ค่านิยมในการทำงานที่หลายคนเคยคิดว่า ยิ่งทุ่มเทยิ่งดี หรือทำงานหนักแบบถวายชีวิตให้องค์กร อาจไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริงอีกต่อไป เพราะการทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานชนิดที่ว่า แทบไม่เคยเห็นแสงยามรุ่งอรุณ หรือยามอาทิตย์อัสดง เมื่อต้องออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่สว่าง และกลับถึงบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ชีวิตส่วนตัวอาจบกพร่อง
หลายคนพยายามมองหาความพอดี พอเหมาะ เพื่อที่จะได้สร้างสมดุลในชีวิต เมื่องานยังคงมีความสำคัญในชีวิตเพราะเป็นแหล่งรายได้หลัก ในขณะที่ชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตครอบครัวยังต้องประคองรักษาไว้ให้ดี ทว่า การสร้างสมดุลระหว่างสองส่วนนี้อาจไม่ง่ายเลย
Work Life Balance คือสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะให้เกิดขึ้นในช่วงชีวิต แต่ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าการสร้างสมดุลชีวิตการทำงานนี้มีองค์ประกอบที่ต้องทำความเข้าใจหลายด้าน
หลายคนอาจใช้ทฤษฎี 8-8-8 โดยแบ่งเวลาใน 24 ชั่วโมง และใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวกำหนด คือการทำงาน 8 ชั่วโมง สันทนาการ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง หรือเข้าใจง่าย ๆ คือ งาน 50 ใช้ชีวิต 50
นับเป็นทฤษฎีที่ง่าย และน่าจะปฏิบัติได้ไม่ยากนัก แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนวัยทำงานส่วนใหญ่แทบจะคิดถึงงานอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้ง งานก็คิดถึงเราตลอดเวลา เช่น เมื่อเราเลิกงานกลับถึงบ้าน หลายคนยังต้องหอบหิ้วงานกลับมาทำต่อที่บ้าน บางครั้งเจ้านาย หรือลูกค้าอาจโทรมาสั่งงานหรือขอคำปรึกษา แน่นอนว่าการปฏิเสธไม่อาจทำได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้สมดุลเปลี่ยนจาก 50-50 เป็น 70-30 หรือมากกว่านั้น
การรักษาสมดุลไม่อาจเกิดขึ้นจากฝั่งของคนทำงานหรือตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว ด้านองค์กรหรือต้นสังกัดเองควรให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลนี้เช่นกัน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย
ก่อนอื่น ทั้งในส่วนขององค์กรเองต้องทำความเข้าใจและยอมรับก่อนว่า การที่พนักงานทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ นั่นไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพ แม้ว่างานจะลุล่วงเป้าหมายแต่ผลเสียที่ตามมาจากการทำงานอย่างหนักเป็นเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้ชีวิตของพนักงานในองค์กรนั้นๆ ขาดสมดุล ที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ สภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย และในที่สุดองค์กรอาจเสียพนักงานระดับคุณภาพไปด้วยเช่นกัน
กระนั้นก็ต้องยอมรับด้วยว่า วัฒนธรรมของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการสร้างสมดุลด้วยเช่นกัน
Work Life Balanck จึงไม่ใช่เรื่องของคนทำงานเพียงฝ่ายเดียว องค์กรต้องไม่ผลักภาระไปให้คนทำงานอย่างไม่สมเหตุสมผล คาดหวังผลงานจนเกินความเป็นจริง
นอกจากนี้ “จุดสมดุลในวันนี้อาจไม่ใช่คำตอบของวันพรุ่งนี้” นั่นเพราะเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น ความต้องการส่วนลึก ความฝัน ความคิด แม้แต่ตัวคนคนเดียวก็อาจมีเงื่อนไขแตกต่างไปในละช่วงวัย ช่วงเวลา
เช่น ช่วงวัยที่เพิ่งเริ่มต้นการทำงาน อาจพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานแบบเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้องค์กรเห็น แบ่งเวลาเพื่อตัวเองเพียงเล็กน้อย
และเมื่อเริ่มมีครอบครัว เงื่อนไขที่เคยนำมาใช้สร้างสมดุลก่อนหน้านั้นอาจเปลี่ยนไป เมื่อต้องทุ่มเทเวลาให้งาน อีกทั้งยังต้องจัดสรรเวลามาดูแลตัวเอง และสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น หรือเมื่อบุพการีเริ่มสูงวัย เข้าวัยเกษียณ เงื่อนไขของเราอาจเปลี่ยนไปอีก เมื่อมีคนที่ยังต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
Work Life Balance จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ละคนจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามช่วงเวลา และเงื่อนไขที่มี
นอกจากนี้ หลายครั้งที่คนทำงานเองหลงลืมที่จะจัดลำดับความสำคัญของงาน รวมไปถึงการไขว่คว้าทุกสิ่งที่เข้ามา เช่น ตอบรับทุกโปรเจกต์ เข้าร่วมทุกโครงการ โดยลืมนึกถึงการจัดสรรเวลาที่ควรแบ่งให้เหมาะสมทั้งงาน และชีวิตส่วนตัว
ดังนั้นสิ่งที่คนที่ต้องการสร้าง Work Life Balance ควรทำคือ 1. หาต้นเหตุความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น เช่น เกิดจากการจัดสรรเวลาไม่เหมาะสมระหว่างงานและชีวิต 2. พิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพิ่ม เช่น รูปแบบการทำงาน บางครั้งแม้จะเปลี่ยนเส้นทางบ้างแต่ไปถึงเป้าหมายไม่ต่างกัน 3. แลกเปลี่ยนพูดคุยกับบุคคลอื่นๆ เพื่อหาแนวทางแบ่งเบาภาระที่เกินกำลังอยู่ในขณะนี้ เช่น การเลือกที่จะเข้าร่วมเฉพาะบางโปรเจกต์
ขณะที่องค์กรเองควรมีส่วนในการสร้าง Work Life Balance ด้วยการ 1. สร้างความยืดหยุ่นในการเข้าออกงาน การยึดติดกับเวลาเข้า-ออกงาน ไม่ได้เป็นตัวการันตีผลงานได้ บางองค์กรที่ไม่ยึดติดกับเรื่องงาน แต่กลับได้ผลงานที่มีคุณภาพมากกว่า 2. จัดพื้นที่สำหรับพนักงานได้หย่อนใจ หรือจัดกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน สันทนาการเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยคลายความตึงเครียดจากงานได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า หากพนักงานปราศจากความเครียดแล้วย่อมส่งผลให้งานที่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. การจัดประชุมนอกสถานที่ และ Outing เป็นการช่วยกระตุ้นความคิดนอกกรอบ หรือสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากขึ้น 4. บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้พนักงานในองค์กรลดโอกาสที่จะป่วยจากความเครียดสะสม ทั้งจากการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว แรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
การสร้าง Work Life Balance นั้น ส่งผลดีทั้งต่อตัวบุคคล พนักงาน และองค์กร เพราะเมื่อใดก็ตามที่บุคคลสามารถสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้แล้ว องค์กรเองจะได้มีพนักงานที่มีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น