วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > มูลนิธิ SOS กับภารกิจ กอบกู้ “อาหารส่วนเกิน” เติมเต็มความหิว

มูลนิธิ SOS กับภารกิจ กอบกู้ “อาหารส่วนเกิน” เติมเต็มความหิว

ทุกวันนี้โลกของเราผลิตอาหารที่มากพอจะเลี้ยงคนได้ถึงหมื่นล้านคน ในขณะที่ประชากรบนโลกมีเพียง 7.8 พันล้านคน แต่กระนั้นยังมีกลุ่มคนอีกกว่า 1 พันล้านคนที่ยังขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ได้ ในขณะที่เราผลิตอาหารได้จำนวนมาก แต่ทำไมยังมีผู้คนที่ขาดแคลนและหิวโหยอยู่จำนวนไม่น้อย? “อาหารส่วนเกิน” ที่ถูกผลิตขึ้นมาเหล่านั้นถูกส่งไปที่ใด?

รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งราวๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ที่กลายเป็น “ขยะอาหาร” ทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ถูกนำไปทิ้งในบ่อฝังกลบ หมักหมมจนก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และถ้าขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สังคมให้ความสำคัญ ขยะอาหารที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถนำอาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปส่งต่อให้กับผู้ที่ขาดแคลน เพื่อทำให้อาหารที่ผลิตออกมามีประโยชน์อย่างสูงสุด แทนที่จะกลายเป็นขยะอาหารที่สูญเปล่าและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

“สาเหตุหลักของอาหารเหลือทิ้งหรือขยะอาหารคือการจัดการอาหารที่ไม่เป็นระบบ การซื้อกักตุนไว้เกินความจำเป็น มาตรฐานการบริโภค การคัดมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ต้องดูดีสวยงาม ทำให้บ่อยครั้งอาหารที่ยังบริโภคได้ ผัก ผลไม้ ที่รูปร่างไม่สวยต้องถูกทิ้งเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งการจะแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งอย่างยั่งยืนนั้น คือการสร้างทัศนคติที่ดี ตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการบริโภค รวมถึงสร้างระบบการจัดการอาหารเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมูลนิธิ SOS มองเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปยังผู้ที่ขาดแคลน โดยใช้ระบบโลจิสติกส์ที่เรามีความชำนาญ พร้อมสร้างจิตสำนึกในการบริโภคไปพร้อม ๆ กัน” ฝ้าย-ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360” ถึงสาเหตุของอาหารเหลือทิ้งและบทบาทของหน่วยกู้ชีพอาหารส่วนเกินกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างมื้ออาหารให้กับผู้ขาดแคลนได้อิ่มท้องมาแล้วกว่า 11 ล้านมื้อ

มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance: SOS) หรือ เอสโอเอส ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดย มร. โบ เอช โฮล์มกรีน (Mr. Bo H. Holmgreen) นักธุรกิจด้าน Logistics Software ชาวเดนมาร์ก ที่ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยและพบว่าตามร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ มีการทิ้งอาหารที่ยังบริโภคได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเห็นว่าไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีช่องว่างระหว่างอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ขาดแคลน จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิเอสโอเอสขึ้นเพื่อเป็นการปิดช่องว่างระหว่างผู้ที่ขาดแคลนหรือไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันได้ กับกลุ่มธุรกิจที่มีอาหารส่วนเกิน

“Food Rescue” กอบกู้อาหารส่วนเกิน พร้อมส่งต่อให้กับผู้ขาดแคลน คือภารกิจหลักที่เอสโอเอสได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยในทุกๆ เช้ารถเก็บความเย็นของมูลนิธิพร้อมกล่องสำหรับบรรจุอาหารจะตระเวนไปรับอาหารจากผู้บริจาคที่ทางมูลนิธิเรียกว่า “พาร์ตเนอร์” ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิตหรือนำเข้าอาหาร พร้อมตรวจความเรียบร้อยแยกประเภทพร้อมบันทึกรายละเอียดทั้งประเภท จำนวน น้ำหนัก และบรรจุลงกล่อง ก่อนนำไปส่งมอบให้กับชุมชนที่ขาดแคลนในตอนเย็น ซึ่งอาหารจะส่งถึงมือผู้รับโดยไม่ถูกเก็บค้าง

โดยเกณฑ์การรับอาหารของเอสโอเอสคืออาหารเหล่านั้นต้องยังรับประทานได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากไลน์บุฟเฟต์ จากห้องจัดเลี้ยง ผักสด ผลไม้ เบเกอรี่ และอาหารอื่นๆ แต่จะไม่รับอาหารที่อยู่ในกลุ่ม Red Zone ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสื่อมเสีย เช่น อาหารทะเล อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ อาหารกระป๋องที่บุบ ยุบ เป็นต้น

ปัจจุบันเอสโอเอสมีสาขาอยู่ใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภูเก็ต และอีกหนึ่งสาขาอยู่ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เฉพาะในประเทศไทยมีผู้ให้บริจาคมากกว่า 400 ราย มีชุมชนที่อยู่ในโครงการราวๆ 400 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเอสโอเอสได้สร้างมื้ออาหารให้ผู้คนได้อิ่มท้องมาแล้วกว่า 11 ล้านมื้อ แต่แน่นอนว่าการเดินทางจากวันแรกจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ช่วง 2-3 ปีแรกถือเป็นช่วงที่ต้องสร้างความเข้าใจเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เอสโอเอสทำ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย คำถามที่เราเจอบ่อยที่สุดคือ ทำไมไม่เอาเงินไปซื้ออาหารแล้วนำไปบริจาคเสียให้จบๆ ไป ทำไมต้องนำเงินไปซื้อรถเก็บความเย็นแล้วค่อยไปรับบริจาคอาหารอีกที คำตอบของเราคือ ในเมื่ออาหารมันมีอยู่แล้ว ทำไมเราต้องเอาเงินไปซื้อใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตที่เกินความจำเป็นและสุดท้ายไปจบที่ถังขยะ อีกทั้งต้นทุนการดำเนินงานของเอสโอเอสยังถูกกว่าการนำเงินไปซื้ออาหารใหม่มาก เราวัดโดยการชั่งน้ำหนักอาหารที่ได้รับบริจาคมา คำนวณเป็นมื้ออาหาร ก่อนนำไปคำนวณหาค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถของทางมูลนิธิปล่อยออกไป บวกกับค่าดำเนินการอื่นๆ ทั้งค่าน้ำมัน ทางด่วน ค่าดูแลรักษา ค่าตอบแทนพนักงาน เมื่อคำนวณทุกอย่างแล้ว ต้นทุนอาหารต่อมื้อของเอสโอเอสจะอยู่ที่มื้อละ 1 บาทกว่าๆ เท่านั้น” ธนาภรณ์เล่าถึงความท้าทายในการดำเนินงานของเอสโอเอส

ประเด็นเรื่องขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน ตลอดจนการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับผู้ขาดแคลน ถือเป็นแนวคิดใหม่ของเมืองไทย เพราะฉะนั้นช่วง 3 ปีแรกของการทำงานจึงเป็นช่วงการให้ความรู้และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้บริจาค ผู้รับบริจาค และตัวของเอสโอเอสเอง เริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ อะไรที่ยังสามารถบริโภคได้ อะไรที่จะเอาไปทำปุ๋ย ทำให้เห็นผู้บริจาคเห็นว่า “อาหารส่วนเกิน” คืออะไร

ก่อนจะนำไปสู่การกำหนดเกณฑ์การรับบริจาค ซึ่งเอสโอเอสต้องสร้างมาตรฐานให้ผู้บริจาคมั่นใจว่าสามารถจัดการอาหารที่ได้รับบริจาคมาอย่างถูกต้องตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย (Food Safety) รวมถึงมีการเซ็น MOU กับผู้บริจาค ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันว่าเมื่ออาหารออกจากมือผู้บริจาคไปแล้ว ถือเป็นความรับผิดชอบของทางเอสโอเอสทั้งหมด

ทางฟากของผู้รับบริจาค ต้องสร้างความเข้าใจในความแตกต่างระหว่าง “อาหารส่วนเกิน” กับ “ขยะอาหาร” ให้ผู้รับบริจาคได้เข้าใจว่าสิ่งที่เอสโอเอสนำไปให้ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นอาหารที่ยังบริโภคได้และมีคุณภาพ รวมถึงจัดทำคู่มือให้กับผู้รับบริจาคเพื่อแนะนำการจัดการอาหารที่ได้รับบริจาคไป เรียกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งกับผู้บริจาคและผู้รับบริจาคด้วยเช่นกัน

ซึ่งการเข้ามาเป็นตัวกลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกินของ SOS นับเป็นความสมประโยชน์ของทุกฝ่าย ในส่วนของผู้บริจาคนั้น เอสโอเอสได้เข้ามาช่วยลดภาระในการจัดการกับอาหารส่วนเกินที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจอาหาร อีกทั้งอาหารเหล่านั้นยังได้ช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง

ไม่เพียงภารกิจในการรับบริจาคอาหารส่วนเกินและส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนเท่านั้น เอสโอเอสยังมีการดำเนินงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการบริโภคและความสำคัญของอาหารเหลือทิ้งในวงกว้าง โดยได้ร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ ในการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เด็กเรียนรู้ถึงคุณค่าของอาหาร ให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นอาหารที่อยู่บนโต๊ะนั้น อาหารเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากเพียงใดกว่าจะมาเป็นอาหารให้เราได้บริโภค

 

“Compost Workshop” เรียนรู้การทำเป็นปุ๋ยหมักจากเศษผักผลไม้ สำหรับองค์กร โรงเรียน และผู้ที่สนใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่และอุปกรณ์มากมายนัก เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาหารเหลือทิ้งแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุนให้กับเอสโอเอสในการทำ CSR หรือ Team Building ให้กับองค์กรที่ต้องการอีกด้วย

“Remote Food Program” โครงการส่งต่ออาหารทางไกล โดยได้รับความร่วมมือจากลุ่มอาสาสมัคร ทหาร ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อส่งต่ออาหารที่สามารถขนส่งในระยะทางไกลๆ ได้ เช่น ผลไม้กระป๋อง นมกล่อง โปรตีน ขนม ไปให้ชุมชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลอย่างบนดอยหรือในป่าลึกที่ยากต่อการเข้าถึงได้รับสารอาหารบางอย่างที่ยังขาดอยู่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะมีฐานอยู่แค่ใน 3 จังหวัด แต่เอสโอเอสกลับสามารถส่งต่ออาหารที่มีคุณค่าไปได้ทั่วประเทศ

“Community Feeding Program” ร่วมมือกับคอมมูนิตี้มอลล์ อย่าง The Common ทองหล่อ, The Common ศาลาแดง, สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อนำตู้เก็บความเย็นของเอสโอเอสไปจัดตั้งไว้ภายในเพื่อให้ร้านค้าที่เป็นผู้เช่าในคอมมูนิตี้มอลล์นำอาหารส่วนเกินที่ขายไม่หมดมาใส่ไว้ในตู้เย็นเพื่อบริจาคได้

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าเอสโอเอสย่อมได้รับผลกระทบอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง จำนวนผู้บริจาคลดลง แต่จำนวนผู้ต้องการรับความช่วยเหลือกลับสวนทาง โรงแรม ร้านอาหาร ที่เคยเป็นผู้บริจาคปิดตัวลงทั้งที่ปิดแบบชั่วคราว และปิดอย่างไม่มีกำหนด

“เริ่มมีคนที่ส่งข้อความมาขอความช่วยเหลือเรื่องอาหารจากเอสโอเอสมากขึ้น เพราะตอนนี้เขาเดือดร้อนจริงๆ และรู้ว่าเราเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเขาได้ ที่เราทำได้คือพยายามประสานไปยังผู้ผลิตอาหารมากขึ้น เพื่อกระจายความช่วยเหลือไปให้มากที่สุด” พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายองค์กร เอสโอเอส เปิดเผย

อีกทั้งผลกระทบของโควิด-19 ยังทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมถูกฉายชัดยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้คนบางกลุ่มยังมีศักยภาพในการดำรงชีพได้ แต่คนอีกจำนวนไม่น้อยกลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ความสามารถในการหาปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก

เอสโอเอสจึงได้ตั้งโครงการ “ครัวรักษ์อาหาร” ขึ้น โดยการเปิดพื้นที่ของมูลนิธิเพื่อเป็นครัวให้ตัวแทนจากชุมชนมาทำอาหาร โดยใช้อาหารส่วนเกินที่ได้รับบริจาคมาเป็นวัตถุดิบ มีอุปกรณ์ตลอดจนสิ่งจำเป็นให้ เน้นเรื่องโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ เพื่อแจกจ่ายอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน เพราะบางบ้านมีผู้ป่วยกักตัวไม่สามารถทำอาหารได้

แต่เมื่อพบกับการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด ทำให้เอสโอเอสต้องปรับกระบวนการทำงาน โดยปิดพื้นที่ครัว แต่ใช้วิธีการให้ชุมชนยืมอุปกรณ์ในการประกอบอาหารตลอดจนวัตถุดิบที่ได้มาเพื่อนำไปประกอบอาหารที่ชุมชนแทน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พร้อมประสานขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ยากลำบาก

แม้การส่งมอบมื้ออาหารให้กับผู้ขาดแคลนและสร้างความตระหนักรู้ในการบริโภคเพื่อสร้างความมั่นคงในทรัพยากรอาหารจะเป็นภารกิจหลักและหนักของเอสโอเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ะบาดของโควิด-19 ที่เราประสบกันอยู่ การระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรก็เป็นภารกิจที่ท้าทายไม่แพ้กัน

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เอสโอเอสดำเนินการโดยใช้เงินทุนของผู้ก่อตั้งโดยตรง ประกอบกับรายได้จากผู้บริจาค การทำแคมเปญระดมทุน รวมถึงการทำ CSR และ Team Building ให้กับองค์กรต่างๆ แม้ว่าเงินทุนจากผู้ก่อตั้งยังมีอยู่ แต่แน่นอนว่าในอนาคตมันย่อมลดน้อยถอยลง ในขณะที่เอสโอเอสเองยังคงต้องการเปิดสาขาในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น การระดมทุนจึงถือเป็นงานที่ท้าทาย

ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเครือข่ายและการระดมทุน นันทพรเปิดเผยกับเราว่า “ต้นทุนส่วนใหญ่ของเราอยู่ที่การดำเนินการ อีกทั้งระบบการทำงานที่ไม่สามารถทำการลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคได้ จึงไม่ค่อยดึงดูดผู้บริจาค ภาคเอกชนและภาครัฐก็ยังไม่ค่อยให้การสนับสนุนเท่าใดนัก การระดมทุนของเราจึงเป็นโจทย์ค่อนข้างยาก”

ปัจจุบันเอสโอเอสได้ร่วมมือกับทางเทใจดอทคอม (TaeJaiDotcom) เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนในการระดมทุน โดยมีแผนในการเจรจากับภาครัฐ สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่ต้องการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือในอนาคต

ในขณะที่เอสโอเอสกำลังทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งต่อมื้ออาหารและสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม ช่วยเติมเต็มความหิวให้ผู้คนได้อย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันองค์กรเล็กๆ แห่งนี้ ก็ยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากสังคมในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อเดินหน้าสร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไปด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น