วันอาทิตย์, ธันวาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ส่องตลาดเครื่องประดับไข่มุก ผ่านมุมมองของนักอัญมณีศาสตร์

ส่องตลาดเครื่องประดับไข่มุก ผ่านมุมมองของนักอัญมณีศาสตร์

“ไข่มุก” เป็นหนึ่งในเครื่องประดับสุดคลาสสิกที่ยังได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย และนับวันจะมีราคาสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อกระบวนการเกิดของไข่มุกตามธรรมชาติ จึงทำให้ไข่มุกหายาก สวนทางกับความต้องการของตลาดที่ยังคงไม่แผ่ว

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปี 2566 ตลาดเครื่องประดับไข่มุกมีมูลค่า 11.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 12.9% และคาดว่าปี 2573 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ได้แก่ ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, จีน และสหรัฐอเมริกา

ซึ่งปัจจัยที่จุดกระแสความนิยมให้กระพือมากขึ้นและขับเคลื่อนตลาดเครื่องประดับไข่มุกให้เติบโตเป็นผลมาจากการที่ดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงหันมาสวมใส่เครื่องประดับไข่มุกมากขึ้น, กระแส Y2K และ Nostalgia ทำให้เครื่องประดับไข่มุกกลับมาได้รับความนิยม, ไข่มุกมีเฉดสีที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมถึงแบรนด์เครื่องประดับก็หันมาใช้ไข่มุกรวมกับอัญมณีชนิดอื่นมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กระแสความนิยมไข่มุกในตลาดเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับสากลและในเมืองไทย

แต่ถึงกระนั้นตลาดไข่มุกยังต้องพบกับความท้าทายใหญ่ๆ 2 ประการ คือ การผลิตที่ลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความขาดแคลนของไข่มุกในแหล่งกำเนิด

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นคือ จากกระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการซื้อขายไข่มุกในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น และกำลังแพร่หลายเป็นอย่างมากในสังคมออนไลน์ โดยเป็นการขายไข่มุกที่เรียกว่า “แกะหอยมุกสุ่มสี” ที่ผู้ขายมักจะทำการไลฟ์สดแกะไข่มุกออกจากตัวหอย เพื่อให้ลูกค้าลุ้นสีและขนาดของไข่มุกที่อยู่ภายในตัวหอย โดยส่วนใหญ่จะโฆษณาว่าหอยมุกที่ได้นั้นเป็นหอยมุกเลี้ยงน้ำเค็มและมีหลายเฉดสี

อีกทั้งยังมีการขายหอยมุกแบบเปิดลุ้นไข่มุกด้วยตัวเอง โดยมีการโฆษณาว่าเป็นหอยมุกน้ำเค็มและหอยมุกอะโกย่า (Akoya Pearl) ซึ่งจากการสํารวจราคาหอยมุกสุ่มสีในตลาดออนไลน์ของไทยพบว่ามีราคาประมาณ 180 – 650 บาทต่อตัว ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตและนําเข้ามาจากจีน

คำถามคือไข่มุกเหล่านั้นเป็นของแท้หรือของเทียม มีคุณภาพเป็นอย่างไร และผู้บริโภคจะเชื่อมั่นได้แค่ไหน

เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท เทรซ จิวเวลรี่ จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องประดับไข่มุกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากซัปพลายในท้องตลาดที่มีน้อยลง เพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาะกรดในมหาสมุทรที่เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเกิดไข่มุก ทำให้ไข่มุกราคาพุ่งสูง

นอกจากนี้ คุณเยือนจันทร์ยังให้ข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับไข่มุกว่า “ไข่มุก” แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ “ไข่มุกธรรมชาติ” (Natural Pearl) ไข่มุกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยมนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต และ “ไข่มุกเลี้ยง” (Cultured Pearl) ไข่มุกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยมนุษย์

ซึ่งไข่มุกธรรมชาติเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอยู่ในตัวหอยมุกทำให้มุกเกิดการระคายเคือง สร้างเซลล์และแบ่งเซลล์ออกมาล้อมสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจนกลายเป็นถุงมุกก่อนที่มุกจะผลิตชั้น nacre จนสะสมตัวหนามากขึ้นจนกลายเป็นไข่มุกที่ผู้คนนิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับ ซึ่ง ณ ปัจจุบันไข่มุกธรรมชาติหาได้ยากมากและมีราคาสูง

ส่วนไข่มุกเลี้ยงมีขั้นตอนของการผลิตโดยเริ่มจากการตัดเนื้อเยื่อของหอยและ bead nucleus ใส่ลงไปในหอยมุกเพื่อให้หอยสร้างปฏิกิริยา ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาราวๆ 12-18 เดือน โดยไข่มุกเลี้ยงจะแยกตามแหล่งน้ำที่กำเนิดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. มุกเลี้ยงน้ำจืด มีหลากสีและหลายรูปร่าง ทั้งทรงกลม ทรงเม็ดข้าว และทรงหยดน้ำ มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับมุกเลี้ยงน้ำเค็ม โดยแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน

2. มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มี 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ไข่มุก Akoya จากแหล่งผลิตประเทศญี่ปุ่น มีสีขาวหรือครีม ลักษณะกลม มีโทนสีชมพูหรือเขียวเหลือบ มีความแวววาวสูง ขนาดของไข่มุกจะอยู่ที่ 2-9 มิลลิเมตร, ไข่มุก South Sea จากแหล่งผลิตประเทศออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถือเป็นไข่มุกที่มีขนาดใหญ่สุด 8-18 มิลลิเมตร ส่วนมากมักมีสีขาว สีเงินและสีเหลืองทอง และไข่มุก Tahitian จากแหล่งผลิตของหมู่เกาะตาฮิติ มักมีลักษณะสีเข้มเทาอมเขียวและมีโทนเหลือบ เช่น เขียว และชมพูแดง มีขนาด 7-12 มิลลิเมตร

เนื่องจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยงมีลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกันจึงทำให้สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก นักอัญมณีศาสตร์จึงมีการศึกษาโครงสร้างดังกล่าวจากเครื่องมือขั้นสูงผ่านเครื่อง X-ray เพื่อใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน โดยไข่มุกเลี้ยงจะมองเห็นรอยต่อของเม็ด bead nucleus ที่อยู่ด้านใน ส่วนไข่มุกที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติจะไม่มี bead nucleus และมีลักษณะการสร้างชั้นมุกหลายๆ ชั้น คล้ายกับชั้นของหัวหอม

นอกจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในท้องตลาดยังมี “ไข่มุกเลียนแบบ” อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งวัสดุเลียนแบบไข่มุกอาจเป็นได้ทั้งแก้วและพลาสติก โดยคุณเยือนจันทร์ยังเปิดเผยเคล็ดลับการแยก ‘ไข่มุกแท้กับไข่มุกเลียนแบบ’ ไว้ว่าให้สังเกต “ลักษณะผิว” ซึ่งไข่มุกแท้จะมีลักษณะผิวคล้ายรอยนิ้วมือ (fingerprint) โดยพื้นผิวไข่มุกเลียนแบบจะไม่พบลักษณะของรอยนิ้วมือ แต่จะพบลักษณะผิวเรียบหรือขรุขระคล้ายผิวเปลือกส้ม หรืออาจมีผิวลอกร่อนไม่สม่ำเสมอ แต่ลักษณะดังกล่าวต้องสังเกตด้วยกล้องจุลทรรศน์ อีกทั้งยังสังเกตได้จากรูของไข่มุก โดยไข่มุกธรรมชาติจะมีผิวเรียบหรือมีร่องรอยของรอยนิ้วมือปรากฏอยู่บริเวณรอบรู ในขณะที่วัสดุเลียนแบบจะปรากฏความไม่สม่ำเสมอของพื้นผิวรูและแสดงให้เห็นความเป็นวัสดุคนละชนิดกันอย่างชัดเจน

นอกจากการใช้เครื่องมือจำแนกแล้ว ยังมีการแยกด้วยการสัมผัส ทำได้โดย 1. นำไข่มุกสองเม็ดมาถูกัน หากเป็นมุกแท้เวลาถูจะมีการเสียดสีและฝืดเล็กน้อยเพราะมุกแท้มีพื้นผิวที่ขรุขระ แต่ถ้าเป็นมุกปลอมจะรู้สึกเรียบลื่นเมื่อถู เพราะมุกปลอมมีพื้นผิวเรียบเนียนสมบูรณ์

2. ลองถูไข่มุกกับฟัน เป็นวิธีสุดคลาสสิกที่อาจไม่สามารถทำที่ร้านได้ เป็นการนำไข่มุกมาถูที่ฟันหน้า ถ้ามุกแท้จะมีเม็ดเล็กๆ ละเอียดๆ หลุดออกมา ส่วนไข่มุกปลอมจะไม่มีเพราะบางครั้งทำมาจากพลาสติก พื้นผิวเรียบเนียน และมีผิวสัมผัสที่ลื่น

3. ไข่มุกแท้มีสัมผัสที่เย็น เมื่อวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องแล้วลองสัมผัสได้จะความรู้สึกเย็นใน 2-3 วินาทีแรกก่อนที่จะอุ่นขึ้นเป็นปกติ

4. มุกแท้จะมีน้ำหนักตามแต่ละขนาดของแต่ละเม็ด ส่วนมุกปลอมทั่วไปทำจากพลาสติกจึงมีน้ำหนักเบา

ซึ่งวิธีข้างต้นพอจะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อไข่มุกได้ แต่สำหรับการขายหอยมุกสุ่มสีที่กำลังแพร่ระบาดในตลาดออนไลน์อยู่ในขณะนี้ อาจเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะได้ลองสัมผัสก่อนซื้อ ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับยังระบุอีกว่า มีการนำตัวอย่างหอยมุกแบบสุ่มสีจากตลาดซื้อ-ขายออนไลน์แหล่งต่างๆ มาตรวจสอบ พบว่า เป็นการนำหอยมุกน้ำเค็มและหอยมุกน้ำจืด มาใส่ไข่มุกน้ำจืดย้อมสีชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าไข่มุกที่อยู่ภายในเป็นไข่มุกที่เกิดจากตัวหอยที่ซื้อมา อีกทั้งยังมีการนำหอยมุกน้ำเค็มมาใส่ไข่มุกน้ำจืดย้อมสี และโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม หรือไข่มุกอะโกย่า ซึ่งมีราคาสูงกว่าอัญมณีไข่มุกน้ำจืดอย่างมาก และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้

จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังก่อนทำการซื้อ อีกทั้งยังเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับกระแสความนิยมของตลาดเครื่องประดับไข่มุกด้วยเช่นกัน.