วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กไบเทคดันซัมเมอร์ลาซาล เปิดคอมมูนิตี้มอลล์ Sunny

บิ๊กไบเทคดันซัมเมอร์ลาซาล เปิดคอมมูนิตี้มอลล์ Sunny

หลังจากปลุกปั้นออฟฟิศบิลดิ้งสไตล์ตึกสูงเกรดพรีเมียม “ภิรัชทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์” รูปแบบมิกซ์ยูสร่วมกับศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ใจกลางย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ และภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค อาคารสำนักงานเกรดเอร่วมสมัย ย่านสุขุมวิท-บางนา ล่าสุด ปิติภัทร บุรี ทายาทหนุ่มกลุ่มบริษัทภิรัชบุรี เจ้าของอาณาจักรไบเทค กำลังเร่งเครื่องโครงการ “ซัมเมอร์ลาซาล” และเตรียมเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์ “SUNNY at Summer Lasalle” ที่เน้นความเป็นคอมมูนิตี้อย่างแท้จริง

ที่สำคัญ “ซัมเมอร์ลาซาล” ถือเป็นโครงการสไตล์ใหม่สมบูรณ์แบบของภิรัชบุรี ที่ต่างจากอดีต ตั้งแต่ยุคบุกเบิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจาะตลาดอาคารสำนักงานเมื่อ 30-40 ปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นอาคารสูงขนาดใหญ่ มีเพียงเพื้นที่ให้เช่าและต่างคนต่างทำงานในแต่ละบริษัทเท่านั้น

ปิติภัทร บุรี กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี กล่าวว่า ตามแผนทั้งหมดของโครงการซัมเมอร์ลาซาล (Summer Lasalle) มีที่ดินรองรับมากกว่า 60 ไร่ จะเป็นการพัฒนาอาคารสำนักงานแนวราบ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ออฟฟิศแคมปัส” ซึ่งบริษัทเคยทำโปรเจกต์นำร่องในโครงการภิรัช ทาวเวอร์ แอท สาทร แต่ซัมเมอร์ลาซาลมีขนาดที่ดินใหญ่กว่าโครงการที่สาทรหลายเท่า และเริ่มต้นจากที่ดินเปล่า ทำให้บริษัทสามารถเติมเต็มองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โครงการซัมเมอร์ลาซาลจะประกอบด้วย อาคารสำนักงาน จำนวน 5 แคมปัส เริ่มจากแคมปัส A, B, C, D และ E รวมทั้งสิ้น 29 อาคาร

แต่ละแคมปัส ประกอบด้วยอาคารสำนักงานสูง 3 ชั้น จำนวน 4-6 อาคาร โดยแคมปัสแรกมีอาคารรวม 6 หลัง พื้นที่หลังละ 2,000 ตารางเมตร รวม 12,000 ตารางเมตร ซึ่งถ้ารวมทุกแคมปัสมีพื้นที่เป็นแสนตารางเมตร และที่พิเศษ คือ พื้นที่ 45% เป็นแลนด์สเคป พื้นที่สีเขียว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของทุกๆ โครงการของภิรัชบุรี

อย่างโครงการภิรัชทาวเวอร์ แอท สาทร เป็นอาคารสำนักงานใจกลางเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมาก ซึ่งซัมเมอร์ลาซาลจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่าอีกหลายเท่า

“เฉพาะปลายปีนี้ แคมปัส A จะเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นภายใน 2-3 ปี บริษัทจะเน้นการพัฒนาแคมปัส B และ C หากมีโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้นจะขยับไปสร้างแคมปัส D และ E โดยบริเวณสุดซอยลาซาลจะก่อสร้างโรงแรมขนาด 200-300 ห้อง ศูนย์การจัดประชุม และโครงการรีเทลฝั่งแบริ่ง เพราะโครงการตั้งอยู่บนถนนลาซาล เชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิท เทพรัตน และแบริ่ง ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคต ใกล้กับศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีบางนาและแบริ่ง ทางด่วน และใช้เวลาเพียง 20 นาทีในการเดินทางสู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และย่านใจกลางกรุงเทพฯ”

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่เร่งรีบขยายหรือกำหนดเสร็จภายในปีไหน เพราะถือเป็นมิกซ์ยูสที่กินเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่า 60 ไร่ ทุกองค์ประกอบต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด แต่หากโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าจะมีบริษัทกว่า 300 แห่ง และพนักงานมากกว่า 6,000 คน เข้ามาอยู่ในโครงการ กลายเป็นวิลเลจ (Village) รวมกันหลายวิลเลจและกลายเป็นเมืองขนาดย่อม ซึ่งการใช้รูปแบบมิกซ์ยูสจะสร้างคอมมูนิตี้ที่มีทั้งออฟฟิศ โรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์ เน้นการตอบโจทย์ผู้คน ทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มคนในชุมชนใกล้เคียงและผู้คนที่สัญจรไปมา

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ Sunny ซึ่งจะเปิดตัวภายในปลายปี 2562 มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของคนในโครงการและคนในชุมชนเช่นเดียวกัน รวมทั้งเป็นการต่อยอดแบรนด์จาก วันอุดมสุข คอมมูนิตี้มอลล์ รีเทลแบรนด์แรกของภิรัชบุรีในย่านอุดมสุข

สำหรับโครงการค้าปลีก SUNNY at Summer Lasalle มีพื้นที่ประมาณ 5,500 ตร.ม. เน้นแนวคิด Urban Eco-Living Community การใช้พื้นที่รับแสงธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่พบปะเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน และการทำกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลางอย่างเท่าเทียมกัน

“ภายใน Sunny จะเน้นกลุ่มร้านอาหาร หรือ Food & Beverage สัดส่วนมากถึง 60-80% ไม่ได้เน้นแบรนด์เหมือนห้างสรรพสินค้า จะมีโปรดักชั่นเฮาส์ ผลิตครัวกลาง ซึ่งเป็นโจทย์ความต้องการของเอฟแอนด์บี ที่ต้องการเน้นความสดใหม่และเน้นพวกร้านป๊อปอัพมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจรีเทลเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ผู้ค้าต่างต้องการหาสถานที่เพื่อเทสต์ตลาด ส่วนร้านนอนเอฟแอนด์บี เช่น ร้านเพื่อสุขภาพ ร้านหนังสือ จับกลุ่ม Localize เพื่อสร้างความเป็นคอมมูนิตี้”

ปิติภัทรกล่าวว่า สิ่งที่จะสะท้อนตัวตนของคอมมูนิตี้มอลล์ Sunny ชัดเจนที่สุด คือ การออกแบบ โดยจับมือ บริษัท แทนเดม อาร์คิเท็ค (2001) ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรม ดึงเอกลักษณ์ของซอยลาซาล ซึ่งสมัยก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ชาวบ้านเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพปลูกข้าวและชื่อลาซาลมาจากชื่อบาทหลวง เรื่องราวทั้งหมดให้อารมณ์ความเป็นชุมชนมาก

การออกแบบจึงเน้นบรรยากาศเป็นโรงสีข้าว ตกแต่งด้วยวัสดุโครงเหล็ก แผ่นสังกะสี และไม้ เป็นแรงบันดาลใจจากโรงนาสมัยก่อน เพื่อเล่าประวัติความเป็นมาของพื้นที่ ขณะที่เลือกใช้เหล็กรูปพรรณและกระจก เพิ่มความโมเดิร์นให้เหมาะกับยุคสมัย

นอกจากนี้ การออกแบบยังอยู่ภายใต้แนวคิด Inclusive Design ให้ทุกมุมของโครงการเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเท่าเทียมตามวิสัยทัศน์ของภิรัชบุรี อย่างโครงการภิรัช ทาวเวอร์ แอท สาทร เปิดพื้นที่ด้านหน้าอาคารเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชาวไทยหมุนเวียนทุกไตรมาสตลอดทั้งปี เพื่อสร้างสัญลักษณ์ใหม่และสื่อสะท้อนย่านสาทร ภายใต้ชื่อ “ความเป็นย่าน เกิดจากความสัมพันธ์” โดยที่ผ่านมานำเสนอผลงานของ 2 ศิลปิน วีร์ วีรพร เจ้าของสตูดิโอกราฟิก Conscious ผู้เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์ผลงานด้วยการออกแบบและสื่อสารผ่านตัวอักษร และ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้ชื่นชอบการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุเหลือใช้ เจ้าของผลงานแชนเดอร์เลียร์สัตว์ประหลาดที่ได้จัดแสดงที่ช่างชุ่ย มานำเสนอความเป็นย่านสาทรที่เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างยาวนาน จนพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่มีความหลากหลายของผู้คนรวมอยู่ในที่เดียวกัน

แน่นอนว่า กลยุทธ์ “ออฟฟิศแคมปัส” ของภิรัชบุรี จากไพล็อตโปรเจกต์ “ภิรัช ทาวเวอร์ แอท สาทร” มาถึง “ซัมเมอร์ลาซาล” ไม่ใช่แค่การแก้เกมตลาดออฟฟิศที่หลายฝ่ายกำลังหวั่นวิตกกับปัญหาภาวะโอเวอร์ซัปพลาย แต่ยังเป็นกลยุทธ์อัพเกรดราคาและอัพเกรดภาพลักษณ์ความเป็นออฟฟิศที่จะไม่ใช่แค่ “ที่ทำงาน” แบบเดิมอีกแล้ว

ใส่ความเห็น