“โรบินสัน” ฉลองครบรอบ 40 ปี งัดแคมเปญใหญ่ ROBINSON 40th ANNIVERSARY ยาวถึงวันที่ 10 พ.ย. และต้องถือเป็นช่วงจังหวะการเปลี่ยนผ่านตามแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งประกาศจะนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “CRC” เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้น ROBINS เพื่อจัดกระบวนทัพค้าปลีก โดยเฉพาะการผนึกความแข็งแกร่งของห้างสรรพสินค้าทั้งสองแบรนด์ “เซ็นทรัล-โรบินสัน” ที่มีส่วนแบ่งรวมกันมากกว่า 50% ให้ชัดเจนมากขึ้น
ที่สำคัญ โรบินสันประกาศเปิดเกมรุกสงครามห้างส่งท้ายปี 2562 เตรียมเผยโฉมสาขาลาดกระบัง ซึ่งถือเป็นรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์แห่งแรกในเขตกรุงเทพฯ หลังจากทยอยผุดสาขาไลฟ์สไตล์บุกจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และนำร่องเจาะปริมณฑล 2 สาขา คือ สาขาศรีสมาน นนทบุรี และสาขาสมุทรปราการ รวมทั้งซุ่มวางแผนผุดสาขารูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อเจาะเขตเมืองมากขึ้น
ทั้งนี้ หากย้อนรอยเส้นทางกว่า 40 ปี ของ “โรบินสัน” เริ่มแรกใช้ชื่อ บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดย มานิต อุดมคุณธรรม นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าปลีก ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหาร “โฮมโปร” และ กมลพันธ์ ศิริพรรณพร ซึ่งล่าสุดเป็นผู้บริหารบริษัท แอคทีฟ เนชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์กีฬาสปอร์ตเวิลด์ โดยมานิตปักหมุดแรกย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อปี 2522 และขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 3 มกราคม 2535 โรบินสันจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ โดยถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจจนต้องเปิดทางให้กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อปี 2538
กระทั่งปี 2562 กลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของโรบินสัน เปิดทางให้บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน
จะว่าไปแล้ว โรบินสันฝ่ามรสุมธุรกิจ เปลี่ยนผู้บริหารและปิดสาขาด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างน้อย 9 สาขา ได้แก่ สาขาสยามสแควร์ ที่เปิดได้เพียง 2 ปี และถูกปรับปรุงเป็นห้างโบนันซ่ามอลล์ จนกระทั่งสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุบอาคาร เพื่อสร้างอาคารสำนักงานแนวใหม่ “สยามสเคป” จะเปิดให้บริการในปี 2563
สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดเมื่อปี 2522 และปิดในปี 2544 เปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ จนถึง 31 ตุลาคม 2560 ล่าสุดยังไม่มีเจ้าของรายใหม่
สาขาราชดำริ เปิดเมื่อปี 2525 และปิดในปี 2538 ปัจจุบันเป็นโครงการเดอะ มาร์เก็ต แบงค็อก
สาขาสีลม เปิดเมื่อปี 2527 และปิดในปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาคารสีลมเซ็นเตอร์
สาขาดอนเมือง เปิดเมื่อปี 2532 และปิดปี 2543 ปัจจุบันเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาดอนเมือง
สาขารัชดาภิเษก เปิดเมื่อปี 2532 และปิดในปี 2556 โดยย้ายสาขาพร้อมสำนักงานใหญ่ของโรบินสันไปยังโครงการเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 ส่วนอาคารเดิมได้รับการปรับปรุงเป็นศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา
สาขาลาดหญ้า เปิดเมื่อปี 2540 และปิดปี 2558 โดยย้ายสาขาไปยังโรบินสัน สาขาบางรัก โครงสร้างปัจจุบันปรับปรุงเป็นศูนย์การค้าแพลตฟอร์ม วงเวียนใหญ่ บริหารงานโดย กลุ่มเซ็นทรัล
สาขาอุบลราชธานี เปิดเมื่อปี 2539 และปิดปี 2560 โดยย้ายสาขาไปยังเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี
สุดท้าย สาขา สุขุมวิท เปิดเมื่อปี 2533 และตามแผนจะปิดในปี 2564 แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อสัญญา
ปัจจุบัน บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจทั้งรูปแบบห้างสรรพสินค้าภายใต้ชื่อ “โรบินสัน” และศูนย์การค้าภายใต้ชื่อ “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์” มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 49 สาขา โดยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะเปิดศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง ซึ่งจะเป็นห้างสรรพสินค้าสาขาที่ 50 และเป็นศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์สาขาที่ 23
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาโครงสร้างอาณาจักรธุรกิจของ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ในกลุ่มห้างสรรพสินค้ามี 2 แบรนด์หลัก คือ เซ็นทรัลและโรบินสัน
ล่าสุด ห้างเซ็นทรัลมี 23 สาขา ได้รับการจัดอันดับให้เป็นห้างสรรพสินค้าอันดับหนึ่งในประเทศไทย ทั้งในแง่ส่วนแบ่งการตลาดและจำนวนพื้นที่ขาย คือ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35 ในปี 2560 และร้อยละ 37 ในปี 2561 จากรายงานของ Euromonitor International
ส่วนโรบินสันได้รับการจัดอันดับเป็นห้างสรรพสินค้าอันดับสองในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 17 แต่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งในแง่จำนวนสาขาและพื้นที่ขายสุทธิ
แน่นอนว่า บทเรียนและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจกว่า 40 ปี ทำให้โรบินสันพยายามค้นหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งดูเหมือนบทสรุปทั้งหมดมาจบที่ “ไลฟ์สไตล์-สแตนด์อะโลน” ต่างจากเดิมที่ขยายสาขาตามศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เนื่องจากต้องการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทุกเจเนอเรชั่นและพฤติกรรมของคนไทยไม่ได้ต้องการจับจ่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ ทั้งกิน เที่ยว และจับจ่าย
ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์จึงมีทั้งห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศูนย์อาหาร ร้านอาหารชั้นนำ โรงภาพยนตร์ ธนาคารพาณิชย์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ สวนน้ำหรือสวนสนุก และฟิตเนส
ขณะที่หากเปรียบเทียบกลุ่มลูกค้ากัน แบรนด์เซ็นทรัลเน้นกลุ่มลูกค้าระดับ A มากกว่า แต่โรบินสันพุ่งเป้ากลุ่มวัยทำงานและกลุ่มครอบครัวสมัยใหม่ อายุระหว่าง 25-45 ปี กำลังซื้อระดับปานกลางถึงสูง และมีกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา อายุระหว่าง 18-24 ปี รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น กลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม กลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีหลายโลเคชั่น เช่น สาขาสุขุมวิท สาขาบางรัก สาขาหาดใหญ่ สาขาศรีราชา สาขาจังซีลอน สาขาภูเก็ต สาขาเชียงใหม่ สาขาชลบุรี และสาขาระยอง
ทั้งหมดทำให้กลุ่มเซ็นทรัลสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างครอบคลุมผ่านห้างเซ็นทรัลและโรบินสัน
สำหรับศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง ซึ่งจะเปิดให้บริการช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นโมเดลไลฟ์สไตล์พลาซ่าขนาดใหญ่ที่สุด ในคอนเซ็ปต์ Oasis ประกอบด้วยโซนหลักๆ คือ โซน Kid Oasis มีทั้ง Playland, Learning Education, Kids Cinema
โซน New Gen Oasis เจาะคนรุ่นใหม่ในรูปแบบ Concept Stores ทั้งกลุ่มแฟชั่น บิวตี้ คาเฟ่ ฟิตเนส รวมทั้ง Co-Working Space เพื่อเป็นเดสทิเนชั่นของการอัปเดตเทรนด์และแฮงก์เอาต์ มีไฮไลต์ Craftfeteria Craft Space ที่มีเวิร์กช็อปต่างๆ เช่น Lip Lab การผสมสีลิปสติกชนิดที่ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของแบบแท่งเดียวในโลก
โซน Family Oasis มีร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์
ทั้งโครงการมีพื้นที่รวม 50,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าเจาะเขตกรุงเทพตะวันออกและย่านลาดกระบัง เนื่องจากมีศักยภาพและมีโอกาสสูง การแข่งขันยังไม่รุนแรงมาก จำนวนผู้พักอาศัยขยายตัวมากจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ธุรกิจการบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และหมู่บ้านระดับลักชัวรี กลุ่มผู้พักอาศัยส่วนใหญ่มีรายได้ประจำและมีกำลังซื้อสูง
โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง จึงถือเป็นบทพิสูจน์การกลับเข้าสู่สงครามค้าปลีกเขตเมืองอย่างเต็มตัว ก่อนเพิ่มดีกรีการแข่งขันอย่างดุเดือดอีกครั้ง
โรบินสันไลฟ์สไตล์สาขา จ. ชัยภูมิ
โรบินสันสาขาลาดกระบังที่ก่อสร้างไปกว่า 70%
เจาะอาณาจักรธุรกิจ “ซีอาร์ซี”
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ซีอาร์ซี” ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล แบ่งโครงสร้างเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
1. กลุ่มแฟชั่น
๐ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปัจจุบันมี 23 สาขา ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 49 สาขา
๐ ซูเปอร์สปอร์ต เครือข่ายร้านขายสินค้ากีฬา มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 39.2 ในปี 2560 และร้อยละ 35.8 ในปี 2561 จำนวนสาขา 192 สาขา
๐ Central Marketing Group (CMG) ผู้แทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากต่างประเทศผ่านเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าและช่องทางค้าปลีกอื่นๆ
๐ รีนาเชนเต (Rinascente) ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ในประเทศอิตาลี มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 44.7 ในปี 2560 และร้อยละ 48.1 ในปี 2561 จำนวนสาขา 9 สาขา
2. กลุ่มฮาร์ดไลน์
๐ ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง “ไทวัสดุ” มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทยในหมวดผู้ค้าปลีกสินค้าเฉพาะทางเกี่ยวกับบ้านและสวน อยู่ที่ร้อยละ 3.5 และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้าน “บ้าน แอนด์ บียอนด์” โดยไทวัสดุและบ้าน แอนด์ บียอนด์ มีสาขารวม 53 สาขา
๐ เพาเวอร์บาย มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยในหมวดผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะทาง ร้อยละ 6.4 ในปี 2560 และร้อยละ 6.8 ในปี 2561 จำนวนสาขา 105 สาขา
๐ เหงียนคิม ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะทางที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประเทศเวียดนาม มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 2.6 ในปี 2560 และร้อยละ 2.5 ในปี 2561 จำนวนสาขา 64 สาขา
3. กลุ่มฟู้ด
๐ ท็อปส์ มีสาขาหลายรูปแบบ คือ ท็อปส์มาร์เก็ต ท็อปส์เดลี่ และท็อปส์พลาซ่า จำนวนสาขา 265 สาขา รวมทั้งเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์
๐ แฟมิลี่มาร์ท ได้รับการจัดอันดับให้เป็นร้านสะดวกซื้ออันดับ 3 ในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 4.8 จำนวนสาขารวม 1,008 สาขา
๐ บิ๊กซี เป็นเครือไฮเปอร์มาร์เก็ตและพลาซ่าหลักของกลุ่มเซ็นทรัลรีเทลในประเทศเวียดนาม เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับหนึ่งในประเทศเวียดนาม ทั้งในแง่ส่วนแบ่งการตลาด จำนวนสาขา และพื้นที่ขาย อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างปรับภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ “GO!” ปัจจุบัน บิ๊กซี มีสาขา 36 สาขา
๐ ลานชี มาร์ท ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กถึงกลางในพื้นที่ชานเมืองและชนบทของประเทศเวียดนามตอนเหนือ ปัจจุบันมี 25 สาขา.