วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
Home > Life > เพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง

เพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง

ต้นไม้หนึ่งต้นปล่อยก๊าซออกซิเจนได้ถึง 200,000-250,000 ลิตร/ปี ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี สามารถดูดซับความร้อนจากบรรยากาศและลดอุณหภูมิรอบบ้านลงได้ 3-5°C อีกทั้งยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี และยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศและกรองสารพิษในอากาศได้อีกด้วย

จะเห็นว่าต้นไม้เพียงหนึ่งต้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ได้นานัปการ พื้นที่สีเขียวคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตผู้คนในสังคม สวนหย่อมและสวนสาธารณะที่กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ ต่างทำหน้าที่เสมือนปอดที่ช่วยฟอกอากาศให้กับผู้อาศัย อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้ได้ออกไปสูดอากาศนอกตัวอาคาร และเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย ที่ช่วยพัฒนาทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กับผู้อยู่อาศัยในเมือง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเติบโตของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง ทำให้ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารสำนักงาน และถนนหนทาง

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมสำหรับเมืองใหญ่ไว้ที่ 9 ตารางเมตร/คน ในขณะที่กรุงเทพมหานครที่ถือเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ยังคงพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนยวดยานพาหนะและประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นสวนทางกับพื้นที่สีเขียวที่ลดน้อยถอยลง ทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ยังคงน้อยกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 กรุงเทพฯ มีจำนวนสวนสาธารณะทั้งสิ้น 8,819 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 40,816,665 ตารางเมตร โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก

ในขณะที่จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ (จากสำนักทะเบียนราษฎร์) อยู่ที่ราวๆ 5,588,222 คน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.30 ตร.ม./คน ซึ่งยังคงต่ำกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด โดยมีเขตที่มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยกว่า 2.0 ตารางเมตร/คน อยู่ 2 เขตคือ เขตวังทองหลาง 1.90 ตารางเมตร/คน และเขตวัฒนา 1.94 ตารางเมตร/คน ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานและเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคมจึงถือเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วน

ที่ผ่านมามีความพยายามในการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นผ่านทางนโยบายและโครงการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ยังคงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง อย่างโครงการ “มหานครสีเขียว: Green Bangkok 2030” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายเพื่อผลักดันกรุงเทพฯ สู่เมืองสีเขียว โดยการสร้างสวนและพื้นที่เขียวริมทาง ซึ่งระยะแรกประกอบด้วย 11 พื้นที่นำร่องกระจายทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ 1. สวนปิยะภิรมย์ 10 ไร่, 2. สวนสันติพร 2.5 ไร่, 3. สวนต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร 18 ไร่, 4. พื้นที่สีเขียวภายใน ปตท. สำนักงานใหญ่ 0.75 ไร่, 5. สวนภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล) 37 ไร่, 6. สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร 2 ไร่, 7. สวนชุมชน เขตบางรัก 0.5 ไร่, 8. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 70 ไร่, 9. พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช 5.4 ไร่, 10. พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช–วงแหวนรอบนอก และ 11. แนวถนนพหลโยธิน (ห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยฯ)

โดยมีเป้าหมายกระจายพื้นที่สีเขียวไปตามพื้นที่ต่างๆ ของเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวได้ในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินเพียง 5 นาที เพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากรให้ได้ 10 ตารางเมตร/คน และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองเป็นร้อยละ 30 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ถ้าโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ แน่นอนว่าเราจะสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างไม่ยากนัก โดยที่ผ่านมาเราคงได้เห็นโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงสวนสาธารณะต่างๆ ออกมาให้เห็นกันเป็นระยะ เช่น

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” สวนสาธารณะลอยฟ้ากลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่นำเอาโครงสร้างของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 30 ปี มาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มต้นไม้นานาชนิด และปรับทางสัญจรเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อน ออกกำลังกาย และสามารถเดินชมวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกด้วย ถึงแม้จะมีความยาวเพียง 280 เมตร และกว้างเพียง 9 เมตร แต่นับว่าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาถูกใช้งานได้อย่างคุ้มค่าแทนที่จะปล่อยเป็นสะพานด้วนอย่างที่เคยเป็นมา

“สะพานเขียว” สกายวอล์กแห่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ ที่ได้รับการปรับปรุงจากสภาพทรุดโทรมสู่ทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ จนกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่น และแลนมาร์กแห่งใหม่ของเมืองที่ใครๆ ต่างพากันมาถ่ายรูปเช็กอิน

“สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” อีกหนึ่งโครงการในแผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ใจกลางย่านสาทรของกรุงเทพฯ โดยการปรับพื้นที่ริมคลองช่องนนทรีทั้งสองฝั่งจากคลองระบายน้ำสู่สวนสาธารณะที่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตบางรัก สาทร และยานนาวา โดยมีการปลูกต้นไม้ สร้างจุดนั่งพักผ่อน ลานกิจกรรม และพื้นที่ออกกำลังกายเพิ่มเติม ทั้งลู่วิ่ง ทางจักรยาน และเครื่องออกกำลังกาย ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นอีก 4.5 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วกว่า 42% โดยจะเปิดเฟสแรกภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 นี้ และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2565

และล่าสุดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของสวนเบญจกิติโฉมใหม่ที่ดูร่มรื่นสวยงามเริ่มปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อออนไลน์หนาตามากขึ้น และเป็นการเชื้อเชิญให้เราไปเยี่ยมเยียนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

สวนสาธารณะเบญจกิติเป็นสวนขนาดใหญ่อยู่ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในพื้นที่ของโรงงานยาสูบเดิม โดยมีสะพานเขียวเป็นทางเดินเชื่อมต่อไปยังสวนลุมพินี ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันสวนเบญจกิติกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อขยายพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงโดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร, กองทัพบก, โรงงานยาสูบ และกรมธนารักษ์ เพื่อเป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

โครงการปรับปรุงสวนเบญจกิติครั้งนี้จะมีการสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่บำบัดน้ำเสีย แปลงนาสาธิต ลานจัดกิจกรรม พื้นที่ป่าและแหล่งรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ไว้มากมาย โดยคาดว่าจะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 450 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือสวนน้ำ เนื้อที่ 130 ไร่ และสวนป่า เนื้อที่ 320 ไร่ ซึ่งคาดว่าโครงการปรับปรุงครั้งนี้จะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2565

อาจกล่าวได้ว่า จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการเพิ่มและพัฒนาคุณภาพพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ และหวังว่าเมื่อโครงการแล้วแสร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ เราจะมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่ายให้ได้พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น