สถานการณ์ค้าชายแดนแม้ตัวเลขและสถานการณ์จะไม่สวยหรูมากนัก จากผลกระทบของการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจในประเทศที่ถดถอยเป็นทุนเดิม
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ความร้ายกาจของเชื้อไวรัสไม่ได้กัดกินและทำลายอวัยวะภายในที่สำคัญอย่างปอดของมนุษย์เท่านั้น แต่เชื้อร้ายกลับเจาะลึกเข้ากัดกร่อนกลไกการทำงานของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเกือบทุกระบบ
การท่องเที่ยวดูจะเป็นเครื่องจักรตัวแรกในระบบที่ได้รับผลกระทบ เพราะจุดเริ่มต้นของเชื้อไวรัสโคโรนาคือประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีเงินสะพัดในระบบ
และหลังจากจีนประกาศปิดประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบตามมา เพราะในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ แม้ว่าการส่งออกของไทยจะซบเซาในช่วงก่อนหน้า ทั้งสาเหตุจากสงครามการค้า การแข็งค่าของเงินบาทไทย และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถดถอย
เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มขยายวงกว้างในประเทศไทย เศรษฐกิจในระดับครัวเรือนได้รับผลกระทบในลำดับถัดมา เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดที่จะขยายวงกว้างขึ้น การสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ร้านอาหารที่อนุญาตให้เฉพาะซื้อนำกลับเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยคล้ายถูกเชื้อไวรัสฟรีซไว้
และเมื่อเชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศจึงมีมาตรการสั่งปิดด่านชายแดนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะลุกลามจนยากที่จะควบคุม
คำสั่งปิดด่านชายแดนทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การส่งออกของไทยที่บอบช้ำอยู่แล้ว ให้วิกฤตหนักขึ้น “เจ็บแต่จบ” จึงกลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม และจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้
หากย้อนกลับไปดูตัวเลขมูลค่าค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา ในช่วงปี 2559-2561 มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากความคล่องตัวในเรื่องโลจิสติกส์บริเวณด่านชายแดนของไทย ที่มีจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมโยงผ่านจังหวัดทั่วประเทศ 21 จังหวัด
แต่ถ้ามองตัวเลขมูลค่าการส่งออกเพียงด้านเดียว ในปี 2561 จะพบว่า ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านลดลง -1.19 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.99 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2562 มีมูลค่ารวม 1,337,282 ล้านบาท ลดลง 3.43 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งออก 749,422 ล้านบาท ลดลง 2.72 เปอร์เซ็นต์ และการนำเข้า 587,860 ล้านบาท ลดลง 4.31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินดุลการค้า 161,562 ล้านบาท
ตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2561 แม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมาก และปัจจัยที่ส่งผลกระทบยังคงเป็นปัจจัยเดิม ทว่าปี 2563 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัจจัยที่ส่งผลลบตัวเดียวกัน นั่นคือ Covid-19
ซึ่งนับแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไม่สดใสนัก โดยหดตัวร้อยละ 8.6 ขณะที่ Covid-19 กำลังลุกลามในทุกประเทศอาเซียนเวลานี้ อาจยิ่งซ้ำเติมให้การส่งออกอ่อนแรงลงอีกในช่วงครึ่งปีแรก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจมีอานิสงส์ต่อสินค้าจำเป็นเพื่อนำไปผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสินค้าสำหรับการ Work From Home หนุนให้การส่งออกสินค้าชายแดนและผ่านแดนไทยไปมาเลเซียกับสิงคโปร์ดูดีกว่าตลาดอื่น
สำหรับตลาดกัมพูชา เมียนมา และ สปป. ลาว ยังต้องเผชิญแรงฉุดจากผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ตลอดปีนี้จึงยังคงหดตัว ขณะที่ตลาดจีนที่ผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาแล้วก็น่าจะกลับมาเร่งตัวได้ก่อนใครในครึ่งปีหลัง แม้จะช่วยให้การส่งออกไปเวียดนามกระเตื้องขึ้นในสินค้าบางตัว แต่สินค้าหลายอย่างยังต้องพึ่งกำลังซื้อจากการฟื้นตัวของตลาดโลก จึงทำให้ภาพรวมยังหดตัวค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในปีนี้ เหมือนเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดให้แก่สินค้าไทย แต่ผลจากราคาน้ำมันและการทรุดตัวของกำลังซื้อในแต่ละประเทศกลับเป็นปัจจัยลบที่ไม่เอื้อต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2563 เท่าไรนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยน่าจะทรุดตัวอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แม้คาดว่าจะมีสัญญาณดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะแก้ปัญหา COVID-19 ได้รวดเร็วแค่ไหน ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าชายแดนและผ่านแดนตลอดปี 2563 จึงยังหดตัวอยู่ที่ 12.8 เปอร์เซ็นต์ (กรอบประมาณการที่หดตัว 15-9 เปอร์เซ็นต์) มีมูลค่าการส่งออกแตะระดับที่ 804,300 ล้านบาท (กรอบประมาณการมูลค่าการส่งออก 784,000-839400 ล้านบาท) โดยหดตัวลึกขึ้นเป็นจากที่เคยหดตัว 0.2 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่า 922,380 ล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา
ซึ่งถ้าหากทั่วโลกสามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2563 ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดประเทศเพื่อนบ้านของไทยฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันเคลื่อนไหวได้สูงกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจช่วยให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด
นอกจากนี้ มาตรการห้ามการเดินทางเข้า-ออกของบุคคล ยานพาหนะและสิ่งของบริเวณชายแดนไทย แต่ไม่ห้ามการขนส่งสินค้าตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ด้วยความจำเป็นทำให้ผู้คนและผู้ประกอบการค้าปลึกจากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถข้ามมาหิ้วสินค้ากลับไปใช้และจำหน่ายยังประเทศของตนได้ จนกว่าวิกฤตจะคลี่คลาย ทำให้ไทยสูญเสียเม็ดเงินจากการที่ไม่มีคนจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามแดนมาซื้อสินค้าบริเวณชายแดนไทยรวมทุกด่านไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีคนเข้าออกคึกคักอย่าง หนองคาย มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว เชียงราย และตาก เป็นต้น
นิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและคณะอนุกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์การขยายตัวการค้าชายแดนปี 2563 ว่าจะมีโอกาสขยายตัวเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยประเมินไว้ว่าจะขยายตัวได้สูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจัยด้านลบหลักมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าชายแดนปิดประเทศ ชะลอการสั่งซื้อและปิดด่านการค้าชายแดนไปกว่าครึ่ง ทั้งด้านที่เชื่อมโยงมาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา จากทั้งหมด 42 จุด เหลือเพียง 20 จุดเท่านั้น และยังขาดความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการเปิด-ปิดด่านชายแดนถาวรแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวางแผนในการขนส่งของผู้ประกอบการ
ขณะที่สถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 พบว่ามีมูลค่า 171,314 ล้านบาท ลดลง 6.46 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 117,964 ล้านบาท ลดลง 6.10 เปอร์เซ็นต์ และมูลค่านำเข้า 53,368 ล้านบาท ลดลง 7.25 เปอร์เซ็นต์ เกินดุลการค้า 64,578 ล้านบาท
COVID-19 คงไม่ใช่เชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสามารถทำลายเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของทุกประเทศได้อีกด้วย ในสถานการณ์นี้ทำได้เพียงเฝ้ารอให้วิกฤตของเชื้อไวรัสนี้ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว