วันจันทร์, พฤศจิกายน 4, 2024
Home > New&Trend > สกสว.หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมมลายู

สกสว.หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมมลายู

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ ชุมชนสองวิถี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ เลื่องลืออาหารชาววัง ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ บริการเช่าชุดพื้นเมือง ปั่นจักรยานเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นของชาวต้มยำกุ้ง ผลิตภัณฑ์สินค้าอัตลักษณ์ โอทอป

ทุกกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้น นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย แต่อิ่มใจ ได้ที่ “บาราโหม” บ้านปาเระ หมู่ที่ 1 ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและงานหัตถกรรมสามารถเดินทางมาเรียนรู้ประสบการณ์ในกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนที่มีแพคเกจให้เลือก ที่ไม่อยากให้พลาดคือ การล่องเรือดูวิถีชีวิตคนริมฝั่งคลองและอ่าวปัตตานีในยามเช้าอากาศเย็นสบาย ภาพชาวประมงที่ออกหาปลา สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในทะเล แล้วเลียบชายฝั่งไปชมอุโมงค์ป่าโกงกางที่สวยงาม จอดพักถ่ายรูปและทำสปาโคลนนวดฝ่าเท้าด้วยการเหยียบลงไปรากโกงกาง ค่าบริการเหมาเรือลำละ 700 บาท (ไม่เกิน 6 คน)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเที่ยวบ้านปาเระ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เก่าแก่และเยี่ยมชมภูมิปัญญาท้องถิ่น ในราคาคนละ 450 บาท ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ปตอนีดารุสลาม ชมสุสานของบุคคลสำคัญในอดีตทั้งพระยาอินทิรา หรือสุลต่านอิสมาอีล ซาห์ เจ้าเมืององค์แรก พร้อมด้วยพระมเหสี และราชินี 3 พี่น้อง การชมงานหัตถศิลป์ของช่างฝีมือ เช่น การประดิษฐ์กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องดนตรีทำมือ และการทำว่าวที่วิจิตรสวยงาม การแกะสลักเชิงชายลายมลายูท้องถิ่น

อิ่มตาอิ่มใจแล้วอิ่มท้องกันต่อด้วยการรับประทานอาหารพื้นถิ่นฝีมือสาว ๆ ในหมู่บ้าน ประกอบด้วย แกงเหลืองปลาโอ ยำฆาบูซือเปะ ปลาฆอแงทอด บูดูทรงเครื่อง-ผักลวก และขนมอาเก๊าะ จากนั้นร่วมกิจกรรมทำขนมโบราณ ทำผ้ามัดย้อมโดยกลุ่มบาราโหมบาร์ซาที่มีสมาชิกเป็นเยาวชนนอกระบบ นอกจากนี้ยังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนของฝาก ของที่ระลึก เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่แกะลวดลายจากเศษกระเบื้องถ้วยชามโบราณ

นางฟารีดา กล้าณรงค์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘บาราโหมบาร์ซา’ ได้ชักชวนน้อง ๆ นอกระบบการศึกษาเข้ามาเป็นสมาชิก เล่าถึงความมุ่งมั่นในการสร้างงานสร้างรายได้โดยทำผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกขาย โดยเปิดอบรมการแกะสลักบล็อคไม้ให้กับคนในชุมชนเพราะมีช่างไม้ที่มีความชำนาญอยู่แล้ว แทนการใช้บล็อกเหล็กและสั่งพิมพ์ลายจากรุงเทพฯ ซึ่งมีต้นทุนสูงและรอนาน ทำให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จากทางจังหวัด และการออกแบบลายโลโก้จากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด รวมถึงการสนับสนุนด้านสื่อสารการตลาดจากนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนักวิจัยจาก สกสว. ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถติดต่อได้เพจชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม หรือเบอร์ 093-5802702

นายจิรศักดิ์ อุดหนุน หัวหน้าโครงการ “วิจัยและพัฒนาศักยภาพเยาวชนนอกระบบจังหวัดชายแดนใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนจากหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ได้ร่วมทำงานกับทีมวิจัยในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ และถอดความรู้การทำงานของกลุ่มเยาวชนตัวแบบที่ริเริ่มสร้างความเป็นผู้ประกอบการนักสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานและต้นทุนการทำงาน จัดทำแผนที่ข้อมูลและความเป็นไปได้ของของเยาวชน ตลอดจนถอดบทเรียนตัวแบบที่มีในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนที่ข้อมูลและกลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเยาวชน รวมถึงแผนที่และเส้นทางวัฒนธรรม องค์ความรู้วัฒนธรรมมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

นับเป็นการสร้าง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สร้างรายได้แก่คนในชุมชน และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไปนานเท่านาน

เวิร์คช็อปผ้ามัดย้อม

Barahom Bazaar Shop

วิถีประมง

ฟารีดา กล้าณรงค์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘บาราโหมบาร์ซา’

ผลงานแฟชั่นเสื้อผ้า

ใส่ความเห็น