วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Home > Cover Story > ลุ้นของขวัญปีใหม่ “บิ๊กตู่” อัดฉีดเศรษฐกิจ ชิงกระแสเลือกตั้ง

ลุ้นของขวัญปีใหม่ “บิ๊กตู่” อัดฉีดเศรษฐกิจ ชิงกระแสเลือกตั้ง

21 ธันวาคมนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเคาะมาตรการแจกของขวัญปีใหม่ชุดใหญ่ตามคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไล่เรียงทุกกระทรวง โดยหวังว่า ประชาชนจะมีความสุข หลังไม่มีความสุขมา 2 ปีกว่าแล้วจากพิษโควิด-19 และถือเป็นมหกรรมอัดฉีดเศรษฐกิจกระตุ้นกำลังซื้อแสนล้าน

แน่นอนว่า หลายฝ่ายจับตาไปที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเท่าที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้ามีการเตรียมแพ็กเกจลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่ง เริ่มจากธนาคารออมสินจะคืนเงินสดให้ลูกค้าที่มีประวัติการชำระดีต่อเนื่อง 3 ปี และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 200,000 บาท คนละ 500 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีของขวัญสำหรับลูกค้าที่ต้องการออมเงินด้วยการเปิดรับฝากสลากออมสินพิเศษช่วงปีใหม่ เพิ่มรางวัลพิเศษ 1 ล้านบาท จำนวน 20 รางวัล

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แจกของขวัญให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ผ่อนชำระดีย้อนหลังรวม 48 เดือน นับจนถึงงวดเดือนพฤศจิกายน 2564 แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 ได้รับเงิน 1,000 บาท สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ทุกบัญชีภายใต้หลักประกันเดียวกันไม่เกิน 2 ล้านบาท มีสถานะบัญชีปกติ ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้รับเงิน 500 บาท สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับสิทธิในกลุ่มแรก โดยต้องมีสถานะบัญชีปกติ ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดโครงการนาทีทอง ลดดอกเบี้ยสู้โควิด ปีบัญชี 2564 ช่วยลดภาระหนี้และดอกเบี้ยบางส่วนในกลุ่มลูกค้าหนี้เสีย ตั้งแต่ 10-50% เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 ขณะที่จัดโครงการชำระดีมีคืนให้ลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินดี จะได้รับเงินสดกลับไปใช้จ่ายในครัวเรือน สูงสุดรายละ 1,000 บาท โดยคาดว่ามีลูกหนี้ในกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านราย จะได้รับการคืนดอกเบี้ยเป็นเงินสด อัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อราย เริ่มโอนเข้าบัญชีตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 หรือจนกว่ากรอบวงเงินจะเต็ม 1,200 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังชงเสนอมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกหลายโครงการ โดยหนึ่งในนั้น คือการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้ กระตุ้นให้คนที่มีเงินและอยู่ในระบบภาษีมาใช้จ่ายมากขึ้น คล้ายกับมาตรการช้อปดีมีคืนในอดีต ซึ่งจะให้ผู้เสียภาษีนำรายจ่ายที่ซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 30,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ น่าจะไม่มีการขยายเฟสเพิ่มอีก เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและการบริโภคภายในประเทศดีขึ้นแล้ว เพื่อลดภาระการกู้ หลังจากรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจจากผลของโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 ล้านล้านบาท และครั้งที่ 2 อีก 5 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการที่ให้เงินกับประชาชน เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง รวมกันแล้วถึง 2.1 แสนล้านบาท

ด้านกระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดงาน “พาณิชย์ลดราคาแกรนด์เซลล์” หลังผู้ผลิตหลายรายส่งสัญญาณจะปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า โดยปีนี้เน้นลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าการเกษตร 70-80% รวมถึงค่าบริการต่างๆ ตั้งแต่ปลายธันวาคม 2564 ถึงมกราคม 2565 ต่อเนื่อง 30-40 วัน

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเปิดมหกรรมจำหน่ายสินค้าราคาโรงงาน เช่น สินค้าจากศรีไทยซุปเปอร์แวร์ สินค้าจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ. ชลบุรี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สินค้าเอสเอ็มอีและโอทอป สินค้าชุมชน ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ. ชลบุรี

กระทรวงอุตสาหกรรมยังงัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 32,030 ล้านบาท ผ่าน 5 โครงการ ได้แก่ 1. สินเชื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี ในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) วงเงิน 1,000 ล้านบาท สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 18 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี
2. สินเชื่อสร้างโอกาส เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี ที่ต้องการเงินฟื้นฟูกิจการหรือเริ่มต้นกิจการใหม่ วงเงิน 500 ล้านบาท ให้สินเชื่อ 1 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี

3. สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอี กลุ่มลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 500 ล้านบาท ปล่อยสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี

4. สินเชื่อพิเศษดีพร้อมเปย์ ผ่านโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดอกเบี้ยขั้นบันได 3 ปี 3-5% และ 5. สินเชื่อ SMEs Happy สำหรับลูกค้าเดิมของเอสเอ็มอีแบงก์ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ SMEs D Plus วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี, โครงการ SMEs D เพื่อการลงทุน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี และโครงการ SMEs D เสริมสภาพคล่อง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 6% ต่อปีวงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้สูงสุด 25 ล้านบาทต่อราย ลูกค้าใหม่สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย

สำหรับกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการพิจารณาของแต่ละกรม เช่น สำนักงานประกันสังคมอาจออกมาตรการลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดฝึกอาชีพทุกอย่างฟรีหมด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอาจออกมาตรการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนออนุมัติงบประมาณ 13,200 ล้านบาท ลุย “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” ให้สิทธิคนไทยอีก 2 ล้านห้อง หรือคืน น่าจะใช้เดินทางได้ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชนเร่งรัดให้รัฐบาลอนุมัติเป็นของขวัญปีใหม่ ได้แก่ ฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพิ่มวงเงินจากเดิม 30,000 บาทต่อคน เป็น 50,000 บาทต่อคน ให้ใช้ในช่วง 10 วันสุดท้ายของปี ตั้งแต่ 21-31 ธันวาคม 2564 คาดจะกระตุ้นการจับจ่ายได้ถึง 50,000 ล้านบาท แลกกับการที่รัฐบาลเสียรายได้เฉลี่ยฐานภาษีที่ 20% ประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมถึงต่อมาตรการคนละครึ่ง เฟส 4 เพื่อใช้จ่ายเดือนมกราคม 2565 หลังเฟส 3 จะสิ้นสุดเดือนธันวาคมนี้ และเสนอลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา อีก 3 เดือน (ธันวาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565) เนื่องจากเป็นมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ต้องลุ้นเปิดของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจและโดนใจจริงหรือไม่ ในช่วงจังหวะการช่วงชิงกระแสรับสมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดภาคใต้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ในปี 2565 เพราะทั้งหมดหมายถึงโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ด้วย

ใส่ความเห็น