แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยอมผ่อนคลายให้ร้านอาหารเปิดให้นั่งรับประทานได้ถึงเวลา 23.00 น. แต่ตัวเลขการแพร่ระบาดที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ทั้งยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการดีลิเวอรี่ เหล่าแม่ค้าออนไลน์จึงต้องพลิกกลยุทธ์อีกครั้ง โดยเฉพาะการแก้เกมแอปขนส่งที่เรียกเก็บค่าคอมหรือ “GP” สูงกว่า 30%
ขณะเดียวกันตลาดสดหลายแห่งยังถือเป็นคลัสเตอร์เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อย่างในกรุงเทพฯ มีการสั่งปิดตลาดขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ตลาดกลางดินแดง ตลาดบางกะปิ ตลาดคลองเตย ตลาดสามย่าน ตลาดสดหนองจอก ตลาดสายเนตร ตลาดศาลาน้ำร้อน ตลาดลำนกแขวก
นอกจากนั้น จากการเฝ้าระวังตรวจเชิงรุกตลาดค้าส่งหลายแห่งช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 379 แห่ง มีตลาด 289 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 76 และไม่ผ่านเกณฑ์ 90 แห่ง หรือร้อยละ 24 แต่มีตลาดสดขนาดเล็กอีกจำนวนมากในชุมชนต่างๆ ซึ่งจัดพื้นที่ค้าขายเฉพาะช่วงเวลา เช่น เช้า หรือเย็น และเกือบทั้งหมดมีมาตรการควบคุมน้อยมาก อย่างน้อย 2-3 แห่งต่อเขต รวมแล้วมากกว่า 100-150 แห่ง ในกรุงเทพฯ
ตลาดสดเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ได้ทั้งสิ้น!!!
ล่าสุด จึงเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในหลายๆ ชุมชน เมื่อกลุ่มผู้ค้าร้านอาหารรายย่อยและผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์และบริการดีลิเวอรี่ภายในท้องถิ่นด้วยกัน โดยรวมตัวสร้างมาร์เก็ตเพลส ทั้งกรุ๊ปไลน์และเพจเฟซบุ๊ก เช่น ในย่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ ย่านหนองจอก คู้บอน สายไหม ลาดพร้าว ซึ่งแต่ละเพจมีผู้ค้าหลายร้อยราย บางเพจมากกว่าหลักพันราย เนื่องจากได้ทั้งยอดขายและฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
ด้านหนึ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนผู้ค้าในชุมชนด้วยกัน ซึ่งหลายคนตกงาน และขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด ตัดสินใจเปิดร้านหารายได้เสริม
อีกด้านหนึ่ง การเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าในชุมชนช่วยลดต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากผู้ค้าสามารถจัดส่งฟรีได้เอง เพราะระยะทางไม่ห่างไกล อาจอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเลือกรับ Pre-order ส่งเพียง 2 รอบ รอบเช้าและรอบเย็นรวดเดียวในเส้นทางเดียวกัน หรืออาจบวกเพิ่มเพียง 10-20 บาท ในกรณีระยะทางห่างไกล
จากเดิมจำเป็นต้องใช้บริการแอปขนส่งและถูกเรียกเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือค่าคอมมิชชั่น 25-35% แตกต่างกันตามชื่อเสียงของร้าน หากร้านอาหารร้านนั้นๆ มีชื่อเสียง เรตค่าดำเนินการอาจไม่สูงมาก แต่ร้านอาหารทั่วไปส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าดำเนินการให้แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์สูงถึง 30-35%
บางร้านอาจยอมแบกค่าดำเนินการนี้ไว้เอง แต่หลายร้านบวกเข้าไปในค่าอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ค่าอาหารแพงกว่าการเดินทางมาซื้อหน้าร้าน
ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นตัวกลางเจรจาลดค่า GP จากเดิมเฉลี่ย 30-35% เหลือ 25% โดยมีแพลตฟอร์มเข้าร่วมโครงการช่วยประชาชน 5 แพลตฟอร์ม คือ Robinhood, foodpanda, Grab, Gojek และ Lineman ยอมลดค่า GP เหลือ 25% แต่ยังถือเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับร้านอาหารระดับกลางและระดับเล็ก หรือร้านเปิดกิจการใหม่ ทำให้การจับมือกันของกลุ่มผู้ค้ากลายเป็นทางเลือกและทางรอดอย่างได้ผล
ชฎานิศ ธำรงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเพจ “หทัยราษฎร์39 ตลาดออนไลน์” กล่าวว่า เธอตัดสินใจเปิดเพจเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ในช่วงสถานการณ์โควิดรอบแรก ซึ่งทางการมีข้อกำหนดให้ตลาดนัดเปิดขายได้เฉพาะร้านขายอาหาร อาหารสด สินค้าจำเป็น แต่ห้ามร้านบางประเภท เช่น เสื้อผ้า
เวลานั้นผู้คนหวาดกลัวการติดเชื้อ หลายร้านหยุดขายชั่วคราว ทำให้ทั้งผู้ค้าและลูกค้าเจอผลกระทบ ฝ่ายหนึ่งขายไม่ได้ ขณะที่ลูกค้าหาซื้อสินค้าได้ยากขึ้น
สำหรับเพจ “หทัยราษฎร์39 ตลาดออนไลน์” ชฎานิศเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมกลุ่มฟรี ไม่เรียกเก็บค่าสมาชิกเหมือนบางเพจที่มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าสมาชิกตั้งแต่ 200-500 บาทต่อคน เช่น เพจขายเสื้อผ้ามือหนึ่งมือสอง เพจขายอาหาร เพื่อรับรหัสเปิดแชร์และแอดมินไม่มีการลบโพสต์
“เปิดเพจเดือนแรกมีสมาชิกเข้ากลุ่มเป็นพัน คนเยอะมาก เราเองทำงานประจำและหารายได้เสริมขายขนม ขายเสื้อผ้าตั้งแต่ก่อนหน้าโควิด เจอผลกระทบเหมือนกับร้านค้าต่างๆ จึงตัดสินใจเป็นแอดมินเปิดเพจทำคนเดียวทุกขั้นตอน เพราะอยู่ในช่วง Work from Home ทั้งคัดสมาชิกเข้าร่วมกลุ่ม ติดตามเนื้อหาโพสต์ กรณีโพสต์หลอกลวง หรือเจ้าของโพสต์ไม่เปิดเผยหน้าตา หรือสมาชิก Report แจ้ง แอดมินจะบล็อกทันที”
ปัจจุบันเพจ “หทัยราษฎร์39 ตลาดออนไลน์” มีสมาชิกมากกว่า 24,000 คน ทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค รวมทั้งมีรายใหม่ขอเข้าร่วมทุกวัน วันละ 100-200 ราย และเพิ่งประกาศครบรอบ 2 ปี ซึ่งจากคอมเมนต์ของกลุ่มสมาชิกต่างระบุเช่นเดียวกันว่า สามารถขยายฐานลูกค้า ได้ลูกค้าใหม่ๆ และยอดขายเติบโตชัดเจน ส่วนแม่ค้าหน้าใหม่สามารถใช้เป็นช่องทางแนะนำร้าน ทั้งภาพและเสียงฟรีๆ
ที่สำคัญ สามารถลดต้นทุนค่าขนส่ง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนหรือในย่านเดียวกัน ระยะทางห่างจากร้านไม่มาก แม่ค้าสามารถบริการส่งฟรี โดยไม่จำเป็นต้องใช้แอปขนส่ง ซึ่งเก็บค่า GP ค่อนข้างสูง และการไม่บวกค่าอาหารทำให้ลูกค้านิยมสั่งมากขึ้นอย่างชัดเจน
“เพจขยายฐานไปอย่างมาก จากเดิมคิดแค่รองรับกลุ่มร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ตอนนี้ครอบคลุมเกือบทุกหมวด ทั้งสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน วัตถุดิบพร้อมปรุง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เครื่องดื่ม เบเกอรี่ เฟอร์นิเจอร์ และบริการต่างๆ เช่น ล้างแอร์ ซ่อมบ้าน ขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง ขายรถ หาบ้านเช่า ขนย้ายบ้าน ครบหมด ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้อย่างมาก”
แน่นอนว่า แนวคิดการสร้างเพจของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยถือเป็นทางออกที่ดี ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหนักหน่วง ซึ่งข้อมูลจากสมาคมภัตตาคารไทยระบุว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เฉพาะช่วงไตรมาสแรก ปี 2564 คาดการณ์จำนวนร้านอาหารต้องปิดกิจการราว 50,000 ราย ส่งผลให้แรงงานในธุรกิจตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งเราชนะ, ม33 เรารักกัน, การเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และคนละครึ่งเฟส 3 แต่คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือต่อธุรกิจร้านอาหารน้อยมาก
ยิ่งไปกว่านั้น หากร้านอาหารปิดตัวมากขึ้นจะส่งผลกระทบกับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าตลาดสด เกษตรกร แม้กระทั่งคนส่งน้ำแข็ง คนขายแก๊ส
แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาลจึงถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ หากเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างมากขึ้นอีก การล็อกดาวน์ย่อมหมายถึงหายนะที่น่ากลัวที่สุด