วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ค้าปลีก-ร้านอาหาร อ่วมแสนล้าน กระหน่ำเดลิเวอรี่หนีตาย

ค้าปลีก-ร้านอาหาร อ่วมแสนล้าน กระหน่ำเดลิเวอรี่หนีตาย

ประเมินกันว่า ธุรกิจค้าปลีกปี 2563 จะสูญเสียเม็ดเงินมากกว่า 200,000 ล้านบาท หลังเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” โดยเฉพาะการประกาศฉีดยาแรงใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ณ เวลานี้ความปลอดภัย คือ ความจำเป็นอันดับ 1 และทุกคนในประเทศต้องปรับตัวรับผลกระทบที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว แม้ส่วนหนึ่งรัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และกลุ่มผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจรถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร กิจการสถานบริการ ซึ่งสูญเสียรายได้ชนิดไม่ทันตั้งตัว

ขณะที่กลุ่มยักษ์ค้าปลีก ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และมิกซ์ยูส มีสเกลขนาดใหญ่ แม้ยังมีเซกเมนต์ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซูเปอร์มาร์เกตและร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการได้ แต่จำนวนกลุ่มเป้าหมายหดหายไปมากกว่าครึ่ง ไม่มีบรรยากาศการจับจ่ายในย่านช้อปปิ้งสตรีท เหลือเพียงความเวิ้งว้างเงียบเหงา ทั้งที่เดิมทุกห้างร้านเตรียมแคมเปญฉลองเทศกาลสงกรานต์ครั้งใหญ่

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะลากยาวอย่างน้อยจนถึงครึ่งปีแรกและต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกหลายเดือน บวกกับกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังอ่อนแรงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การว่างงานและภัยแล้ง คาดว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 2.2 จากปีก่อน คิดเป็นเม็ดเงินค้าปลีกทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย สูญหายไป 150,000-200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจะแบ่งได้ 2 กรณี

กรณีแรก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยไม่รุนแรง แม้มีโอกาสถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นระยะที่ 3 จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงสุดในไตรมาส 2 และสถานการณ์เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 คาดว่าจะทำให้แรงงานครึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกงานและส่งผลต่อการใช้จ่ายที่กระจายไปยังธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรก

แต่หากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในครึ่งปีแรก ประกอบกับปัจจัยหนุนด้านมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก น่าจะทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวบ้าง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญหายไป 150,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ 2 หากการแพร่ระบาดในไทยรุนแรงขึ้นและลากยาวเกิน 6 เดือน จะส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น คนตกงานหรือถูกพักงานในช่วงแรก ธุรกิจที่พอประคองไปได้ในช่วงแรกแบกรับต่อไปไม่ไหว และได้รับผลกระทบทางการเงินจนต้องปิดกิจการ คาดธุรกิจค้าปลีกจะสูญเสียเม็ดเงินสูงถึง 200,000 ล้านบาท แม้มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของทางภาครัฐ แต่ผู้บริโภคทั้งประเทศยังมีความกังวลและระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ด้านธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลโดยตรงเช่นเดียวกัน คาดเม็ดเงินจะหดตัวเหลือ 4.02-4.12 แสนล้านบาท (จากเดิมคาดการณ์ไว้ 4.39 แสนล้านบาท) หรือลดลง 2.65-3.65 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) เน้นการสร้างยอดขายจากการนั่งรับประทานในร้าน ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทั้งธุรกิจค้าปลีกและกลุ่มร้านอาหารต่างเร่งปรับกลยุทธ์เปิดศึกบริการส่งสินค้า (Delivery) ทั้งโปรโมชั่นฟรีค่าส่ง ให้ส่วนลด แถมสินค้า และการเน้นย้ำถึงมาตรฐานการขนส่งที่สะอาดปลอดภัย ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินรายได้ชดเชยได้มากกว่า 50% รวมถึงขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่เคยใช้บริการ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นลูกค้าประจำได้ เนื่องจากเริ่มเห็นความสะดวก ไม่เสียเวลาเดินทาง และประหยัดค่าน้ำมัน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ เรื่องการใช้บริการออนไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ของคนไทยช่วงวันที่ 5-15 มีนาคม 2563 พบว่าผู้ตอบทางออนไลน์รวม 376 คน ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ถึง 85% และกลุ่มเจนวาย อายุ 19-38 ปี ใช้บริการมากที่สุดถึง 51.09%

รองลงมา คือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ อายุ 39-54 ปี กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ อายุ 55-73 ปี และกลุ่มเจนแซด อายุต่ำกว่า 19 ปี และหลายคนเลือกแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันที่เป็นตัวกลางช่วยสั่งอาหารมากสุดถึง 88.47% เช่น แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เก็ทฟู้ด

รองลงมาเป็น Platform ของร้านอาหารโดยตรง 62.93% และเลือกสั่งผ่านกล่องข้อความ (อินบ็อกซ์) หรือการส่งข้อความหลังไมค์ (ไดเร็กต์ แมสเซจ) ของร้านในโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม 13.08%

ยอดการจ่ายเงินเฉลี่ยต่อครั้ง พบว่า กลุ่มเจนเอ็กซ์ใช้จ่ายมากสุด 501-1,000 บาท กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ 301-500 บาท กลุ่มเจนวายและเจนแซด อยู่ที่ 101-300 บาท

จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาโมเดิร์นเทรดเร่งระดมทีมเดลิเวอรี่ขนานใหญ่ อย่างยักษ์สะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่ประกาศรับสมัครพนักงานทันที 20,000 คน เนื่องจากเห็นปรากฏการณ์ของแนวรบใหม่และเหนือสิ่งอื่นใดในสถานการณ์ที่ยังไม่มีใครฟันธงสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน สมรภูมิเดลิเวอรี่มีแนวโน้มเติบโตพุ่งพรวดไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทด้วย

มาตรการเยียวยาผลกระทบ “โควิด-19” ระยะที่ 2

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2

1. กลุ่มแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ โดยธนาคารกรุงไทยจะรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวม 3 ล้านคน สนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม มีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท อัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

1.5 มาตรการเสริมความรู้ ฝึกอบรมเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ

1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563

1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563

1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

2. กลุ่มผู้ประกอบการ

2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่ง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี

2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน ระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ สถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ ให้ยื่นและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยยกเว้นอากรขาเข้า จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

ใส่ความเห็น