วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวทรุดส่งออกฟุบ ฉุดเศรษฐกิจไทย ดึง GDP ติดลบ

ท่องเที่ยวทรุดส่งออกฟุบ ฉุดเศรษฐกิจไทย ดึง GDP ติดลบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทำให้หลายฝ่ายคาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2563 อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อีกครั้งในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤต Hamburger ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุน รวมถึง “การส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวที่ร้อยละ 4.5 ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ “ดีกว่า” การคาดการณ์ที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยในด้านหนึ่งเป็นผลจากการได้อานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึงร้อยละ 180 แล้ว ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในสัดส่วนสูงทั้งจีน EU สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย หดตัว “น้อยกว่าที่คาด”

แม้ว่าการส่งออกของไทยโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกปี 2563 จะหดตัวเพียงร้อยละ 0.8 ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้ (-1.1%) สิงคโปร์ (-2.9%) ญี่ปุ่น (-1.7%) แต่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่มีบทสรุปว่าจะยุติลงเมื่อใดและยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ชัดเจน แต่ตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนได้บางส่วนว่า การส่งออกของไทย มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าอดีต จากการมีสินค้าที่หลากหลายและการกระจายตลาดส่งออกที่ดี

ในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างกังวลกับสถานการณ์การผลิตจากการชะงักงันของการผลิตในจีนที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ภายในจีนกำลังกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลบวกต่อภาคการผลิตทั่วโลก แต่ในทางกลับกันไวรัสที่เริ่มแพร่ระบาดนอกประเทศจีน จนกระทั่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับให้เป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” ยิ่งทำให้สภาวะตลาดโลกต่อจากนี้ซบเซาจากการที่ต้องปิดเมือง ปิดประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยไล่เรียงไปจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จนถึงขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) กำลังอยู่ในระยะวิกฤต และสหรัฐฯ อยู่ในระยะเริ่มต้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นสัญญาณลบอีกครั้งของธุรกิจไทยที่ต้องเตรียมรับมือกับการอ่อนไหวไม่เพียงตลาดในไทยเท่านั้น แต่ตลาดทั่วโลกคงเผชิญความท้าทายยิ่งขึ้นอีกในระยะข้างหน้าอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามสถานการณ์ของธุรกิจไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงอยู่ที่การเตรียมรับมือกับตลาดโลกที่ชะลอตัว ขึ้นอยู่กับว่ามีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นที่กำลังต่อสู้การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ขณะที่ตลาดจีนเริ่มฟื้นตัวนับเป็นความหวังครั้งสำคัญของการส่งออกไทย

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวตามจีนที่เริ่มกลับมา คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหลักและผลิตสินค้าขั้นกลางจำพวกเม็ดพลาสติก เส้นใยสิ่งทอ รวมถึงผลไม้ไทย ยกเว้นสินค้าที่ส่งเข้าสู่สายการผลิตจีนเพื่อทำการส่งออกต่อไปประเทศที่ 3 อย่างสหรัฐฯ และ EU อาจไม่มีสัญญาณบวกมากนัก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพาราและทองแดง

ผลกระทบระลอกถัดมาจากการแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ที่กลุ่มที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งตลาดเหล่านี้กำลังเผชิญการแพร่ระบาดในวงกว้างเช่นเดียวกับที่จีนได้เผชิญมาก่อน สินค้าไทยที่น่ากังวลอย่างมากอยู่ในกลุ่มไก่แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและสินค้าขั้นสุดท้าย

สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดและอาจได้รับผลกระทบยาวนานกว่าทุกอย่างจะยุติ คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงจะต้องแบกรับภาระตลาดที่ซบเซายาวนาน ซึ่งในภาพรวมไทยพึ่งพาการส่งออกไปตลาดเหล่านี้สูงถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยสินค้าที่น่ากังวล ได้แก่ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง แผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางล้อ และที่นอน

ขณะเดียวกันธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในไทยก็คงต้องเตรียมรับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบไปตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาดในไทย แต่ในไตรมาส 2 อาจมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจนอกประเทศเข้ามากดดันบรรยากาศตลาดในประเทศอ่อนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลัก เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร แม้จะยังพอทำตลาดได้ แต่ความซบเซาภายในประเทศจากการเฝ้าระวังไวรัส อาจยิ่งซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตรกรไทยในปีนี้

แม้ว่ากลุ่มที่พึ่งพาวัตถุดิบ/นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สามารถทยอยกลับมาผลิตได้ตามการฟื้นตัวของจีน แต่ในระยะแรกคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดของวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากจีนที่ต้องใช้เวลาฟื้นกลับมา และกระจายสู่ภาคการผลิตในหลายประเทศ อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาที่ว่าแม้จะผลิตได้แต่ด้วยตลาดไม่เอื้อก็ไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งธุรกิจที่นำสินค้าเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนให้พอประคองตัวให้ไปต่อได้จนกว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม ความซบเซาของตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศได้ส่งผ่านมายังธุรกิจไทยบ้างแล้ว และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อออกไป ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญจากนี้ไป

บรรยากาศทางเศรษฐกิจและตลาดโลกในระยะถัดจากนี้ จะทยอยฉุดรั้งเศรษฐกิจและกำลังซื้อในแต่ละประเทศที่เชื้อไวรัสแพร่ไปถึง ขณะที่จีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อนและมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาไวรัสจนประสบผลสำเร็จแล้วนั้น จึงกลายเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกู้วิกฤตไวรัสโลก โดยน่าจะได้เห็นการเร่งผลิตและส่งออกของจีนไปตลาดโลกในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย หลอดหรือท่อสายยางทางการแพทย์ อุปกรณ์แพทย์สนาม เตียงที่ใช้ในโรงพยาบาล เต็นท์พยาบาลชั่วคราว และชุดป้องกันไวรัส จีนจึงนับเป็นตลาดแห่งความหวัง โดยสินค้าดาวเด่นที่จะกลับมาช่วยกู้วิกฤตส่งออกของไทย จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในจีนเป็นหลักอยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร และสินค้าจำเป็นที่ใช้สำหรับเฝ้าระวังไวรัส

สถานการณ์การแพร่ระบาดและการดำเนินอยู่ของโรคระบาด COVID-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 5.3 หรือเติบโต -5.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปรับลดลงจากก่อนหน้านี้มองว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยสาเหตุที่ปรับลดลงเพราะสถานการณ์ COVID-19 ยังมีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย

การคาดการณ์ GDP ไทยที่ติดลบร้อยละ 5.3 ดังกล่าวนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าการควบคุมโรคระบาดจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 2 ปี 2563 และยังไม่ได้นับรวมผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าการส่งออกปี 2563 จะติดลบที่ร้อยละ 8.8 จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 0.5 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะติดลบร้อยละ 4.3 การบริโภคภาคเอกชนจะติดลบร้อยละ 1.5 โดยการลงทุนภาครัฐยังขยายตัวร้อยละ 5.8 และการอุปโภคภาครัฐจะเติบโตร้อยละ 2.6

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยดังกล่าวมาจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวร้อยละ 60 ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หาก COVID-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งในมิติของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรค COVID-19

ความเป็นไปของ COVID-19 ในห้วงเวลาขณะนี้จึงไม่เพียงแต่จะกระทบกับสภาพความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตปกติประจำวันของสาธารณชนเท่านั้น หากแต่ยังพร้อมที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานและฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของโลกและของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ซึ่งความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนานนี้กำลังฉุดให้เกิดภาวะถดถอยรุนแรง ปัญหาที่ต้องพิจารณาจากนี้อยู่ที่ว่าภายใต้สถานการณ์เช่นว่านี้ ภัยจากโรค COVID-19 และการถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงนี้ สิ่งใดจะทำร้ายความเป็นอยู่และเป็นไปของสังคมโลกมากกว่ากัน

ใส่ความเห็น