วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > Life > ใช้อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

ใช้อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

 
Column: well-being
 
เป็นเวลานับพันปีมาแล้วที่การแพทย์แผนตะวันออกและนักธรรมชาติบำบัด แนะนำให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ Eva Selhub, MD, อาจารย์ผู้บรรยายประจำคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยอมรับว่า ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
 
สถาบันวิจัยจำนวนมากพากันระบุว่า อาหารที่บริโภคล้วนส่งผลต่อสุขภาพสมองและสุขภาพจิตของเราทั้งสิ้น วงการจึงหันมามุ่งเน้นงานวิจัยและการบำบัดรักษาสุขภาพจิตด้วยอาหารกันขนานใหญ่ จนเกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “nutritional psychiatry”
 
Felice Jacka, PhD, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยดีกิน ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ผลการวิจัยได้เน้นย้ำให้เราตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายโดยรวมที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้”
 
ลดอาหารหวาน ช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าได้ 
 
Drew Ramsey, MD, ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกด้านสุขภาพจิตแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ และผู้เขียนร่วมหนังสือ The Happiness Diet อธิบายว่า สมองของเรานั้นเหมือนอวัยวะส่วนอื่นๆ ในร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นจากอาหารที่เราบริโภคเป็นหลัก “อารมณ์ต่างๆ มีจุดเริ่มต้นเชิงชีววิทยาจากการที่เซลล์ประสาทสองเซลล์มากระทบกัน และเซลล์ประสาทเหล่านี้ก็สร้างขึ้นจากสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั่นเอง”
 
เขาเพิ่มเติมต่อไปว่า ร่างกายไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาท “เซโรโทนิน” ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ได้ หากขาดธาตุเหล็กและทริปโตแฟน และไม่สามารถสร้างไขมัน myelin ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนหุ้มเซลล์สมองได้ ถ้าร่างกายขาดวิตามินบี 12 ที่พบมากในอาหารทะเล เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์นมเนย 
 
Jacka ระบุว่า อาหารมีอิทธิพลต่อภาวะจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ การทดลองกับหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและน้ำตาลฟอกขาว ทำให้สมองสร้าง neurotrophins น้อยลง ทั้งที่มันมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่า ในคนที่ชอบบริโภคน้ำตาล ย่อมส่งผลที่คล้ายคลึงกันได้ และกลายเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะ neurotrophins กระตุ้นการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ ขึ้นในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่มีหน้าที่ควบคุมความทรงจำ
 
ในคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสขนาดเล็กกว่าปกติเช่นกัน แต่เมื่อได้รับการบำบัดรักษา สมองส่วนนี้สามารถเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลน้อยลง ย่อมทำให้คนไข้โรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นได้ จากการที่สมองสร้าง neurotrophins มากขึ้น และสมองส่วนฮิปโปแคมปัสมีขนาดใหญ่ขึ้น
 
อาหารกับสภาวะความเครียดออกซิเดชัน  
 
สภาวะความเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ที่เกิดกับเซลล์สมอง เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากเช่นกัน
 
“สมองของเราต้องเผาผลาญกลูโคส (น้ำตาลในเลือด) ในปริมาณมหาศาลเพื่อสร้างพลังงาน กระบวนการเผาผลาญนี้ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่คอยทำลายเซลล์สมอง กระบวนการดังกล่าวนี้เองที่เรียกว่าสภาวะความเครียดออกซิเดชัน”
 
ดังนั้น ถ้าเซลล์สมองอ่อนแอและถูกทำลาย สัญญาณที่ส่งออกมาย่อมผิดปกติหรือสับสน ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ เช่น เกิดภาวะซึมเศร้าและกระวนกระวายได้
 
สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันและซ่อมแซมสภาวะความเครียดออกซิเดชันได้คือ วิตามินซี อี และเบต้าแคโรทีน รวมทั้งอาหารที่มีฟลาโวนอยด์อย่างเคอร์ซิตินและแอนโธไซยานิดินส์
 
แบคทีเรียในลำไส้ทำให้สมองสุขภาพดี     
 
แบคทีเรียชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายที่อาศัยอยู่ในลำไส้ มีบทบาทหลายอย่างในการทำให้สมองสุขภาพดี จากการที่ระบบทางเดินอาหารของเรามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามเยื่อเมือกมากมาย และทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทจำนวนมหาศาลที่เรียงตัวอยู่ตามแนวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เพื่อส่งสัญญาณต่อไปยังสมอง
 
แต่ถ้าคุณบริโภคอาหารขยะ เช่น น้ำตาลฟอกขาว ไขมันทรานส์ แป้งขัดสีจนขาว ย่อมก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดโรคตามมาในภายหลัง
 
ที่สำคัญภาวะอักเสบนี้สัมพันธ์กับความผิดปกติทางอารมณ์ที่รวมถึงโรคซึมเศร้าด้วย
 
แบคทีเรียในลำไส้ยังช่วยสมองด้วยการสังเคราะห์สารสื่อประสาทจำนวนมาก เช่น เซโรโทนินและโดปามีน
 
ผลการศึกษาปี 2011 ของมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา พบว่า เมื่อภาวะสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ของหนูทดลองเปลี่ยนไปนั้น ไม่เพียงส่งผลให้ระดับสารเคมีในสมองเปลี่ยน แต่ยังทำให้พฤติกรรมของหนูเปลี่ยนแปลงด้วย จากที่มีความขลาดกลัวโดยธรรมชาติ กลายเป็นหนูที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงระดับความกระวนกระวายที่เปลี่ยนไปนั่นเอง
 
Jacka ตั้งข้อสังเกตว่า แม้นักวิจัยยังเข้าใจไม่แจ่มชัดนักว่า แบคทีเรียมีบทบาทต่อสารสื่อประสาทในสมองมนุษย์อย่างไร แต่สิ่งที่พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนคือ อาหารจัดเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยทำให้แบคทีเรียในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งส่งผลถึงสุขภาพที่ดีของเราด้วย 
 
ให้หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ขัดสีจนขาว น้ำตาลฟอกขาว และไขมัน ซึ่งล้วนทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ขณะที่อาหาร “พรีไอโอติก” เช่น หน่อไม้ฝรั่ง อาร์ติโชค กล้วย ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลีไม่ผ่านการขัดสี และพืชตระกูลถั่ว ล้วนทำให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโตและทำหน้าที่ได้ดี
 
 
ที่มา: นิตยสาร Yoga   
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว