วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ปัญหาที่ไม่ควรถูกเมินเฉย

ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ปัญหาที่ไม่ควรถูกเมินเฉย

“การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก” เป็นข่าวคราวที่ไม่เคยห่างหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งที่เกิดจากคนในครอบครัว โรงเรียน หรือคนแปลกหน้า และนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงและไม่ควรถูกเมินเฉยจากสังคม ตัวเลขเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวยังคงไม่ลดน้อยถอยลง และในบางกรณียังสร้างความสะเทือนใจให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กโดยตรง และยังสร้างรอยแผลเป็นระยะยาวในชีวิตของเด็กจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวไว้ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลยทอดทิ้ง และการถูกแสวงประโยชน์ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก ตั้งแต่อาการบาดเจ็บทางกาย พัฒนาการ ความสามารถในการเรียนรู้ และผลการเรียนของเด็ก
นอกจากนั้น ยังส่งผลเสียระยะยาวที่ติดตัวเด็กไปจนเป็นผู้ใหญ่ ในประเทศไทย มีเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ถูกละเลยทอดทิ้งเป็นจำนวนไม่น้อย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ในขณะที่ ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้เปิดเผยถึงสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิฯ ประจำปี 2563 (ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 25 ธันวาคม 2563) รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 10,147 ราย ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นปัญหาการข่มขืนและกระทำอนาจารมากถึง 863 ราย (ซึ่งเป็นทั้งเด็กและสตรี) เพิ่มมากกว่าปี 2562 ถึง 77 ราย ร้องทุกข์เฉลี่ยวันละ 2.40 ราย เพิ่มขึ้นราวๆ 9.8% จากสถิติดังกล่าวพบว่า ผู้ถูกล่วงละเมิดที่เป็นเด็กอายุ 0-5 ปี มีจำนวน 28 ราย และอายุ 5-10 ปี อีก 94 ราย ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง มิหนำซ้ำอาจเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น และเชื่อว่ายังมีการล่วงละเมิดอีกมากที่ยังไม่ได้รับรายงาน

จากหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เราพบว่าผู้ล่วงละเมิดต่อเด็กมักเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ มีอำนาจเหนือเด็ก และสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้โดยง่าย เช่น ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู เป็นต้น ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดจากบุคคลในครอบครัวนั้นมักเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและมีผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรง จากสถิติของมูลนิธิปวีณาฯ พบว่า ผู้ที่กระทำส่วนใหญ่มักเป็นคนรู้จัก/แฟน/เพื่อน 340 ราย, ผู้กระทำเป็นญาติ/คนในครอบครัว/พ่อเลี้ยง 241 ราย และผู้กระทำเป็นคนข้างบ้าน 44 ราย

แต่ปัญหาหลักคือ มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อในสิ่งที่เด็กพูดและหาว่าเด็กโกหก ซึ่งนั่นเป็นการผลักให้เด็กเผชิญปัญหาตามลำพังและทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นรุนแรงยากเกินแก้ไข สิ่งที่ผู้ปกครองตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องพึงกระทำคือ เมื่อเด็กบอกว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เชื่อไว้ก่อนว่าเป็นความจริง และพยายามสอบถามหาทางแก้ไข แต่ในบางกรณีเด็กบางคนอาจไม่กล้าบอกเมื่อถูกล่วงละเมิด สิ่งที่บ่งชี้ได้คือพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ซึมเศร้า ไม่ร่าเริง หรือหวาดระแวง ซึ่งผู้ปกครองและคนใกล้ชิดสามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ได้

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้ระบุถึงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้

การล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส ได้แก่ การเปิดอวัยวะเพศให้เด็กดู, การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊, การสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเด็ก, การทำกิจกรรมทางเพศให้เด็กดู

การล่วงละเมิดโดยการสัมผัส ได้แก่ การสัมผัสกอดจูบลูบคลำร่างกายหรืออวัยวะเพศของเด็ก, การให้เด็กลูบคลำจับต้องอวัยวะเพศของผู้ใหญ่ หรือให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้, การสอดใส่อวัยวะเพศหรือสิ่งของอย่างอื่นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือ ทางปากของเด็ก

การใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์ ได้แก่ การใช้เด็กในการถ่ายภาพหรือวิดีโอโป๊, การใช้เด็กค้าประเวณี

ผลกระทบของการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับเด็ก
การล่วงละเมิดทางเพศนั้นได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางอารมณ์ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญและฝังลึก เช่น เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า, รู้สึกผิดและคิดว่าตนเองมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบในการเปิดเผยความลับและทำให้ครอบครัวแตกแยก ซึ่งความรู้สึกผิดนี้เอง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่กล้าบอกผู้ปกครองว่าตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ, เกิดความกลัว ซึ่งสามารถแสดงออกมาให้เห็นจากอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ หรือฝันร้าย, เด็กจะขาดความไว้วางใจผู้อื่น ซึมเศร้า เสียความภูมิใจในตนเอง และขาดทักษะทางสังคม เนื่องจากไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างรอยแผลให้กับเด็กและจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กควรได้รับการบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

รับมืออย่างไร?
สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย เผย 6 ขั้นตอนสำหรับผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับมือเมื่อต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

1. ตั้งสติ โดยไม่แสดงอาการตกใจ โกรธ เสียใจ เพื่อทำให้เด็กอยากเล่าเหตุการณ์และเกิดความมั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ และรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กด้วย หากแสดงท่าทีตกใจ โกรธ อาจเป็นการทำให้เด็กกลัวว่าจะได้รับความเดือดร้อนและไม่มั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้

2. รับฟัง ไม่ขัด ไม่โต้แย้งเด็ก เมื่อเด็กเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขารู้สึกสบายใจและกล้าที่จะเล่า

3. ถามหาผู้กระทำ แต่ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะบอกว่าผู้กระทำเป็นใครควรใช้วิธีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ หรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะทำได้ แต่ “หลีกเลี่ยงการคาดคั้นข้อมูลจากเด็ก”

4. เก็บและรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิด ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย ภาพถ่ายร่องรอยการถูกกระทำ หรืออื่นๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้เป็นหลักฐาน และห้ามชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษา เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการกระทำผิดของผู้กระทำ

5. ขอความช่วยเหลือ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สายด่วน 191, สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โดยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำ เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ทราบ

6. ตรวจรักษา หากเด็กถูกกระทำมาเป็นเวลาหลายวันควรนำเด็กไปตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์

ไม่เพียงผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ในฐานะสื่อมวลชนเองก็มีบทบาทในการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กด้วยเช่นกัน กระบวนการทำข่าวต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและไม่เป็นการละเมิดหรือทำร้ายเด็กซ้ำเติมเพิ่มขึ้นไปอีก อีกทั้งไม่ควรขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวของเด็กออกมาเผยแพร่เพื่อเคารพสิทธิ์ของเด็ก

นอกจากการรับมือและแก้ปัญหาแล้ว สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการป้องกันมิให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การดูแลเอาใจใส่เด็กทั้งในฐานะผู้ปกครอง ครู ญาติ และคนคนหนึ่งในสังคม รวมถึงการเคารพสิทธิในร่างกายของเด็ก เพื่อป้องกันไมให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่พึงกระทำ เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วแม้ผลกระทบทางร่างกายจะรักษาให้หายได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อจิตใจของเด็กอาจยากที่จะแก้ไข

ใส่ความเห็น