การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อย่างหนักในปี 2020 ไม่แตกต่างจากที่ไทยได้รับ
แต่ในปี 2021 ขณะที่ไทยยังคงเผชิญหน้ากับการขยายวงการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทว่า กลุ่มประเทศ CLMV กลับมีผู้ติดเชื้อลดจำนวนลง โดยล่าสุดข้อมูลวันที่ 29 มิถุนายน 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมียนมา 1,225 ราย กัมพูชา 883 ราย เวียดนาม 398 ราย และ สปป. ลาว 0 ราย
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าประเทศในกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มการเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (CLMVIP) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2020 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 หลายประเทศในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงราวร้อยละ 4-7 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ CLMVIP ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2. การส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 3. กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เข้มแข็งขึ้น
แม้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMVIP จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่คล้ายคลึงกันในรายประเทศ อาจมีลำดับการฟื้นตัวที่แตกต่าง เวียดนามมีโอกาสฟื้นตัวโดดเด่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง และรายรับจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี ผนวกกับข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรีสำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) รวมทั้งยังมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ใน CLMVIP มีระดับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่า ด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและกัมพูชาอาจฟื้นตัวเป็นลำดับถัดจากเวียดนาม แม้อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่คาดว่าภาคส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ผลบวกจากแผนการขยายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
กัมพูชาอาจได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก นำโดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป
ฟิลิปปินส์ แม้จะมีปัจจัยหนุนจากขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมากถึงร้อยละ 4 ของจีดีพี แต่การเบิกจ่ายยังเป็นไปอย่างล่าช้า และสถานการณ์การระบาดในประเทศค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และกระทบต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อบริโภคในประเทศ
สปป. ลาว มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ อีกทั้งยังขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ฟื้นตัวได้ล่าช้า
ขณะที่เมียนมาเผชิญประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในระยะนับจากนี้ และอาจมีผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะยาวหยุดชะงักลงไปได้
ในช่วงที่โควิดระบาดปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายสถาบันวิเคราะห์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจในกลุ่ม CLMV ซบเซาอย่างหนัก เมื่อต้องพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งรายได้จากการส่งออก และธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา ที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และมีรายได้ท่องเที่ยวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
และเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ศูนย์วิจัยต่างๆ แสดงผลการประเมินไปในทิศทางเดียวกันอีกครั้ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ไม่แตกต่างจากศูนย์วิจัยกรุงศรีนัก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว
เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP
ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ในส่วนของประเทศ สปป. ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงนั้นมีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV
อย่างไรก็ตาม แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะสร้างอานิสงส์ในเชิงเศรษฐกิจให้กลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นแรงกดดันที่อาจสร้างผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ความคืบหน้าด้านการฉีดวัคซีนของกลุ่มประเทศ CLMV น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะบอกได้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะชะงักหรือไม่ เมื่อมีข้อมูล (ณ วันที่ 17 พ.ค. 2564) พบว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครบโดสแล้วในระดับต่ำ โดยกัมพูชา 6.9 เปอร์เซ็นต์ สปป. ลาว 1.2 เปอร์เซ็นต์ เมียนมา 1.6 เปอร์เซ็นต์ เวียดนาม 0.02 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร เนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV ไม่สามารถจองวัคซีนได้รวดเร็วเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว จึงต้องรอความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากหลายฝ่าย เช่น วัคซีนจากความช่วยเหลือของจีน และวัคซีนในโครงการ COVAX ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการระบาดในระดับสูงที่อินเดีย ทำให้อินเดียระงับการส่งออกวัคซีนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวัคซีนในโครงการ COVAX
สำหรับการส่งออกจากไทยไป CLMV ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในไตรมาส 1 ปี 2564 ขณะที่การลงทุนทางตรงจากไทย (TDI) ไป CLMV ชะลอลงในไตรมาส 4/2563 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี การส่งออกรวมจากไทยไป CLMV ขยายตัว 0.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาด และปรับดีขึ้นเทียบกับ -12.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในไตรมาสที่ 4.2563 โดยการส่งออกไปเวียดนามเร่งตัวขึ้นเป็น 12.9 เปอร์เซ็นต์จาก 3.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน
ด้านการส่งออกไปเมียนมาหดตัว -18.5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 4.2563 ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาทั้งจากการระบาดและสถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในส่วนของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ชะลอเล็กน้อยจาก 26.1 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 3 เป็น 24.4 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 4/2563 เนื่องจากการลงทุนในเมียนมาชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน การลงทุนในเวียดนามยังคงโดดเด่น โดยเติบโตดีต่อเนื่องเช่นเดียวกับกระแส FDI ที่เข้าไปยังเศรษฐกิจเวียดนามจากทั่วโลก
เมื่อเห็นทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะด้านการส่งออกแล้ว คงไม่แตกต่างจากไทยมากนัก เมื่อไทยเองก็พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นกัน แต่สถานการณ์นี้สำหรับไทย คงมีแค่การส่งออกเท่านั้นที่จะพึ่งพาให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ ปัจจุบัน ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตที่ไม่อาจตอบได้ว่าเมื่อไหร่ไทยจะเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายได้อีกครั้ง