วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สินค้าจ่อคิวบีบขึ้นราคา วัตถุดิบ พิษน้ำมัน สิบล้อฮึ่มกดดัน

สินค้าจ่อคิวบีบขึ้นราคา วัตถุดิบ พิษน้ำมัน สิบล้อฮึ่มกดดัน

หลังเจอวิกฤตหมูแพง ผักแพง ล่าสุด สินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มส่งสัญญาณจะปรับราคาทันทีที่เข้าสู่ปี 2565 ท่ามกลางแรงกดดันจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาการเรียกร้องของกลุ่มรถบรรทุกสิบล้อยังไม่ยุติ หลังเปิดยุทธการ Truck Power ล้อมกระทรวงพลังงานไปแล้ว

ตามแผนขั้นต่อไปในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยจะยกระดับเรียกร้องกดดันรัฐบาลเรื่องการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 26-27 บาทต่อลิตรอีกครั้ง พร้อมเสนอปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก 1 บาท จากอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร เหลือประมาณ 4.99 บาทต่อลิตร หลังจากการเจรจากับกระทรวงพลังงานในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ยังยืนยันตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งเห็นชอบเพดานราคา 28 บาทต่อลิตร รวมระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565 และกระทรวงการคลังยังเสียงแข็งไม่ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

เบื้องต้น กลุ่มรถบรรทุกวางแผนหยุดเดินรถเพิ่มอีก 50% หรือประมาณ 200,000-250,000 คัน จากก่อนหน้านี้หยุดเดินรถไปแล้ว 20% ประมาณ 100,000 คัน หรือรวมหยุดเดินรถทั้งหมด 70% หรือประมาณ 300,000-350,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ ทั้งหมด 400,000-500,000 คันทั่วประเทศ

ในการหยุดเดินรถเพิ่มเติม 50% จะมีทั้งการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกที่ขนตู้คอนเทนเนอร์โดยใช้เรือขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยา สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร พืชไร่ และสินค้าประเภทอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย และปูน

ส่วนมาตรการปรับขึ้นค่าขนส่ง 10% ชะลอไปก่อน เพราะเกรงจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายได้ยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามายังกรมการค้าภายในอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยขอปรับขึ้นประมาณ 5-10% เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อ้างผลกระทบจากต้นทุนแป้งข้าวสาลีและน้ำมันปาล์มสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ไม่นับรวมต้นทุนค่าขนส่งต่างๆ

ขณะที่กรมการค้าภายในระบุไม่มีไฟเขียวให้ผู้ประกอบการรายใด และขอความร่วมมือให้ช่วยตรึงราคาสินค้าจนถึงสิ้นปี 2564 ก่อนทบทวนสถานการณ์อีกครั้งหลังเทศกาลปีใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องราคาพลังงานอย่างน้ำมันที่กำลังปรับราคาพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก และมีบางรายการสินค้าที่ได้ขยับขึ้นราคาไปแล้ว โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและภาครัฐยังปล่อยให้สูงต่อไป เอกชนอาจปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มเติมอีกแน่นอน

ดังนั้น รัฐบาลควรตรึงค่าสาธารณูปโภค เพื่อลดค่าครองชีพให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพื่อช่วยเหลือประชาชนประมาณ 1 ปี หรืออย่างน้อยอีก 3 เดือนข้างหน้า

แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน ถือเป็นการปรับขึ้นค่า Ft ครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากตรึงมาตลอด เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

กกพ. อ้างเหตุผลว่า สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เกิดภาวะพลังงานตึงตัว (energy crisis) จากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้

ค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 จึงพุ่งพรวดเป็น 48.01 สตางค์ โดยแยกรายละเอียด ประกอบด้วย 1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้า 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26%

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27% ซึ่งเป็นต้นทุนสูง ขณะที่เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) 13.92% และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68% ลิกไนต์ของ กฟผ. 7.55% และอื่นๆ อีก 6.92%

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่า Ft เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 270.80 บาทต่อล้าน BTU เป็น 376.46 บาทต่อล้าน BTU และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมาก จาก 2,386 บาทต่อตัน เป็น 2,877.69 บาทต่อตัน นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการอ่อนค่ามากทำให้ตัวเลขต้นทุนเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอีก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าว สถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างมาก กกพ. จึงนำเงินบริหารจัดการค่า Ft และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่า Ft ครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท รวมถึงนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (take or pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่า Ft ทั้งหมด 18,640 ล้านบาท จากค่า Ft ที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.18 สตางค์ จะทยอยปรับเพิ่มค่า Ft แบบขั้นบันได โดยงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 จะเพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย และทยอยปรับปรุงตามค่าจริงในรอบต่อ ๆ ไป

ขณะเดียวกัน มีการปรับค่าทางด่วนเข้ามาผสมโรงเพิ่มอีก โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง คือ รถยนต์ 4 ล้อ จัดเก็บในราคา 65 บาท จากเดิม 50 บาท รถ 6-10 ล้อ จัดเก็บในราคา 105 บาท จากเดิม 80 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จัดเก็บในราคา 150 บาท จากเดิม 115 บาท หรือมีการปรับเพิ่มระหว่าง 15-35 บาท

ทั้งนี้ หลายสำนักวิจัยต่างประเมินสถานการณ์และภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่อนคลายกฎเหล็กควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเตรียมมอบของขวัญอัดฉีดมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม และเตรียมงานเทศกาลปีใหม่ 2565 Amazing Thailand Countdown 2022 เพื่อปลุกการจับจ่ายขนานใหญ่ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ Omicron

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ธันวาคม 2564 : อยู่กับโควิดในโลกยุคดิจิทัล โดยยังประมาณการจีดีพีไทยในปี 2564 เติบโตที่ 1.0% เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัว มาตรการเยียวยาของภาครัฐ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ การกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าเป้าหมายและคาดว่าจะเข้าสู่ระดับ 70% ในปลายปีนี้ แต่การบริโภคของภาคเอกชนยังคงอ่อนแออันเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปีนี้ แม้เพิ่งมีการเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้

ส่วนปี 2565 ประมาณการจีดีพีไทยเติบโตที่ 3.9% และ 4.3% ในปี 2566 โดยมีภาคการส่งออกสินค้าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ของโลก รวมถึงมาตรการการให้เงินเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ โดยคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเกือบ 4% ในปี 2565 และ 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ที่ 1.0% แต่การบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และภาคการลงทุนภาครัฐ-เอกชนจะยังไม่สูงนัก

ที่สำคัญ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเกาะอยู่ในกลุ่มล่างของภูมิภาคในระดับใกล้เคียงกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนกลุ่มการฟื้นตัวระดับบนจะเป็นประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เวิลด์แบงก์ยังระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปีหน้า แต่มี 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ การระบาดกลับมาของโควิด หรือการกลายพันธุ์ใหม่ นโยบายการท่องเที่ยวในระดับโลกเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และปัญหา Global Supply chain disruption โดยมองกรณี down side เช่น มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรง ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง คาดการณ์จีดีพีในปีหน้าติดลบ 0.3% และการกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดต้องล่าช้าอีก 1 ปี

ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด โดยเฉพาะผลกระทบต่อปากท้องประชาชนจึงยังคงเป็นปมปัญหาใหญ่ของรัฐบาล สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือ สถิติการปล้นชิงทรัพย์ ฉ้อโกงทุกรูปแบบ และสถิติการฆ่าตัวตาย ทุกเคสล้วนชี้ชัดถึงพิษเศรษฐกิจและการรอวันพลิกฟื้นอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น