วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > ตื่น “แพนิกชอปปิ้ง” บิ๊กคอนซูเมอร์โกย

ตื่น “แพนิกชอปปิ้ง” บิ๊กคอนซูเมอร์โกย

แม้กระทรวงพาณิชย์เรียกถกกลุ่มภาคเอกชนยืนยันสินค้าอุปโภคบริโภคหลักๆ ไม่มีปัญหาขาดแคลน แต่ไม่สามารถหยุดยั้งกระแส “Panic Shopping” ที่ก่อตัวรุนแรงตั้งแต่การสั่งปิดสถานที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศฉีดยาแรงใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ระยะเวลา 1 เดือนแรกก่อนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ทั้งการแห่ซื้อกักตุนสินค้า ผู้ค้าโก่งราคาแพงขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะที่เห็นเป็นปัญหาชัดเจน คือ “ไข่ไก่” ล่าสุดขาดตลาด ต้องต่อคิวยาวเหยียดรอซื้อ ทั้งตลาดค้าส่งและค้าปลีก ที่สำคัญ ราคาแพงขึ้นมากกว่า 30 บาทต่อแผง ตกแผงละ 120 บาท และมีแนวโน้มพุ่งขึ้นรายวัน จากปกติเฉลี่ยแผงละ 85-95 บาท

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ไทยผลิตไข่ไก่ได้ปีละกว่า 15,000 ล้านฟอง หรือวันละ 41 ล้านฟอง ทั้งหมดใช้บริโภคภายในประเทศวันละ 39 ล้านฟอง เหลือส่งออกวันละ 1-2 ล้านฟองเท่านั้น ส่วนใหญ่ส่งออกฮ่องกง แต่ขณะนี้ฮ่องกงนำเข้าลดลงมาก เพราะนำเข้าจากจีนแทนเนื่องจากราคาถูกกว่ามาก ส่วนสิงคโปร์หันมาซื้อไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้นแทนการสั่งจากมาเลเซีย แต่ยอดเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 600,000 ฟอง

ขณะเดียวกัน ยืนยันราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ที่ตลาดสด กทม. และปริมณฑล ฟองละ 3.00-3.10 บาท แต่ปรากฏว่า ยอดการขายไข่ไก่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากที่ประชาชนหาซื้อไข่ไปสำรองเพิ่มขึ้นทำให้ตลาดปั่นป่วน

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สั่งตั้งวอร์รูม 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อจับมือกับเอกชนที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ ทั้งการผลิต การแปรรูปตลาด การกระจายสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เช่น Delivery และชอปปิ้งออนไลน์

ประกอบด้วย 1. อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ได้แก่ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม 2. กลุ่มข้าว 3. กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วยไก่ ไข่ หมู กุ้ง 4. ผลไม้ซึ่งกำลังจะออกมามากในช่วงต้นเดือนหน้า 5. วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นต้นทางของการผลิตไก่ หมู กุ้ง สินค้าบริโภคต่อไป ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง 6. เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย 7. บริการโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆและการให้บริการ delivery ส่งอาหารไปถึงบ้าน

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง กระแสการกักตุนสินค้าถือเป็นจังหวะและโอกาสของผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะ 3 ค่ายใหญ่ ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือสหพัฒน์ และกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (บีเจซี) เนื่องจากความต้องการกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าแฟชั่น หรือสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องซื้อในช่วงเวลานี้ เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะหดตัว

แต่สินค้ากลุ่มอาหาร อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ส่วนบุคคล รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ยังมีการใช้จ่ายและมีความต้องการเพิ่มขึ้นหลายเท่า เพื่อสำรองไว้ใช้จากการกักตัวอยู่กับบ้านตามแผนหยุดยั้งการแพร่ระบาดโรคของรัฐบาล

หากเปรียบเทียบกัน เครือซีพีอาจได้รับผลกระทบเชิงธุรกิจไม่มากนัก เนื่องจากมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารโดยตรง ประกอบกับมีเครือข่ายการจำหน่าย ทั้งห้างค้าส่งแม็คโคร จำนวน 129 สาขา และค้าปลีก “เทสโก้โลตัส” ซึ่งเครือซีพีเพิ่งทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 3.3 แสนล้านบาท ซื้อกิจการจากกลุ่มเทสโก้โลตัส ผ่านบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นโดย บมจ.ซีพี ออลล์ 40% บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด 40% และบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (บริษัทย่อย CPF) 20%

ปัจจุบันเทสโก้โลตัสในประเทศไทยมีสาขารวม 1,967 สาขา แยกเป็นร้านค้ารูปแบบต่างๆ คือ ไฮเปอร์มาร์เกต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express อีก 1,574 สาขา

นอกจากนี้ มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น กระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศมากกว่า 11,000 สาขา และวางเป้าหมายจะขยายครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564

ขณะที่เครือสหพัฒน์ส่งสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรดและร้านลอว์สัน จำนวน 130 สาขา ซึ่งล่าสุด นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเลื่อนการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 24 จากเดิมกำหนดจัดวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2563 ไปในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในระยะแพร่กระจายและต้องเฝ้าระวังการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับขาดบิ๊กอีเวนต์ประจำปีและต้องหยุดการรุกตลาดครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เคยออกอาการผิดหวังรุนแรง ทั้งที่เคยประกาศลั่นจะผลักดันบริษัทในเครือมากกว่า 200 บริษัท ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ามากกว่าพันรายการ และร้านค้าปลีก ลุยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ดันรายได้ฉลุยแตะ 3 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายต้องหดเป้าทั้งหมด เนื่องจากปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในช่วงรอรัฐบาลใหม่และเจอปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อในระดับรากหญ้าและภาคการเกษตรหายไปค่อนข้างมาก

นั่นทำให้สหพัฒน์ต้องปรับกระบวนทัพต่างๆ เมื่อแนวโน้มกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าและแฟชั่นเติบโตลดลง บริษัทเริ่มมองหากลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มสินค้าบริการและการศึกษา ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ เพื่อรองรับสินค้าในเครือที่ต้องการส่งแบบรวดเร็วและสดใหม่ แต่สถานการณ์ในปี 2563 กลับเลวร้ายยิ่งกว่าปีก่อน

ส่วนกลุ่มบีเจซีในเครือทีซีซีของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและบริหารธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ล่าสุดเปิดเผยผลการดำเนินงานช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 การเติบโตของยอดขายสาขาเดิมฟื้นตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 และยังตั้งเป้ายอดขายเติบโตต่อเนื่อง จากปีก่อนทำได้ 1.74 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.2% แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ห้างบิ๊กซีบางสาขาในแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบชัดเจน แต่มีผู้บริโภคในพื้นที่เข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น

ปีนี้ บีเจซีตั้งงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากสิ้นปี 62 มีไฮเปอร์มาร์เกต 151 แห่ง ซูเปอร์มาร์เกต 62 แห่ง มินิบิ๊กซี 1,016 แห่ง และ Pure Pharmacy 145 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,374 แห่ง แต่อาจต้องชะลอดูสถานการณ์ต่างๆ อีกครั้ง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ประเมินว่า กรณีภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ คาดว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์ทันที คือ กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) บมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) และ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)

เพราะไม่ใช่แค่กำลังซื้อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังบวกกระแส “ช้อปปิ้งแพนิก” ที่บรรดาคนไทยสามารถตื่นตระหนกได้ตลอดเวลาด้วย

ใส่ความเห็น