วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > โค้งสุดท้าย ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. วัด “กึ๋น” แก้เศรษฐกิจปากท้อง

โค้งสุดท้าย ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. วัด “กึ๋น” แก้เศรษฐกิจปากท้อง

นโยบายเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่บรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เร่งนำเสนอ เพื่อชิงคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม หลังโพลล์หลายสำนักต่างชี้ชัดว่า ชาว กทม. มากกว่าครึ่งยังไม่ตัดสินใจและรอใกล้ๆ วันเลือกตั้งด้วย

ล่าสุด สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยผลสำรวจเรื่อง ผู้ว่า นักบริหาร ในสายตา คน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,350 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2565 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 ต้องการเลือกผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ต่อผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านๆ มา จำนวนมากหรือร้อยละ 45.0 ระบุ เห็นผลงานแต่ไม่มากพอที่จะทำให้เลือก ร้อยละ 31.8 ระบุไม่เห็นทำอะไร มีแต่ปัญหาเดิมๆ ขณะที่ร้อยละ 20.6 ระบุ เห็นผลงานมาก แต่จะเลือกคนใหม่ มีเพียงร้อยละ 2.6 เห็นผลงานมากและจะเลือกคนเดิมอีก

ทั้งนี้ หากสำรวจนโยบายด้านเศรษฐกิจของผู้สมัครกลุ่มเต็งๆ อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครนามอิสระ หมายเลข 8 มีหลายเรื่องที่ถูกขยายไอเดียในวงกว้าง เช่น การนำเสนอแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกรุงเทพฯ หรือ กรอ. กทม. ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ผอ. สำนักต่าง ๆ ใน กทม. ตัวแทนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจการค้า กลุ่มธุรกิจโรงแรม กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ บางเรื่อง กทม. ดำเนินการได้เองทันที ส่วนบางเรื่องต้องอาศัยอำนาจการจัดการของรัฐบาล จะนำเสนอ กรอ. ส่วนกลางที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy District) ย่านธุรกิจ-เศรษฐกิจการค้า ย่านรับจ้างผลิต OEM (Original Equipment Manufacturer) ย่านสตรีทฟู้ด ย่านที่เป็น Node สำคัญ ย่านนวัตกรรม

ขณะเดียวกัน นำเสนอโมเดล 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและการท่องเที่ยว เช่น เทศกาลดนตรีในสวน เทศกาลดอกไม้แห่งความรัก เทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ เทศกาลอาหารฮาลาลหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า เทศกาลผลไม้ไทย เทศกาล Pride Month เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทศกาลงานคราฟต์ เทศกาลแข่งเรือกรุงเทพฯ เทศกาล 11.11 ช้อปปิ้งพาราไดส์เฟสติวัล และเทศกาลแห่งแสง ของขวัญกรุงเทพฯ (Bangkok Winter Illumination)

นอกจากนี้ มีนโยบายแก้ปัญหาเรื้อรัง เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง เริ่มจากเส้นทางที่เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีทองและ BRT ตั้งเป้าค่ารถเมล์ กทม. 10 บาทตลอดสาย เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ คนพิการ และนักบวชฟรี

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัคร หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศอยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็น “เมืองสวัสดิการ ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียน” โดยเฉพาะการเปลี่ยนชีวิตคน กทม. เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง โดยจัดตั้งกองทุนจ้างงานในชุมชน การติดตั้งไวไฟ (wifi) 1.5 แสนจุดทั่วกรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ มีอินเทอร์เน็ตเป็นสวัสดิการพื้นฐานของเมือง เหมือนอีก 59 เมืองทั่วโลก ซึ่งการเข้าถึงโลกออนไลน์จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนและสามารถใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาเมือง การควบคุมระบบต่างๆ การเปิด-ปิดประตูน้ำ การควบคุมการจราจร

สำหรับ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย พยายามย้ำการขับเคลื่อนนโยบาย 11 ด้าน หรือ 11 พลังสร้าง กทม. สู่การเป็นมหานครที่ดีที่สุด โดยเน้นหลักการปลดปล่อย (Liberate) ประชาชนจากการถูกกดทับโดยระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนลุกขึ้นมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด แข็งแรงที่สุด การสร้างพลัง Empower ประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงตลาด

ถ้ายกตัวอย่างเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างอํานาจให้คนกรุงเทพร่วมบริหารงบประมาณ ขจัดการคอร์รัปชัน ตรวจสอบการใช้งบประมาณผ่านเทคโนโลยี Block chain

สร้าง Bangkok legal Sandbox โดยปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ชั่วคราว 3-5 ปี โดยเฉพาะส่วนที่เป็นอำนาจของ กทม. จะทำทันที เพื่อการทำมาหากิน การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ควรเกิน 1,500-1,600 บาทต่อคนต่อเดือน

สร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการสร้างสรรค์ Creative metropolis เพื่อสร้างรายได้ให้คนกรุงเทพฯ จัด Event ในแต่ละเขตทุกเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หมุนเวียนในชุมชน เช่น ตลาดน้อย ต้องพลิกฟื้นชุมชนเก่าดั้งเดิมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ส่งเสริมให้แต่ละเขตมีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

ส่วนนายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ในนามอิสระ ระบุว่า หน่วยงาน กทม. อาจไม่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลปัญหาค่าครองชีพ แต่ผู้ว่าฯ กทม. สามารถช่วยสนับสนุนการหาเงิน เนื่องจาก กทม. มีระเบียบที่สามารถจัดสรรงบประมาณส่วนกลางได้ และผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นนักบริหารหาแหล่งทุนมาช่วยเหลือ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เช่น การจัดพื้นที่สาธารณะให้ขายอย่างสมดุล ไม่กระทบคนเดินเท้าและการจราจร ช่วยผู้ค้าเช่าแผงในอาคารพาณิชย์ ปรับพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่ทำมาหากิน

มาถึงอดีตดาวสภา “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกล ขอสัญญากับประชาชนจะนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาตีแผ่ให้สาธารณะรับรู้ และค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผลักดัน ‘ตั๋วร่วม’ 15-45 บาทตลอดสาย นอกจากนี้ จะเดินหน้า สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถเมล์ในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย

สุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่มักถูกตั้งคำถามถึงผลงานที่ผ่านมา ชู 8 นโยบายภายใต้แคมเปญ “กรุงเทพฯ ต้อง… ไปต่อ” เช่น นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อ ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมอีก 9 จุด เชื่อมระบบขนส่งมวลชน ล้อ ราง เรือ สร้างโรงพยาบาลให้ครบ 4 มุมเมือง พร้อมการพบแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์และจัดส่งยาถึงบ้านภายใน 60 นาที เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนสาธารณะทั่วกรุง เร่งสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองปลอดภัย และเมืองดิจิทัล

ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาปากท้องจะผลักดันกองทุนกู้ยืมชุมชน ซึ่งปกติกองทุนกู้ยืมชุมชนของ กทม. จะกู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และเงื่อนไขยากลำบาก โดยเตรียมแนวทางแก้กฎระเบียบต่างๆ ผ่านสภา กทม. รวมถึงการเพิ่มวงเงิน

แน่นอนว่า ช่วงโค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะดุเดือดมากขึ้น ทั้งวัดพลังทางการเมือง วัดความสามารถตัวบุคคล และแนวทางแก้เศรษฐกิจปากท้อง ที่สำคัญ จะพิสูจน์การใช้สิทธิ์ของคนกรุงเทพฯ ว่า แค่ฉาบฉวยตามกระแสหรือมองนโยบายอย่างแท้จริง.

ใส่ความเห็น