัน อยู่วิทยา” มีชื่อจีนว่า “โกเหลียว” เกิดและเติบโตที่จังหวัดพิจิตร ในครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก เดิมประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดและค้าขายผลไม้ก่อนที่จะเดินทางมาช่วยพี่ชายทำงานที่ร้านขายยาในกรุงเทพฯ ด้วยการเป็นเซลส์ขายยา “ออริโอมัยซิน”

ต่อมาเขาตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทขายยาของตนเองขึ้น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2499 ในชื่อ “หจก. ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล” โดยเช่าตึกที่ซอยรามบุตรี ถนนข้าวสาร และคิดค้นสูตรยาเป็นของตนเอง แต่ให้โรงงานผลิตยาในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต หลังจากนั้นเขาได้ตั้งโรงงานผลิตยาภายใต้ชื่อ บริษัท ที.ซี. มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และได้พัฒนายาตัวใหม่อย่าง “ทีซี มัยซิน” เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ไข ยาหยอดหู ยาหยอดตา ออกวางจำหน่าย

จากสินค้าประเภทกลุ่มยา เฉลียวขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ โดยเริ่มจากสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ “แท็ตทู” ขณะเดียวกันเขาก็เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยที่น่าจะไปได้ดี จึงได้คิดค้นพัฒนาสูตรเครื่องดื่มให้พลังงานและออกวางจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเป็นทางการในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัป” ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กระทิงแดงคู่” ทำให้ผู้บริโภคเรียกกันติดปากว่า “เครื่องดื่มกระทิงแดง” ที่เรารู้จักดีในปัจจุบัน

เครื่องดื่มกระทิงแดงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วผ่านกลยุทธ์การตลาดที่เข้มข้น และจากความสำเร็จภายในประเทศนี้เอง ทำให้เฉลียวมองการณ์ไกลด้วยการขยายธุรกิจกระทิงแดงออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยส่งออกไปขายยังประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรก ภายใต้ยี่ห้อ “Red Bull”

หลังจากนั้นเฉลียวได้มีโอกาสรู้จักกับ “ดีทริช เมเทสซิทซ์” (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ซึ่งสนใจนำ Red Bull ไปบุกตลาดยุโรป นั่นทำให้เขาตัดสินใจจับมือกับดีทริชก่อตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นในประเทศออสเตรีย โดยเฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ส่วนดีทริชถือหุ้น 49% ทำการผลิตและวางจำหน่ายกระทิงแดงในยุโรปในชื่อการค้า “Red Bull” ซึ่งขณะนั้นมีการส่ง Red Bull ไปขายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ

สำหรับในประเทศไทยเฉลียวยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2531 เขาจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ จัดจำหน่าย และทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ จากนั้นในปี พ.ศ. 2539 ได้ตั้งบริษัท ทีจีเวนดิ้ง แอนด์โชว์เคสอินดัสทรีส์ จำกัด เพื่อพัฒนาช่องทางในการจัดจำหน่าย โดยนำนวัตกรรมตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติจากญี่ปุ่นมาติดตั้งตามโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ยังคิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ทันสมัยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เฉลียวได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2555 ด้วยวัย 88 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นนิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 205 ของโลก และอันดับที่ 3 ของไทย ด้วยทรัพย์สินจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามประวัติกล่าวว่าเขามีภรรยา 2 คน และมีบุตร-ธิดารวมกัน 11 คน โดยภรรยาคนแรกคือ “นกเล็ก สดสี” มีบุตร-ธิดา รวมกัน 5 คน ได้แก่ สายพิณ (อยู่วิทยา) พหลโยธิน, เฉลิม อยู่วิทยา, ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, อังคณา อยู่วิทยา และรัญดา อยู่วิทยา

ต่อมาได้สมรสกับ “ภาวนา หลั่งธารา” มีบุตร-ธิดา รวมกัน 6 คน ได้แก่ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, นุชรี อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา และสราวุฒิ อยู่วิทยา

ภายหลังการเสียชีวิตของเฉลียว ดูเหมือนว่าอาณาจักรกระทิงแดงได้ถูกแบ่งออกเป็นสองสาย โดยในสายแรก บุตรชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนแรกอย่าง “เฉลิม อยู่วิทยา” เป็นผู้ดูแลธุรกิจ Red Bull ในต่างประเทศ ซึ่งจากการจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 ของ Forbes พบว่า เฉลิม อยู่วิทยา ยังรั้งตำแหน่งมหาเศรษฐีไทยอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 6.6 แสนล้านบาท

สำหรับอาณาจักรกระทิงแดงในประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การบริหารของลูกๆ จากภรรยาคนที่สอง โดยมี “สราวุฒิ อยู่วิทยา” เป็นแม่ทัพใหญ่

พ.ศ. 2561 ถือเป็นการเริ่มทศวรรษใหม่ของกระทิงแดงในไทย ด้วยการผนึกกำลัง 4 บริษัทในเครืออันได้แก่ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด, บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด และบริษัท เดอเบล จำกัด มาอยู่รวมกันภายใต้ชื่อใหม่อย่าง “กลุ่มธุรกิจ TCP” เพื่อเสริมความแกร่งและสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมตอกย้ำความเป็น “เฮาส์ออฟแบรนด์”

นอกจากนั้น ยังได้เปิดสำนักงานในต่างประเทศขึ้นอีกด้วย โดยแห่งแรกอยู่ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ตามมาด้วยพม่าและจีน

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา สราวุฒิในฐานะผู้กุมบังเหียนกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจ TCP มีการตั้งงบลงทุนรวมกว่า 12,000 ล้านบาท และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศจีน พร้อมตั้งเป้ารายได้โต 2 เท่าภายใน 3 ปี แตะ 90,000 ล้านบาทต่อปี

นั่นแสดงให้เห็นว่า อาณาจักรกระทิงแดงที่ “เฉลียว อยู่วิทยา” สร้างไว้ทั้งในและนอกประเทศ ยังคงแข็งแกร่งและสยายปีกออกไปได้อีกไกล.

capton ภาพสามคน
ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กรรมการ-ผู้จัดการ (ซ้าย) สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (กลาง) และ นุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ

ใส่ความเห็น