วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > JMART ดัน Synergy Store ปรับเกมบุก คาซ่าลาแปง-ไวท์คาเฟ่

JMART ดัน Synergy Store ปรับเกมบุก คาซ่าลาแปง-ไวท์คาเฟ่

เจมาร์ทกรุ๊ป เดินหน้าปรับ Business Model ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟรอบใหญ่แก้เกมวิกฤตโควิด-19 ที่พลิกเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคแบบ New Normal โดยผลักดัน 2 แบรนด์หลัก คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) และไวท์คาเฟ่ (White Cafe) ภายใต้กลยุทธ์ Synergy Store รุกสู่เป้าหมายการเป็นดิจิตอลคาเฟ่เข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง ทุกรูปแบบ ตลอด 24 ชั่วโมง

แน่นอนว่า แม้เปรียบเทียบกับทุกธุรกิจในเครือเจมาร์ท ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟอาจยังทำรายได้ไม่สูง แต่อัตราเติบโตและมาร์จินสูงมาก รวมทั้งถือเป็นเสน่ห์เติมเต็มความต้องการของลูกค้าในทุกโหมดธุรกิจ

ล่าสุด อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ยกทีมผู้บริหารชุดใหญ่ ประกาศเป้าหมายการผลักดันกำไรช่วง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 50% ทำกำไร All Time High ต่อเนื่อง และเตรียมเปิดตัวแผนการลงทุนใหม่ 2 โครงการ เพื่อต่อยอดธุรกิจ เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

โครงการแรก คือ แผนการเข้าลงทุนขยายกิจการด้านโลจิสติกส์ เชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเจมาร์ททั้งหมดภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านเจมาร์ทกว่า 200 สาขา สาขาของซิงเกอร์ ที่คาดจะมีกว่า 7,000 สาขาในปีนี้ สาขา IT Junction และ JMT โดยลงทุนในพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์เข้ามาเชื่อมโยงจุดต่างๆ ของสาขาและการรับส่งสินค้าภายในกลุ่มจะง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้วสัมผัสของลูกค้า ส่วนอีกโครงการจะรุกธุรกิจนายหน้าประกันภัยและการเงินจากฐานข้อมูลลูกค้าในระบบราว 6.7 ล้านคน

ทั้งหมดเพื่ออัปเกรดศักยภาพทุกธุรกิจในเครือรองรับการปฏิวัติของเทคโนโลยี (Disruption) ของธุรกิจค้าปลีกและการเงิน เชื่อมโยงจากระบบ Online to Offline เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟยังเป็น Business Unit ใหม่ หลังเจมาร์ทตกลงซื้อกิจการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม Casa Lapin พร้อมเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการจากบริษัท คอฟฟี่ โปรเจคท์ จำกัด ด้วยวงเงิน 42 ล้านบาท โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทย่อยภายใต้ชื่อบริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด เมื่อปี 2560

เวลานั้นบริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ ตั้งเป้าหมายผลักดันรายได้เติบโตต่อเนื่อง 600% ภายใน 3 ปี (ปี 2561-2563) หรือมีรายได้แตะ 360 ล้านบาทในปี 2563 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) พร้อมกับเปิดสาขาครบ 40 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ

แต่แผนสะดุดและต้องปรับกลยุทธ์สู้พิษโควิดรอบด้าน ทั้งการปรับ Business Model ยุบแบรนด์ “แร็ป คอฟฟี่” (Rabb Coffee) เพราะจุดขายใกล้เคียงกับคาซ่าลาแปง โดยหลังจากนี้ปักหมุดให้คาซ่าลาแปงเป็นตัวรุกตลาดในเขตกรุงเทพฯ จับกลุ่มกำลังซื้อสูงและคอกาแฟแนวไลฟ์สไตล์ เน้น 2 โมเดลหลัก คือ ร้านขนาดใหญ่ 200-300 ตารางเมตร ในทำเลคอมมูนิตี้มอลล์ และร้านขนาดกลาง พื้นที่ 70 ตารางเมตร เน้นจับกลุ่มออฟฟิศ โรงพยาบาล มอลล์ขนาดเล็ก

ขณะที่อีกแบรนด์หลัก คือไวท์คาเฟ่ พุ่งเป้าลุยตลาดต่างจังหวัด พื้นที่ร้านขนาดเล็ก เพื่อสร้างความแตกต่างชัดเจนขึ้น

เอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจมาร์ท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ Re-organize ลดต้นทุนวัตถุดิบ 30% และยังขยายสาขาต่อเนื่อง โดยวางแผนเปิดร้านคาซ่าลาแปงไม่ต่ำกว่า 6 สาขาต่อปี โดยปีนี้เตรียมเปิด 7 สาขา จากปัจจุบันมี 15 สาขา รวม 22 สาขา หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 30 สาขาในปีหน้า และ 38 สาขาในปีถัดไป

สำหรับไวท์คาเฟ่เน้นการขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อรุกตลาดต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว โดยให้บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เป็นผู้บริหารแฟรนไชส์ คาดปีนี้จะเปิดเพิ่ม 50 สาขา และตั้งเป้าหมายเปิดครบ 150 สาขาภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ คาซ่าลาแปงและไวท์คาเฟ่จะปรับเกมรุกตามยุทธศาสตร์การใช้เครือข่ายในอาณาจักรเจมาร์ท เพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผลักดันรายได้แตะ 400 ล้านบาทภายในปี 2566 จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 74 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาในรูปแบบ JMART SYNERGY ที่ซินเนอร์ยีหน้าร้าน ทั้งเจมาร์ท โมบาย ซิงเกอร์ เจเอ็มที และร้านกาแฟคาซา ลาแปง เข้าด้วยกัน เพื่อขยายฐานลูกค้าจากบริษัทในเครือ สร้างรูปแบบดิจิตอลคาเฟ่ ขายผ่านเว็บไซต์ บริการออนไลน์ดีลิเวอรี โดยอาศัยพนักงานเจเอ็มทีทำหน้าที่ส่งกาแฟ

ขณะเดียวกัน เจาะช่องทางต่างๆ เพื่อให้กาแฟสามารถเข้าถึงลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยเตรียมโครงการ Vending Machine ในพื้นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การผลิตกาแฟสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบอาร์ทีดี (Ready to drink) กาแฟแคปซูลที่นำไปชงดื่มในที่ต่างๆ ได้ และการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ เพื่อขยายช่องทางการขายแบบบีทูบี ขยายไลน์สินค้าในกลุ่มแคเทอริงเซอร์วิส สแน็กบอกซ์ บริการกาแฟตามงานอีเวนต์ต่างๆ บริการเบเกอรี่จากครัวกลาง และจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องชงกาแฟ

ที่สำคัญ เมื่อโปรเจกต์การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ของเจมาร์ทขยายครบเต็มโหมด แผน Synergy Store จะสร้างเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น

อาณาจักร “เจมาร์ท” จากเงินทุนก้อนแรก 2 ล้านบาท

อาณาจักรธุรกิจ “เจมาร์ท” เริ่มต้นเมื่อปี 2531 โดยอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และยุวดี พงษ์อัชฌา ก่อตั้งบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียนก้อนแรก 2 ล้านบาท ดำเนินกิจการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อนชำระและรุกเข้าสู่ตลาดค้าส่งกลุ่มสินค้าโทรทัศน์ เครื่องเล่นวิดีโอ และเครื่องปรับอากาศ

ปี 2535 บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งถือเป็นช่วงจังหวะที่ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วๆ พร้อมๆ กับตลาดมือถือที่ขยายตัว

ปี 2552 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อหลักทรัพย์ “JMART” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 75 ล้านหุ้น ในราคา 1.80 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (IPO) 540 ล้านบาททุนชำระแล้ว 300 ล้านบาท (มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น)

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีทุนชำระแล้ว 906,612,007 หุ้น มูลค่าตลาด 19,074 ล้านบาท หรือ JMART เติบโตขึ้น 35 เท่าของมูลค่าบริษัท ในรอบ 11 ปีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี โดยมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม

๐ กลุ่ม Retail มีบริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด เป็นแกนหลัก ดำเนินธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมผ่านเครือข่ายร้านเจมาร์ทมากกว่า 200 สาขา รวมทั้งผ่านบริษัทในเครือ คือ ซิงเกอร์ และ ไอที จังชั่น ของบริษัท เจเอเอส แอสเซท จำกัด (มหาชน) หรือ J ซึ่งเจมาร์ทขยายเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและให้เช่า

ล่าสุด J มีพื้นที่ให้เช่าสำหรับโทรศัพท์มือถือและร้านค้าปลีกไอทีมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ และเป็นเจ้าของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ 4 ทำเลในกรุงเทพฯ ได้แก่ แจสวังหิน แจสรามอินทรา แจสเออร์เบิร์น ศรีนครินทร์ แจสวิลเลจ อมตะชลบุรี พื้นที่ให้เช่ารวม 50,000 ตารางเมตร และเตรียมเปิดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ “แจสวิลเลจคู้บอน” ย่านคู้บอน รามอินทรา ในไตรมาส 4/2564

นอกจากนี้ รุกธุรกิจใหม่ ร้านอาหารและร้านกาแฟ สเปเชียลตี้ แบรนด์คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) และไวท์คาเฟ่ (White Cafe) ภายใต้บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ (Beans and Brown)

๐ กลุ่ม FINANCE ได้แก่ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้และบริหารหนี้ในประเทศไทย โดยได้รับหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ JPI (JP Insurance) เป็นบริษัทย่อยของ JMT Network Services PCL ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย

บริษัท เจฟินเทค จำกัด ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินภายใต้แบรนด์ J Money โดย J Fintech จับมือร่วมทุนกับ KB Kookmin Card Co. , Ltd ผู้ให้บริการบัตรเครดิตในเกาหลีใต้เพื่อขยายธุรกิจในไทย

ส่วนบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นแบรนด์เก่าแก่จากสหรัฐอเมริกาเข้าบุกเบิกตลาดจักรเย็บผ้าในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2432 กระทั่งปี 2558 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกาศขายหุ้นทั้งหมด และบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้น 24.99% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประกอบธุรกิจขายตรงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ และธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถแบรนด์ “ซิงเกอร์” ปัจจุบันเจมาร์ทถือหุ้นซิงเกอร์ 32.6%

๐ กลุ่ม Technology มีบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของเจมาร์ทกรุ๊ป ได้แก่ Artificial Intelligence,Big Data Analysis, Credit Scoring, Distributed Ledger Technology, E-KYC, E-Wallet & Payment Gateway

ใส่ความเห็น