วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 14, 2024
Home > New&Trend > สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยร้องรัฐบาลทบทวน หยุดซ้ำเติมผู้ประกอบการ ดันเร่งแก้ไขมาตรา 32

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยร้องรัฐบาลทบทวน หยุดซ้ำเติมผู้ประกอบการ ดันเร่งแก้ไขมาตรา 32

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยร้องรัฐบาลทบทวน หยุดซ้ำเติมผู้ประกอบการ ดันเร่งแก้ไขมาตรา 32 ห้ามโฆษณา และยกเลิกการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในประเด็นที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่เป็นธรรม
เอื้อประโยชน์ต่อผู้ชี้เบาะแสและเจ้าหน้าที่ เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ พร้อมขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งประกาศไปล่าสุด ซึ่งกฎหมายดังกล่าวล้วนส่งผลเสียและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เป็นการซ้ำเติมความบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและจากการระบาดของโรคโควิด 19 ให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ภายในงาน “เศรษฐกิจ – โควิด กับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะสุโกศล เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) วิเคราะห์ถึงปัญหาของมาตรา 32 ว่า “มาตรา 32 มีความล้าสมัยเนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน เปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และยังคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับที่กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท รวมถึงเรื่องสินบนรางวัลที่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแสจะได้ส่วนแบ่งพร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับ ในขณะที่จะมีเงินเข้ากระทรวงการคลังเพียงร้อยละ 20 ของค่าปรับเท่านั้น และสินบนรางวัลอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย”

สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการชักจูงโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เห็นได้จากกรณีของ นายวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของร้านอาหาร Kacha Kacha ที่โดนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 32 ซึ่งถูกปรับรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500,000 บาท เพียงเพราะมีรูปแก้วเบียร์อยู่ในเมนูของร้าน ทั้งที่ไม่มีตราสินค้าใด ๆ ปรากฏร่วมด้วย

ด้านนางโยษิตา บุญเรือง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์โอท็อปจากผลไม้ของเกษตรกรไทย ถูกตั้งข้อกล่าวหาให้ชำระค่าปรับกว่า 1 ล้านบาทและยังเคยถูกควบคุมตัวในห้องขังร่วมกับผู้กระทำความผิดคดีร้ายแรงอื่น ๆ ในระหว่างสู้คดีในชั้นศาล หลังโดนเจ้าหน้าที่ล่อซื้อและขอใบปลิวผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเท่านั้น แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษปรับเหลือ 50,000 บาท พร้อมรอลงอาญา 2 ปี ในภายหลัง แต่ความเดือดร้อนในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และต่อชุมชน ตลอดจนเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ

อีกรายที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากมาตรา 32 คือนายคำนาย มาดำ เจ้าของร้านลาบลุงยาวย่านปากเกร็ด ที่ถูกดำเนินคดีและถูกแนะนำให้ไปเปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เนื่องจากมีโปสเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอยู่ในบริเวณร้าน ซึ่งตนไม่รู้กฎหมายจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา อีกทั้งหลาย ๆ ร้านในละแวกใกล้เคียงก็มีป้ายลักษณะดังกล่าวติดอยู่เช่นกัน แต่มีเพียงร้านของตนเท่านั้นที่ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ

ด้านปัญหาของกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ นายธนากรระบุว่า มาตราดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่อาจต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจและการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง อีกทั้งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital economy) ส่วนการอ้างเหตุในการออกประกาศการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกินจำเป็น และถือว่าไม่เป็นการควบคุมแต่มุ่งกำจัดเพราะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์นั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่ควรให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นได้ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เช่น สินค้าปลอม สินค้าหนีภาษี และการพนันออนไลน์ เป็นต้น

นายธนากรกล่าวว่า “ผู้ประกอบการยินดีจะปฏิบัติตามกฎหมาย หากกฎหมายนั้นเป็นธรรม ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเห็นได้ว่าเราให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามนโยบายในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และส่งผลเสียต่อหลายฝ่าย สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมายมาตรา 32 ให้มีความชอบธรรมและชัดเจน และยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมายที่คลุมเครือและไม่เหมาะสมกับสภาพสังคม จนกระทบกับการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อเกิดภาวะวิกฤติจากทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาดดังเช่นในเวลานี้ จึงเป็นเวลาที่ภาครัฐควรที่จะต้องพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังเพื่อปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพการณ์ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ใส่ความเห็น