วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > อีซี่มันนี่-แคชเอ็กซ์เพรส รุกตลาดโรงตึ๊งแสนล้าน

อีซี่มันนี่-แคชเอ็กซ์เพรส รุกตลาดโรงตึ๊งแสนล้าน

โรงรับจำนำกลายเป็นธุรกิจโตสวนกระแส ยิ่งเศรษฐกิจฝืดเคือง ยิ่งพุ่งทะยาน ทำให้มีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น เร่งขยายบริการหลากหลาย ปรับโฉมทันสมัยและงัดกลยุทธ์การตลาดดึงดูดทุกรูปแบบ เพื่อแข่งขันสร้างภาพลักษณ์การเป็นแหล่งเงินที่เข้าถึงง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ โดยเฉพาะ 2 เจ้าใหญ่ “อีซี่มันนี่-แคชเอ็กซ์เพรส” ที่กำลังเปิดศึกแย่งชิงเม็ดเงินในตลาดที่หลายฝ่ายประเมินสูงเกือบแสนล้านบาท

ต้องยอมรับว่า โรงรับจำนำ โรงตึ๊ง อยู่กับสังคมไทยมานาน เมื่อย้อนประวัติศาสตร์การจำนำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณในรัชสมัยพระบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 ระบุให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน ให้จำนำกันแต่คนที่รู้จักกันดี ไม่ได้มีการตั้งโรงรับจำนำทั่วไป

กระทั่งปี 2409 ชาวจีน ชื่อ ฮง แซ่เบ๊ ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกในประเทศไทย ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง ชื่อร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” เริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียง 1 เฟื้อง (12 .5 สตางค์) จากเงินต้น 1 ตำลึง (4 บาท)

ปี 2411 มีการตราพระราชบัญญัติ กำหนดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าชั่งละ 1 บาท หรือ 1.25% ต่อเดือน

เมื่อโรงรับจำนำของจีนฮงได้รับความนิยมมาก จึงมีผู้เปิดโรงรับจำนำอีกหลายสิบโรง เป็นธุรกิจยอดนิยมของคนมีทุน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากถึง 200 โรง เนื่องจากสมัยนั้นไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาล

จนปี 2438 (ร.ศ. 114) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำรัตนโกสินทร์ศก 114 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต มีการกำหนดค่าธรรมเนียม ระยะเวลาการใช้ใบอนุญาต เวลาจำนำและไถ่ถอน ให้จัดทำตั๋วจำนำและบัญชีเป็นหลักฐาน พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ เงินต้นไม่เกิน 1 บาท คิดดอกเบี้ย 3 อัฐ ต่อ 1 เดือน

ถ้าเงินต้นเกิน 50 บาทแต่ไม่เกิน 400 บาท คิดดอกเบี้ยบาทละ 2 อัฐต่อ 1 เดือน การไถ่ของกำหนดภายใน 3 เดือน หากเทียบอัตรา 64 อัฐเป็น 1 บาท ดังนั้น 3 อัฐ เท่ากับ 1.56%

สำหรับโรงรับจำนำแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 ชื่อ “ฮั้วเส็ง” ก่อตั้งโดยนายเล็ก โทณวณิก

ต่อมาทางการยกเลิกพระราชบัญญัติ ร.ศ. 114 และตราพระราชบัญญัติใหม่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2481 ให้ใช้วิธีประมูลตั้งโรงรับจำนำทุกๆ 5 ปี เพราะไม่ต้องการให้มีมากเกินไป

ขณะที่โรงรับจำนำของรัฐจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

กระทั่งปัจจุบัน ธุรกิจโรงรับจำนำในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. โรงรับจำนำของเอกชนในรูปธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด 2. โรงรับจำนำที่ดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “โรงรับจำนำของรัฐ” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” เมื่อปี 2500 ก่อนย้ายมาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกวันนี้ และ 3. โรงรับจำนำของเทศบาล เรียกว่า สถานธนานุบาล ได้แก่ สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2536

ล่าสุด สถานธนานุเคราะห์มี 39 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 29 สาขา ปริมณฑล 4 สาขา และต่างจังหวัด 6 สาขา โดยกระทรวงมีแผนขยายสาขาอีก 2 แห่ง สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมี 21 สาขา ส่วนโรงรับจำนำของเอกชนแม้ไม่มีการสำรวจตัวเลขชัดเจน แต่คาดการณ์ไม่ต่ำกว่า 800 แห่ง

หากเปรียบเทียบกัน โรงรับจำนำของรัฐมีจุดแข็งในแง่ความน่าเชื่อถือเพราะเป็นของรัฐและอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน เงินต้น 5,001-10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 บาทต่อเดือน เงินต้น 10,001-20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 บาทต่อเดือน เงินต้น 20,001-100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงรับจำนำเอกชนหันมาแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยแย่งชิงกลุ่มลูกค้า จนทำให้รายได้ของกลุ่มโรงรับจำนำของรัฐเติบโตลดลง ดูจากผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2562 ของสถานธนานุเคราะห์ทั่วประเทศ มีผู้นำทรัพย์มาจำนำรวม 1,370,703 ราย เทียบปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1,309,064 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 4.71% มูลค่าทรัพย์รวม 19,511.88 ล้านบาท เทียบปีก่อนหน้าอยู่ที่ 18,967.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.87%

ทรัพย์สินที่จำนำ ได้แก่ ทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ เงินรูปพรรณ นาฬิกาข้อมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ เครื่องมือช่าง ปากกา กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรี รวมถึงเครื่องมือการเกษตร

ทั้งตัวเลขและประเภททรัพย์สินดังกล่าวสามารถสะท้อนมูลค่าตลาดที่มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จนดึงดูดนักธุรกิจเอกชนประกาศอัดเม็ดเงินลงทุน แม้กระทั่งธนาคารกรุงไทยออกมาเปิดตัวสินเชื่อธุรกิจ “กรุงไทย โรงรับจำนำ” ให้วงเงินสูงสุด 5 เท่า ของมูลค่าหลักประกัน เพื่อเจาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงรับจำนำเอกชน ทั้งกลุ่มผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้จัดการ หรือ “หลงจู๊” ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจไม่ต่ำกว่า 8 ปี

นั่นยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่สงครามโรงตึ๊งจะดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจทำให้กลุ่มลูกค้ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

นายสิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ผู้ให้บริการโรงรับจำนำ “อีซี่มันนี่” กล่าวว่า ลูกค้าโรงจำนำอีซี่มันนี่แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก

กลุ่มแรก ลูกค้าที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นกลุ่มที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลัก แต่มีความสามารถเก็บออมทรัพย์สินมีค่า เช่น เครื่องประดับ ทองคำ ซึ่งถ้ามีค่าใช้จ่ายก็จะนำทรัพย์มาเปลี่ยนเป็นเงิน เอาไปใช้จ่าย อันนี้พฤติกรรมการจำนำหรือการไถ่ถอนทรัพย์จะเป็นตามฤดูกาล เช่น ปลายปีมีโบนัส ช่วงตรุษจีน สงกรานต์ จะมีการไถ่ถอนมาก ขณะที่ช่วงใกล้เปิดเทอมจะมีการจำนำมาก กลุ่มนี้ถ้าเศรษฐกิจฝืดเคือง ตกงาน หรือไม่มีโบนัส ตัวเลขการไถ่ถอนจะน้อย ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจน

ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ประกอบธุรกิจ มีตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ไปถึงผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้เข้าโรงรับจำนำเพื่อนำเงินไปลงทุน ต่อยอดธุรกิจ ขยายธุรกิจ สต๊อกสินค้า หรือใช้เป็นเครื่องเสริมสภาพคล่องในช่วงที่รายรับรายจ่ายไม่สมดุลกัน

“ปีนี้ บริษัทเตรียมเงินลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อเร่งขยายสาขาในจังหวัดต่างๆ อีก 10 สาขา จากปัจจุบันมีสาขารวม 50 แห่ง และร้านขายสินค้ามือสอง Easy Money Shop จำนวน 2 ร้าน โดยต้องการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการสูงเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อราย เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าทั่วไปมีความต้องการกู้เงินเฉลี่ย 20,000 บาทต่อราย และหากมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว ผู้ประกอบการจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวก่อน”

ด้านคู่แข่ง “แคชเอ็กซ์เพรส” (Cash Express) ซึ่งถือเป็นกลุ่มโรงรับจำนำเอกชนที่ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปี ตัดสินใจปรับโฉมใหม่ ใช้ชื่อว่า แคชเอ็กซ์เพรส จากเดิมใช้ชื่อตามสถานที่ตั้งและเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัยเต็มรูปแบบ ใช้การสแกนลายนิ้วมือแทนการพิมพ์ลายนิ้วมือด้วยหมึกพิมพ์สีดำ ใช้กระจกแทนลูกกรง และนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยบริหารจัดการและเก็บข้อมูล เน้นความปลอดภัย ลดปัญหาทรัพย์สินสูญหาย เพื่อสร้างจุดขายเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาจำนำ

นอกจากนี้ แคชเอ็กซ์เพรส ทั้ง 11 สาขา อยู่ในย่านชุมชนและแหล่งธุรกิจ เช่น หัวลำโพง ประตูน้ำ อุดมสุข ลาดกระบัง-อ่อนนุช วัชรพล คู้บอน กรุงเทพนนท์ ติวานนท์ ประชานนทบุรี (ถนนพิบูลสงคราม) เมืองทองนนทบุรี และ รังสิต-เลียบคลอง 3 รวมทั้งลูกค้าสามารถติดต่อผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์

ขณะเดียวกันแคชเอ็กซ์เพรสยังงัดบริการรับประเมินราคาสินทรัพย์ทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าก่อนเดินทางมาที่โรงรับจำนำ เน้นมูลค่าตามราคาตลาด รองรับลูกค้ากลุ่มคนทำงานทั่วไป กลุ่มนักธุรกิจ และผู้ค้าออนไลน์

แน่นอนว่า สมรภูมิธุรกิจโรงตึ๊งแข่งขันสูง ซึ่งหากมองการปรับตัวของอีซี่มันนี่ แคชเอ็กซ์เพรช และโรงรับจำนำอีกหลายแห่ง ด้านหนึ่งสะท้อนศักยภาพการขยายตัว ตลาดที่มีเม็ดเงินสะพัดหลักแสนล้านบาท

แต่อีกด้านหนึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่ผู้คนอยู่ในภาวะ “เงินขาดมือ” อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านระดับกลางถึงล่าง ต้องจำนำทรัพย์สินทุกชิ้น ไม่เว้นเครื่องมือทำกิน ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและรัฐบาลต้องเร่งแก้ก่อนจะสายเกินไป

สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ

 

ใส่ความเห็น