วันอังคาร, พฤศจิกายน 12, 2024
Home > On Globalization > การทดสอบความบริสุทธิ์ของผู้หญิง

การทดสอบความบริสุทธิ์ของผู้หญิง

Column: Women in Wonderland

องค์การสหประชาชาติกล่าวถึงการตรวจเยื่อพรหมจารีเพื่อดูความบริสุทธิ์นั้น ทำการตรวจได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ (1) ตรวจช่องคลอดโดยสูตินรีเวช โดยดูการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี และ (2) การตรวจโดยใช้ “สองนิ้ว” สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อดูว่าเยื่อพรหมจารีขาดไปหรือยัง และผนังช่องคลอดยังคงมีความคับแคบหรือหลวมเพียงใด หากหลวมก็อาจสันนิษฐานว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ไม่สามารถยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารีมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้มีเพียงแค่การมีเพศสัมพันธ์

องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่าความเชื่อเรื่องนี้ยังมีการทดสอบอยู่ประมาณ 20 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่จะอยู่ในแอฟริกาเหนือและแอฟริกาใต้ อย่างแอฟริกาใต้ ซิมบับเว และลิเบีย เป็นต้น ในเอเชียและตะวันออกกลางอย่างอินเดีย อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา อิหร่าน อิรัก และอินโดนีเซีย เป็นต้น และเวลานี้ก็มีในประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ อย่างฝรั่งเศส บราซิล สหราชอาณาจักร สเปน สวีเดน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพราะมีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังยึดกับประเพณีและความเชื่อเดิม

ในการตรวจนั้นผู้หญิงจะถูกบังคับจากพ่อแม่ หรือคนที่จะเป็นสามี หรืออาจจะเป็นนายจ้าง เพื่อยืนยันว่าพวกเธอสามารถแต่งงานได้ หรือไม่ได้ทำอะไรที่เสื่อมเสียต่อครอบครัว ส่วนใหญ่จะตรวจโดยแพทย์ ตำรวจ หรือผู้นำในชุมชนที่เป็นผู้หญิง

องค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกันทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ผู้หญิงถูกมองว่ามีคุณค่าหรือไม่ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและไม่ควรมีอยู่ในสังคม รวมถึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก การละเมิดสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างเสรีภาพและความมั่นคง และการละเมิดสิทธิที่ควรได้รับการปกป้องจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ

ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ทำการตรวจโดยสูตินรีแพทย์ และมีการร้องขอให้แพทย์ออกใบรับรอง (Virginity Certificates) ว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ ซึ่งการที่แพทย์ยินยอมตรวจให้นี้องค์การอนามัยโลกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ตามข้อตกลงของ The 1964 World Medical Association’s Declaration of Helsinki แพทย์มีหน้าที่ช่วยกันรักษาสุขภาพของประชาชน และจะไม่ทำสิ่งที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อคนไข้ เรื่องนี้เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของคนไข้

ในการประชุมด้านนรีเวชวิทยาและสูติศาสตร์ครั้งที่ 22 (The World Congress of Gynecology and Obstetrics – FICO) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อเดือนตุลาคม 2018 มีการกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น UN Women และองค์การอนามัยโลก จึงเรียกร้องให้ยุติ เพราะไม่มีความจำเป็นในทางการแพทย์ นำมาซึ่งความเจ็บปวด เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความอับอาย ในบางกรณีผู้หญิงและเด็กหญิงบางคนอาจพยายามฆ่าตัวตาย หรือถูกฆ่าตายเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว

ที่อินโดนีเซียผู้หญิงที่จะเป็นตำรวจและทหารจะต้องได้รับการตรวจความบริสุทธิ์ ซึ่งการที่รัฐบาลอินโดนีเซียบังคับให้ผู้หญิงที่ต้องการเป็นทหารและตำรวจต้องตรวจก็เพราะรัฐบาลมองว่า สังคมจะไม่ยอมรับผู้หญิงที่เคยทำงานเกี่ยวกับการบริการทางเพศ หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติที่ผิดตามหลักความเชื่อและจารีตประเพณีโดยมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานซึ่งถือเป็นการประพฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่เหมาะในการทำหน้าที่เป็นทหารและตำรวจ

ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ต้องการจะเป็นทหารและตำรวจเท่านั้นที่ต้องตรวจความบริสุทธิ์ ประเทศอินโดนีเซียยังบังคับให้ผู้หญิงที่จะแต่งงานกับทหารหรือตำรวจต้องเข้ารับการตรวจความบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่เข้ารับการตรวจก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตจากหัวหน้าหน่วยงานของผู้ชายให้แต่งงานได้ ดังนั้นผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่มีทางเลือก

ในหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายว่าการทดสอบความบริสุทธิ์ของผู้หญิงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในหลายประเทศก็ยังสามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส มีแพทย์จำนวนหนึ่งซึ่งจะถูกร้องขอจากพ่อแม่ให้ทำการทดสอบความบริสุทธิ์ของลูกสาวและขอให้เปิดเผยผลการตรวจให้ทราบด้วย

ที่ประเทศฝรั่งเศส รายการข่าวช่อง France 3 TV ทำการสำรวจเรื่องการร้องขอให้แพทย์ทำการตรวจความบริสุทธิ์ พบว่ามีแพทย์ประมาณ 30% ที่เคยถูกร้องขอให้ทำการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ให้ ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ยืนยันว่า พวกเขาปฏิเสธที่จะทำการตรวจให้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีการทำการสำรวจเช่นกัน ในปี 2017 พบว่า 16% ของแพทย์เคยถูกร้องขอให้มีการตรวจความบริสุทธิ์และออกใบรับรองให้อย่างน้อย 1 ครั้ง และมีแพทย์ 5.85% ที่ยอมตรวจและออกใบรับรองให้

สูตินรีเวช Ghada Hatem ให้สัมภาษณ์รายการข่าวช่อง France 3 TV ว่า ในหนึ่งปีเธอถูกร้องขอจากผู้หญิง 3 คน ให้ตรวจความบริสุทธิ์และออกใบรับรอง ส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิงจาก Maghreb ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา ที่นั่นคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ความเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่สำคัญ

Ghada Hatem กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่เธอจะตรวจและออกใบรับรองให้ผู้หญิงที่มาขอร้องเพราะหากไม่ได้ใบรับรอง พวกเธออาจถูกทำร้าย จากการทำให้ครอบครัวและญาติๆ เสื่อมเสียเกียรติ คุณหมอเล่าว่า ผู้หญิงบางคนพูดกับเธอตรงๆ ว่า ถ้าหากเธอไม่ได้รับการตรวจ พี่ชายของเธอจะทุบตี พ่ออาจจะเค้นถามและอาจจะทำให้ถึงตายได้ หรือว่าที่สามีอาจทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของครอบครัว คุณหมอคิดว่าหากไม่ตรวจให้ พวกเธออาจถูกทำร้ายและอาจเสียชีวิตได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ

องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และองค์กรต่างๆ เรียกร้องให้ยุติการตรวจความบริสุทธิ์ของผู้หญิง และเรียกร้องให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในทุกประเทศ เพราะเป็นการส่งเสริมค่านิยมทางเพศที่ผิด ส่งเสริมให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศเพิ่มมากขึ้นในสังคม

ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเตรียมหารือเรื่องนี้ในการประชุมของรัฐสภาในเดือนธันวาคมนี้เพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสเตรียมนำเสนอร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเรื่องนี้ ด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับแพทย์ที่ทำการตรวจความบริสุทธิ์ของผู้หญิงและออกใบรับรองให้ ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 15,000 ยูโร (ประมาณ 550,000 บาท) ซึ่งหากร่างกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภาและประกาศใช้ ก็เหมือนกับว่าฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความเชื่อและค่านิยมของคนฝรั่งเศสให้กับกลุ่มคนที่ประธานาธิบดี Emmanuel Macron เรียกว่า ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนอิสลาม

นอกจากนี้ Marlène Schiappa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเป็นพลเมือง (Minister Delegate of Citizenship) ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายไม่ควรแค่ลงโทษแพทย์ แต่ควรลงโทษทุกคนที่ต้องการให้มีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของผู้หญิงและออกใบรับรอง โดยเฉพาะพ่อแม่หรือคู่หมั้นที่เรียกร้องและบังคับผู้หญิงมาตรวจ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมและความเชื่อ และอาจทำให้ผู้หญิงมุสลิมเสียชีวิตน้อยลงได้

ร่างกฎหมายนี้ไม่เพียงมีบทลงโทษชัดเจน แต่ยกเลิกใบรับรองที่ออกให้โดยแพทย์ที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ อย่างเช่นการขอใบรับรองแพทย์ว่าแพ้สารคลอรีน ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายบางประเภทได้ และไม่สามารถว่ายน้ำได้ ซึ่งผู้หญิงมุสลิมส่วนใหญ่จะขอใบรับรองแพทย์แบบนี้ เพื่อความสบายใจของครอบครัวว่าเยื่อพรหมจรรย์จะไม่ฉีกขาดจากการออกกำลังกายและไม่โชว์เรือนร่างในสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นที่สาธารณะ

ร่างกฎหมายนี้ยังเพิ่มเติมว่า หากชายคนใดแต่งงานและมีภรรยาหลายคนอย่างที่ศาสนาอิสลามอนุญาตให้มีภรรยาได้ถึง 4 คนนั้น กฎหมายใหม่อนุญาตให้รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถขับไล่คนนั้นออกจากประเทศได้ และในส่วนการบังคับแต่งงาน กฎหมายใหม่ก็อนุญาตให้ผู้ที่พบเห็นสามารถแจ้งความได้ เจ้าหน้าที่จะเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบสวน และหากมีการบังคับให้แต่งงานจริงจะส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

จากร่างกฎหมายข้างต้นของฝรั่งเศส จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มบทลงโทษชัดเจน หากยังมีการกระทำที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสังคม ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านและประกาศใช้ ฝรั่งเศสจะกลายเป็นหนึ่งในสหภาพยุโรปที่รัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศอย่างชัดเจนตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ

Photo Credits: https://www.who.int/reproductivehealth/publications/end-virginity-testing-1.jpg?ua=1 ; และ https://www.who.int/reproductivehealth/publications/end-virginity-testing-5.jpg?ua=1

ใส่ความเห็น