ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องจบชีวิตจากเศษซากพลาสติกอันเป็นผลผลิตจากมนุษย์ ที่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากปัญหาขยะล้นเมืองแทบทั้งสิ้น
“ขยะ” ยังคงเป็นปัญหาสากลที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงประเทศไทยเอง ที่ดีกรีความเข้มข้นของปัญหาดูยังไม่ลดน้อยถอยลงไปเลย และยังคงสร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตร่วมโลก
ปริมาณขยะนับวันจะเพิ่มสูงมากขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ชุมชนเกิดการขยายตัว วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เกิดการบริโภคที่มากขึ้น รวมถึงการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวเร่งปริมาณขยะให้ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64 แต่มีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตันที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี
การสร้างความตระหนักรู้ในการลดปริมาณขยะ ตามหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปรีไซเคิล ลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลาสติก ตลอดจนการนำกลับมาใช้ซ้ำ ที่สังคมกำลังตื่นตัวและรณรงค์กันอยู่ในตอนนี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญและเป็นการแก้ปัญหาขยะที่ตรงจุดและยั่งยืน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรการในการจัดการขยะที่เหมาะสม ทั้งขยะมูลฝอยทั่วไปจากครัวเรือนและขยะจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีวิธีการกำจัดที่แตกต่างกันก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักและความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
เดิมทีมีการใช้วิธีการเผาและเทกองเพื่อฝังกลบ (Landfill) ในการจัดการขยะ แต่วิธีดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบและปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งควันและกลิ่นจากการเผาขยะ ที่ไม่ใช่ปัญหาแค่กลิ่น แต่ยังมีสารก่อมะเร็งที่แฝงมาอีกด้วย อีกทั้งการฝังกลบที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดปัญหา “น้ำชะขยะ” ที่ทับถมกันก่อนซึมลงสู่ชั้นใต้ดินและปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำที่ประชาชนนำไปอุปโภคบริโภค เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำตามมาในที่สุด ซึ่งการเผาและฝังกลบขยะที่เคยทำมาจึงไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก ดังนั้นหลากฝ่ายจึงมีการพัฒนาวิธีและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการนำมาใช้จัดการขยะ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและไม่สร้างผลกระทบอื่นๆ ตามมา
การนำขยะมาแปรเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบของ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” จึงเข้ามาเป็นโซลูชั่นใหม่ในการจัดการขยะ อันมาจากแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ในการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้านั้น จริงๆ แล้ว มีหลายเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ทั้งเทคโนโลยีเตาเผา (Incineration), เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะ (Gasification), เทคโนโลยีไพโรไลซีส (Pyrolysis), เทคโนโลยีพลาสมา (Plasma), เทคโนโลยีการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic digestion), เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบ (landfill gas), เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse derived fuel) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
อีกทั้งกระบวนการในผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตั้งแต่การขนส่ง คัดแยกขยะ ตลอดจนชั้นตอนสุดท้ายในการปล่อยควันและกากจากการเผาไหม้ออกสู่สิ่งแวดล้อมนั้นต้องได้รับการตรวจสอบแล้วว่าไม่สร้างมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่สูงและต้องได้มาตรฐาน เพื่อเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าและกลายเป็นต้นแบบที่สำคัญ อย่างเมืองบัลโม ประเทศสวีเดน ที่ได้เริ่มต้นในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ปี 1940 ทั้งการคัดแยกและนำมาผลิตเป็นพลังงาน จนทุกวันนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษตามมา ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีที่ใช้แล้ว สวีเดนยังมีกฎหมายที่เข้มงวด มีการวางรากฐานในการจัดเก็บตลอดจนคัดแยก จนขยะเกือบทั้งหมดถูกนำกลับไปใช้ใหม่ เหลือเพียงจำนวนน้อยที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนของสวีเดนเองด้วย ล้วนทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะได้อย่างดีและกลายเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศ
หรือบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยอย่างสิงคโปร์ มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ดำเนินการโดย บริษัท แซมบ์คอร์ป จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจูล่ง มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับไทย แต่ต่างกันตรงที่สิงคโปร์มีกฎที่เข้มงวดในการคัดแยกขยะ อีกทั้งผู้ผลิตขยะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเองด้วย โรงไฟฟ้าขยะที่สิงคโปร์จึงทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างกำจัดขยะ ในขณะที่ไทยโรงกำจัดขยะจะต้องเป็นผู้รับซื้อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในไทยสูงกว่าสิงคโปร์
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะกระจายอยู่หลายจังหวัด ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะมูลฝอยจากชุมชน และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าจากกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อใช้แทนพลังงานจาก ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ หลังจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เคยบูมเมื่อหลายปีก่อนดูแผ่วลงไป
พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนเป็นนโยบายสำคัญอันดับต้นๆ ด้านพลังงานของประเทศไทย ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) โดยมีการตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2579 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ของประเทศไทยต่างกำหนดเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะจำนวนรวม 550 และ 520 เมกะวัตต์ตามลำดับ
ข้อดีของการผลิตไฟฟ้าจากขยะคือเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก ช่วยลดปัญหาในการจัดการขยะ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือทำเลที่ตั้งและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ต้องเหมาะสมและได้มาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูง ต้นทุนในการผลิตจึงค่อนข้างสูง อีกทั้งปัญหาหลักของโรงไฟฟ้าขยะคือการต่อต้านจากชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยเหตุผลหลักของการคัดค้าน คือความกังวลเรื่องของเสียที่ออกมาจากโรงไฟฟ้า ทั้งกลิ่น ควัน น้ำเสีย และการขนย้ายขยะจะกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน
ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากขาดการทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนทั้งจากภาครัฐเองและเอกชนผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องได้มาตรฐานและจะไม่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนโดยรวม เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ แต่มีเอกชนบางรายที่พยายามลดต้นทุนโดยการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้มาตรฐาน จนก่อให้เกิดมลพิษตามมา กลายเป็นแต้มลบให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะไปในที่สุด
ที่ผ่านมามีข่าวการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจากชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่ ทั้งชาวบ้าน ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท ปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด, ชุมชน ต.ดงสิงห์ อ.จังหาน จ.ร้อยเอ็ด ที่ขอให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตำบลดงสิงห์ของบริษัทเอกชน หรือที่ อ.หนองบัว นครสวรรค์ กับการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท ทรู เอ็นเนอร์จี จำกัด เป็นต้น
แต่ในขณะเดียวกันก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ให้เอกชนดำเนินงานในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 11 แห่ง ใน 9 จังหวัด (จ.หนองคาย จ.กระบี่ จ.ระยอง จ.นนทบุรี กรุงเทพ จ.อยุธยา จ.สระบุรี จ.อุดรธานี และ จ.ตาก) กำลังผลิตติดตั้ง 83 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 13,101 ล้านบาท หวังลดปริมาณขยะ 2,600 ตันต่อวัน และมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2562
รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าบ้านธาตุ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ภายใต้บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ตั้งขึ้นเพื่อรองรับกากอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย และที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาอย่างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 บนทำเลยุทธศาสตร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นความหวังของรัฐบาลในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และมีแนวโน้มจะมีการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขึ้นอีกหลายแห่ง โดยดูจากการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อปี 2559 ซึ่งมีเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือก 7 ราย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
ดูเหมือนว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะกลายเป็นความหวังในแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาขยะได้แล้ว ยังได้พลังงานทดแทนนำกลับมาใช้ได้อีกด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อไปคือการดำเนินงานและมาตรฐานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะต้องเป็นไปเพื่อกำจัดปริมาณขยะ ผลิตพลังงานทดแทนและที่สำคัญต้องไม่สร้างมลพิษเพิ่มให้กับสิ่งแวดล้อมดังที่หลายฝ่ายกังวลอยู่