วันศุกร์, ตุลาคม 11, 2024
Home > Cover Story > “แฟมิลี่มาร์ท” ติดปีกแฟรนไชส์ ฝ่าด่านสมรภูมิล้อมกรอบ

“แฟมิลี่มาร์ท” ติดปีกแฟรนไชส์ ฝ่าด่านสมรภูมิล้อมกรอบ

 
 
สงครามคอนวีเนียนสโตร์ 3 ค่ายยักษ์ เปิดศึกช่วงชิงทำเลผุดสาขาใหม่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเบอร์ 2 อย่าง “แฟมิลี่มาร์ท” กำลังเจอโจทย์หินล้อมกรอบ ทั้งเบอร์ 1 เซเว่น-อีเลฟเว่น ที่เร่งปูพรมสาขาถี่ยิบทุกพื้นที่ แถมเบอร์ 3 มาแรง “ลอว์สัน 108” ซึ่งทุนญี่ปุ่นประกาศรุกตลาดต่อเนื่อง อาศัยจุดขายความแปลกใหม่ฉีกตลาดร้านสะดวกซื้อและเตรียมเปิดศึกแฟรนไชส์ในเร็ววันด้วย 
 
ยังไม่นับค่าย “เทสโก้โลตัส” หลังเปิดโมเดลคอนวีเนียนสโตร์ “ร้าน 365” ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเดิม 5-6 สาขาในทำเลใจกลางเมือง เช่น ประตูน้ำ ทองหล่อ ตลาดมหาสิน-บางนา ด่านสำโรง และสาขามหาวิทยาลัยศรีปทุม ขณะนี้กำลังวางทิศทางขยายธุรกิจอย่างเข้มข้น 
 
ส่วนค่ายซีพี นอกจาก “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ยังมี “ซีพีเฟรชมาร์ท” ที่พยายามพัฒนาและแตกไลน์ร้านสไตล์คอนวีเนียนสโตร์โฉมใหม่ ล่าสุด เปิดตัวร้านซีพีเฟรชมาร์ท คอนเซ็ปต์ Modern Home Meal Solution จับคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการปรุงอาหารมื้อง่ายๆ ที่บ้าน จำหน่ายทั้งอาหารสด ผักสดและผลไม้ เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมปรุง อาหารแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทาน โดยนำร่องเปิดแล้ว 3 สาขา ได้แก่ สาขาราชพฤกษ์ สาขาประชาราษฎร์บำเพ็ญ 24 สาขาโรงพยาบาลรามาธิบดี และตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 80 สาขา 
 
เฉพาะ 3 ค่ายหลัก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2558  เซเว่น-อีเลฟเว่น เปิดสาขารวมทั้งสิ้น 8,334 สาขา และตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี เปิดครบ 10,000 สาขา แฟมิลี่มาร์ท มีสาขารวม 1,180 สาขา ตั้งเป้าขยายให้ครบ 3,000-3,500  สาขา ภายในปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562 
 
ส่วนค่าย “ลอว์สัน” ในเครือสหพัฒน์ หลังจากร่วมทุนกับกลุ่มลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น และใช้เวลาปรับระบบต่างๆ ทั้งการคัดเลือกทำเล จุดขายด้านสินค้าและบริการ ล่าสุดเปิดร้านได้ 30 แห่ง และวางแผนขยายครบ 3,000 สาขาในปี 2562 หรืออย่างช้าปี 2563 
 
แน่นอนว่า เป้าหมายการขยายสาขาต้องหักลบกับสาขาที่ต้องปิดตัว เนื่องจากการแข่งขันในพื้นที่ ทั้งในแง่ทำเลที่มีลูกค้าเป้าหมายต่ำกว่าคาดหมายและพื้นที่มีการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ ชนิดที่เปิดสาขาชนกัน ทำให้ “แฟมิลี่มาร์ท” ต้องเร่งสปีดทั้งจำนวนสาขาและการเลือกทำเลที่มีศักยภาพสูงสุด  
 
แหล่งข่าวจากบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ว่า บริษัทเพิ่งปรับปรุงสรุปเงื่อนไขสาขาแฟรนไชส์เมื่อเดือนเมษายน และจัดงาน แฟมิลี่มาร์ท แฟรนไชส์ ฟอรั่ม 2015 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Welcome to Family” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท โดยชูจุดแข็งในฐานะคอนวีเนียนสโตร์ต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น มีสาขามากกว่า 20,000 สาขา ใน 9 ประเทศ และเป็นบริษัทในเซ็นทรัลกรุ๊ป มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกครบวงจร ที่สำคัญมีการปรับเงื่อนไขแฟรนไชส์หลากหลายมากขึ้น 
 
ทั้งกรณีนักลงทุนมีและไม่มีทำเล เงินลงทุนเปิดร้านเริ่มต้นตั้งแต่ 1.2 ล้านบาท 2.5 ล้านบาท และ 3.85 ล้านบาท หรือในกรณีเป็นพนักงานบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท และกรณีไม่มีเงินลงทุนมาก สามารถเป็นผู้จัดการร้านสาขาและรับส่วนแบ่งรายได้  ซึ่งใช้เงินลงทุนเพียง 300,000 บาท
 
ในการสัมมนากับกลุ่มนักลงทุนแฟรนไชส์ ณัฐ วงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท ประกาศวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะให้ “แฟมิลี่มาร์ท” เป็นผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในย่านธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ใช่ทุกพื้นที่ชุมชนเหมือนคู่แข่ง และปัจจุบันสร้างโมเดลสาขาหลากหลาย ทั้งสาขาสแตนดาร์ด คีออสช็อป ร้านพื้นที่ขนาดเล็ก, โมบายช็อป รูปแบบรถให้บริการเคลื่อนที่, ป๊อบ-อัพ ช็อป และเอ็กซ์คลูซีฟ ดีไซน์ ซึ่งจับมือกับพันธมิตรเปิดสาขาในรูปแบบใหม่ดีไซน์เฉพาะ
 
โดยเฉพาะความพยายามฉีกโมเดลสาขาโมบายช็อป ป๊อปอัพช็อป และเอ็กซ์คลูซีพดีไซน์ มีการออกแบบร้านสร้างสีสันดึงดูดลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น จัดพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม สไตล์ “แฮงก์เอาต์” ซึ่งเหมาะกับทำเลท่องเที่ยว และการสร้างแบรนด์ผ่าน “ป๊อปอัพช็อป” ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าสาขาต่างๆ เพราะถือเป็นสาขาเฉพาะกิจรองรับอีเวนต์ต่างๆ อย่างลานจอดรถ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลภูเก็ต และเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ
 
ทั้งนี้ แฟมิลี่มาร์ทพยายามหากลุ่มลูกค้าใหม่และขยายฐานตลาดระดับบนมากขึ้น เพื่อหนีเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งเจาะตลาดชาวบ้านค่อนข้างแมสมาก โดยเฉพาะการเลือกรายการสินค้าและเมนูอาหาร ภายใต้แบรนด์ Family Mart Collection, แบรนด์ Fami ขยายครัว Fami Kitchen บริการอาหารแบบปรุงสด พร้อมทาน เน้นอาหารสไตล์ญี่ปุ่นตามเทรนด์คนรุ่นใหม่และมีกำลังซื้อ เช่น โอเด้ง ข้าวปั้นโนริมากิ  เมนูอาหารพร้อมทานจาก The Terrace เบเกอรี่จากมิสเตอร์โดนัท และเครื่องดื่มกาแฟสด Fami 
 
เปิดบริการชำระเงิน CenPay ครอบคลุมค่าบริการต่างๆ และเพิ่มบริการ W-fi Hot Spot ซึ่งเหมาะกับสาขาแฮงก์เอาต์  
 
อย่างไรก็ตาม ความพยายามปรับ Positioning ของแฟมิลี่มาร์ทในฐานะคอนวีเนียนสโตร์ต้นตำรับจากประเทศญี่ปุ่น แม้เบี่ยงจุดขายและจุดแข็งหนีจากเบอร์ 1 แต่ต้องมาเจอ “เบอร์ 3” อย่างลอว์สัน ซึ่งมีจุดแข็งจุดขายเหมือนกัน 
 
แม้เทียบจำนวนสาขา ลอว์สันยังอยู่ในหลักสิบเท่านั้น ซึ่งเวทิต โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ลอว์สันไม่ได้เร่งรีบขยายสาขา เนื่องจากเบอร์ 1 ในตลาดเก่งและแข็งแกร่งมาก ลอว์สันต้องอาศัยการเลือกทำเลและกลุ่มลูกค้าที่เหมาะกับลอว์สันจริงๆ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ย่านท่องเที่ยว แหล่งอาศัยของชาวญี่ปุ่น มหาวิทยาลัย เนื่องจากเน้นการสร้างบรรยากาศและสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เพราะถือเป็นความแปลกใหม่ที่จะอยู่รอดและเอาชนะในตลาด ซึ่งที่ผ่านมา ลูกค้าตอบรับจุดขายของลอว์สันอย่างดี
 
กลยุทธ์ล่าสุด ร้านลอว์สัน 108 กำลังพยายามสร้างจุดขายใหม่ในฐานะร้านสะดวกซื้อที่มีขนมญี่ปุ่นรูปแบบใหม่เข้ามาหมุนเวียนให้ลูกค้าเลือกซื้อตลอดเวลา วัตถุดิบหลักส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อคุมรสชาติเหมือนต้นตำรับแท้ๆ และถือเป็นเมนูเอ็กซ์คลูซีฟที่คู่แข่งลอกเลียนแบบไม่ได้ เช่น เมนู “ซากุระโมจิ” ซึ่งเป็นขนมที่มีเฉพาะฤดูกาลดอกซากุระบานเท่านั้น และยังมีเมนูขนมภายใต้แบรนด์ “ลอว์สัน” สูตรเฉพาะจากญี่ปุ่น เช่น เครปไส้ชาเขียว เครปไส้ช็อกโกแลต เอแคร์เคลือบช็อกโกแลตชาไทย  เอแคร์เคลือบช็อกโกแลตสตรอเบอรี่ ลอว์สันช็อกโกแลตคุกกี้ชูว์  ลอว์สันไนต์สติ๊กไส้กาแฟ
 
ประชันกลยุทธ์หมัดต่อหมัด เกมนี้เดือดอีกหลายยก ที่สำคัญ สงครามจะทวีความร้อนแรง เมื่อเบอร์3 ลุยสมรภูมิแฟรนไชส์ท้าชน 2 ยักษ์ แต่มองทั้งกระดานแล้ว “แฟมิลี่มาร์ท” หืดขึ้นคอแน่