วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > โอกาสทองของไทยกับ FTA ใหม่ หนุนการค้าระหว่างประเทศโต

โอกาสทองของไทยกับ FTA ใหม่ หนุนการค้าระหว่างประเทศโต

ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขยายตัวสูงถึง 17.4 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่า 22.738.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเป็นการโตต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนผลักดันการส่งออก และมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการบริโภค

สินค้าที่ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดส่งออกของไทยได้แก่ สินค้าเกษตร อาหาร โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ

การขยายตัวของภาคการส่งออกคงจะพอทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ยิ้มได้ แม้ว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังคงประสบกับสภาวะชะลอตัว ซบเซา แม้จะมีหลายสถาบันที่มักจะออกมาประเมินและวิเคราะห์สภาพการณ์ของตลาดไทยและตลาดโลก มองไปในทิศทางเดียวกันว่า สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาดังเช่นก่อนโควิดระบาดอาจจะต้องใช้เวลานาน หรืออย่างน้อยช่วงปลายปี 2565 น่าจะพอมองเห็นอนาคตที่สดใสขึ้นบ้าง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยทั้งปี น่าจะขยายตัวได้มากกว่าที่คาด 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเติบโตที่เกิดจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ถึงกระนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกที่ต้องระวัง เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า และสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ในยุโรปที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยออสเตรียเป็นประเทศแรกที่กลับมาประกาศล็อกดาวน์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดยการนำยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ มาตรการส่งเสริมการส่งออกในระยะถัดไป ได้แก่ การผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไทยให้มีคุณภาพอันดับ 1 ของโลก ตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยปี 2564-2567 การเร่งรัดความตกลง RCEP ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว หลังจากที่ไทยยื่นสัตยาบันแล้ว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าไทย

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังจัดทำ 5 ยุทธศาสตร์ที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมส่งออกของไทยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 จะเร่งผลักดันส่งออกสินค้า BCG หรือ Bio Circular Green Economy ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก โดยมีกลุ่มสินค้าเป้าหมาย เช่น อาหารแห่งอนาคต ได้แก่ อาหารฟังก์ชันเพื่อสุขภาพ อาหารนวัตกรรมใหม่ อาหารทางการแพทย์ และอาหารออร์แกนิก รวมถึงสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่แค่อาหาร รวมถึงแฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องสำอาง สินค้าไลฟ์สไตล์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าและอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเน้นการรักษาตลาดเดิม เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปิดตลาดใหม่ มีเป้าหมายเจาะยุโรป 14 ประเทศ (เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราขอาณาจักร เบลเยียม สาธารณารัฐเชก ออสเตรีย ฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ ฮังการี และอิตาลี) เอเชียและตะวันออกลาง 6 ประเทศ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) และภูมิภาคอเมริกา 2 ประเทศ (แคนาดาและชิลี) ฟื้นฟูตลาดเก่าที่สูญเสีย เช่น อิรัก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน แอฟริกาเหนือ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการเจาะตลาดเมืองรอง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก เช่น thaitrade.com การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และเพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศ เพื่อผลักดันสินค้าไทยขึ้นขายบนแพลตฟอร์มและเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้โดยตรง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 จะเดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เน้น upskill reskill และการสร้าง new skill ให้ผู้ประกอบการทุกระดับความพร้อมในทุกภูมิภาค โดยพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนจนออกสู่ตลาดต่างประเทศได้

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมฯ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการของไทย

นอกจาก 5 ยุทธศาสตร์ข้างต้นแล้ว ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศได้ดีขึ้น นั่นคือ FTA ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ โดย RCEP ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนก์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี เปรู อินเดีย และฮ่องกง รวมมูลค่า 253,212.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.2 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นสัดส่วน 63.6 เปอร์เซ็นต์ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่า 123,693.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.2 เปอร์เซ็นต์ และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 129,518.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.8 เปอร์เซ็นต์

ความหวังใหม่ของการส่งออกไทยคือ การเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่กับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตล์ และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ประกอบไปด้วย รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดทำ FTA กับกลุ่มประเทศ

และยังมี FTA ที่เจรจาค้างอยู่ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งเป้าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 คือ FTA ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา

ความสำคัญของ FTA ไทย-ตุรกี จะช่วยให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์ ได้แก่ สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้เมืองร้อน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ตุรกีเป็นตลาดที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป ด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจการค้าและยังมีความตกลงสหภาพศุลกากรกับอียู ถือเป็นความตกลงที่มีความเข้มข้นทางเศรษฐกิจการค้า และยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ เป็นประตูสู่ 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออก

ปี 2563 การค้าระหว่างไทย-ตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น

ด้าน FTA ไทย-ปากีสถาน จะสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.18-0.32 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 5 ของตลาดปากีสถาน ปัจจุบันถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 30-100 เปอร์เซ็นต์ เคมีภัณฑ์ 0-20 เปอร์เซ็นต์ เหล็ก 3-30 เปอร์เซ็นต์ ผักและผลไม้ 16-20 เปอร์เซ็นต์

หากข้อเจรจา FTA ไทย-ปากีสถานลุล่วงไปได้ด้วยดี จะทำให้ไทยสามารถใช้ปากีสถานเป็นฐานการผลิตเพื่อเจาะตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและจีนได้ เนื่องจากปากีสถานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมากกว่า 22 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงอิสลามาบัด และ 4 แคว้นของปากีสถาน โดยนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี ได้รับการยกเว้นภาษีสินค้าทุน และได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

ในภูมิภาคเอเชียใต้ ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากอินเดีย โดยการค้ารวมระหว่างไทยและปากีสถานในปี 2563 อยู่ที่ 1,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และนำเข้าจากปากีสถาน 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น

FTA ไทย-ศรีลังกา หากสำเร็จจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับไทยในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยศรีลังกามีศักยภาพทางการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากศรีลังกาตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์กลางมหาสมุทรอินเดีย มีท่าเรือสำคัญ คือ ท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นช่องทางที่ไทยสามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ในขณะเดียวกันไทยสามารถเป็นช่องทางขยายการค้าของศรีลังกาไปสู่อาเซียนได้

นอกจากนี้ ศรีลังกายังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Roaf Initiative) ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของศรีลังกาในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค และศรีลังกายังมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อาทิ อัญมณี และสัตว์น้ำ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ ปัจจุบันศรีลังกามีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในกิจการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า FTA ที่เจรจาคงค้างดังกล่าวจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาจากประโยชน์ที่ไทยและประเทศคู่ค้าจะได้รับแล้ว น่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศสดใสมากขึ้น

ใส่ความเห็น