เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังคงเดินหน้าเร่งสปีดปูพรมเครือข่ายร้านกาแฟที่มีแบรนด์อยู่ในมือนับสิบแบรนด์ โดยล่าสุด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) สั่งลุยแฟรนไชส์ 2 โมเดลใหม่ ตามแผนบุกยึด 2 ตลาดใหญ่
ด้านหนึ่ง รีบผุด “รถกาแฟมวลชน” เกาะกระแสฟู้ดทรัค หลังชิมลางบุกตลาดต่างจังหวัดในเขตภาคเหนือและอีสาน โดยขณะนี้มีรถกาแฟมวลชนปักหมุดพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 20 กว่าคัน
อีกด้านหนึ่ง งัดไอเดียสไตล์โมเดิร์น “เบลลินี่ Grab & Go” คอนเซ็ปต์สะดวก ประหยัดพื้นที่และงบลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนร่วมผุดสาขากวาดกลุ่มลูกค้าพรีเมียมให้ได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเครือซีพีพยายามปลุกปั้นร้านกาแฟแบรนด์ต่างๆ เพื่อจับทุกกลุ่มลูกค้าตั้งแต่รากหญ้าถึงพรีเมียม ไม่ว่าจะเป็นออลล์ คาเฟ่ (All Cafe) ออลล์ คาเฟ่ โกลด์ (All Cafe Gold) และคัดสรร ซึ่งเน้นเปิดมุมขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีมากกว่า 10,000 สาขา กลายเป็นเครือข่ายร้านกาแฟขนาดใหญ่ที่สุด
ขณะที่แบรนด์ “เบลลินี่ (Bellinee Bake & Brew)” ร้านเบเกอรี่อบสดและเครื่องดื่ม กลิ่นอายอิตาลีแบบมาดามเบลลินี่ หญิงสาวชาวยุโรปที่ได้แรงบันดาลใจจาก Vincenzo Bellini นักประพันธ์เพลงชื่อก้องโลกชาวอิตาลี เป็นตัวเจาะฐานตลาดพรีเมียม
ส่วนกลุ่มธุรกิจกาแฟมวลชน เน้นบุกตลาดล่างและตลาดกลาง โดยมีแบรนด์ภายใต้การบริหารรวม 4 แบรนด์ คือ ร้านกาแฟมวลชน ราคาเริ่มต้นแก้วละ 25 บาท ชนิดที่ชนกลุ่มรถกาแฟโบราณและร้านกาแฟดั้งเดิม แบรนด์ อาราบิเทีย (Arabitia) ราคาเริ่มต้นแก้วละ 35 บาท เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางแบรนด์ จังเกิ้ลคาเฟ่ (Jungle Cafe) ราคาเริ่มต้นแก้วละ 40 บาท เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบีบวก ซึ่งว่ากันว่า ตั้งเป้าหมายโค่นคู่แข่งยักษ์ใหญ่ “คาเฟ่อเมซอน” ของกลุ่ม ปตท.
สุดท้าย คาเฟ่คิง เป็นกาแฟเกรดพรีเมียม ราคาเริ่มต้นแก้วละ 50 บาท และเน้นเจาะตลาดต่างประเทศ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นำเข้าไปทดลองตลาดในประเทศจีน
นอกจากนั้น ยังมี “สตาร์คอฟฟี่ (Star Coffee)” ภายใต้บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจแฟรนไชส์ อาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 5,000 สาขาในประเทศไทย ซึ่งแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างดี ได้แก่ ไก่ย่างห้าดาว ไก่ทอดห้าดาว โดยในกลุ่มเครื่องดื่มถือว่า สตาร์คอฟฟี่เป็น Chain เครื่องดื่ม Chain แรกของบริษัท
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกันในกลุ่มบริษัทลูกภายใต้อาณาจักรซีพี ต้องถือว่า ซีพี ออลล์ มีแบรนด์ร้านกาแฟมากที่สุด โดยเฉพาะในปี 2563 บริษัทวางแผนเร่งขยายสาขากาแฟมวลชนและเบลลินี่เพิ่มขึ้น หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาลุยปลุกปั้นแบรนด์ “ออลล์คาเฟ่” ตามการเติบโตของร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นจนประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การรับรู้ของกลุ่มลูกค้า รสชาติเครื่องดื่ม และราคาไม่ได้อยู่ในระดับสูงมาก
ที่สำคัญร้านกาแฟมวลชนมีที่มาน่าสนใจ เพราะเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์ต้องการสร้างอาชีพให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟ ลดจำนวนคนว่างงาน และยกระดับมาตรฐานร้านกาแฟของคนไทย โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้การบริหารงานของนายนริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคลเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ในรูปแบบโครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน เนื่องจากเห็นโอกาสในการทำธุรกิจกาแฟในประเทศไทย มีการจัดอบรมให้ผู้สนใจธุรกิจร้านกาแฟ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีเงื่อนไขใดๆ
จนกระทั่ง เกิดร้านกาแฟต้นแบบร้านแรก ใช้ชื่อว่า “ร้านกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน”
ต่อมา ในปี 2558 ซีพี รีเทลลิงค์คอฟฟี่ ตัดสินใจ Re-Branding ใช้ชื่อใหม่ว่า “ร้านกาแฟมวลชน” หรือ Caffe Muan Chon แต่ยังคงดำเนินธุรกิจกาแฟภายใต้คอนเซ็ปต์ร้านกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ใช้วัตถุดิบเมล็ดกาแฟ ซึ่งปลูกในเมืองไทย โดยเกษตรกรชาวไทย และชาวไทยได้บริโภคในราคาที่จับต้องได้
สำหรับแนวทางการขยายสาขาของร้านกาแฟมวลชนมี 2 แบบ แบบแรกคือ บริษัทเป็นเจ้าของพื้นที่และเปิดจำหน่ายอยู่แล้ว ซึ่งแฟรนไชซีสามารถมาขอพื้นที่ แบบที่สอง แฟรนไชซีเป็นเจ้าของพื้นที่เอง
รูปแบบของร้านแฟรนไชส์ มี 3 Type ได้แก่ Type S ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 20 ตร.ม. เงินลงทุนประมาณ 470,000 บาท Type M ขนาดพื้นที่ 21-60 ตร.ม. เงินลงทุน 655,000 บาท และ Type L ขนาดพื้นที่ 61-120 ตร.ม. เงินลงทุน 845,000 บาท โดยเงินลงทุนทั้ง 3 รูปแบบ ยังไม่รวมค่าก่อสร้างและค่าตกแต่งร้าน นอกจากนี้ มีสเปเชียลไซส์ คีออส เงินลงทุนเริ่มต้น 255,000 บาท
ส่วนโมเดลคอฟฟี่ทรัค ราคาเริ่มต้น 1 ล้านบาท รวมค่าตกแต่งร้านและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดขายแฟรนไชส์ในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้โจทย์เรื่องการช่วงชิงทำเลการขายและผู้ลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายทดลองตลาดหรือเลือกทำเลการทำธุรกิจที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน เพิ่มโมเดลตู้กดอัตโนมัติ (vending machine) สามารถรับทั้งเงินสดและอีเพย์เมนต์ ซึ่งมีให้เลือกระหว่างการซื้อขาด เครื่องละประมาณ 400,000 บาท หรือทำสัญญาในรูปแบบแฟรนไชส์ สามารถจำหน่ายสินค้าอื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลายให้ลูกค้า เนื่องจากกระแสธุรกิจคอฟฟี่ทรัคและเวนดิ้งแมชชีนได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจฟู้ดทรัคมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการตั้งองค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรัค Food Truck Club (Thailand) มีสินค้ามากกว่า 700 ยี่ห้อ จากทั่วประเทศเข้าร่วมเครือข่าย
บางยี่ห้อมีรถฟู้ดทรัคมากถึง 10 คัน และมีรถฟู้ดทรัคในเครือข่ายเกือบ 1,000 คัน แบ่งสัดส่วนอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 70% และจังหวัดต่างๆ อีก 30%
นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากนี้ บริษัทจะเน้นเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกิจยุค 4.0 โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อเข้าถึงข้อมูลหรือสินค้าในวงกว้าง ซึ่งการเปิดตัวคอฟฟี่ทรัคและตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นการปรับเปลี่ยนตามกระแสธุรกิจแนวใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่และลงทุนง่ายขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ดึง “อาเล็ก-ธีรเดช เมธาวรายุทธ” มาเป็นพรีเซนเตอร์คนแรก เพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำการจดจำมากขึ้น โดยแผนการขยายสาขายังเน้นความเป็น “คอนวีเนียน คอฟฟี่” เปิดสาขาหลากหลายไซส์ และเริ่มต้นปรับเปลี่ยน Brand Logo จากเดิมที่เป็นชื่อเต็มภาษาไทย เป็นการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ “M” และอักษร “ม” ที่ย่อมาจาก มวลชน รวมทั้งยึดหลักการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม นำวัสดุธรรมชาติ (Bio) จากมันสำปะหลังและกากกาแฟ (zero waste) มาเป็นโครงสร้างและตกแต่งร้าน เช่น โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ภายในร้านต่างๆ ภาชนะทั้งจาน ช้อน หลอด แก้ว ฝา
ด้าน “เบลลินี่” เปิดตัวแฟรนไชส์รูปแบบใหม่ Grab & Go ใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 150,000 บาท และลดขนาดพื้นที่เล็กลง อยู่ที่ 20-25 ตร.ม. โดยประเดิมเปิดสาขาแรกที่โรงพยาบาลสินแพทย์ และตั้งเป้าหมายจะสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความง่าย โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนและทำเลต่างๆ เช่น ในโรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และมหาวิทยาลัย
เปรียบเทียบกับโมเดลมาตรฐาน ร้านพรีเมียมต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงถึง 1.2 ล้านบาท และพื้นที่มากกว่า 50 ตร.ม. ทำให้การขยายสาขาค่อนข้างช้า เสียเวลาหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะบริษัทไม่ต้องการเกิดปัญหาปิดสาขาจนเสียภาพลักษณ์แบรนด์
ปัจจุบันร้านกาแฟมวลชนมีสาขาประมาณ 150 แห่ง ส่วนเบลลินี่ มีสาขามากกว่า 40 แห่ง ซึ่งทั้งสองแบรนด์ต่างเร่งเปิดสาขาใหม่อีกจำนวนมาก
เหตุผลสำคัญ เพราะตลาดกาแฟยังมีอัตราเติบโตไม่หยุด แม้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากการดื่มกาแฟนอกบ้านกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทย สามารถสร้างมูลค่าเม็ดเงินในตลาดสูงถึง 27,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรถเข็น ซุ้มกาแฟรายย่อย และร้านคาเฟ่
ยิ่งเมื่อยักษ์ใหญ่ซีพีโหมกระหน่ำช่วงชิงส่วนแบ่งแบบจัดหนัก ตลาดยิ่งมีโอกาสขยายตัวและยังเพิ่มอุณหภูมิการแข่งขันร้อนเดือดด้วยเช่นกัน