วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สหพัฒน์เร่งเจาะธุรกิจใหม่ หืดจับ หลุดเป้า 3 แสนล้าน

สหพัฒน์เร่งเจาะธุรกิจใหม่ หืดจับ หลุดเป้า 3 แสนล้าน

เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผิดหวังอย่างรุนแรง ทั้งที่เคยประกาศลั่นในงานเปิดตัว “สหกรุ๊ปแฟร์” เมื่อปีก่อน ตั้งเป้าหมายผลักดันบริษัทในเครือมากกว่า 200 บริษัท ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ามากกว่าพันรายการ และร้านค้าปลีก ลุยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ดันรายได้ฉลุยแตะ 3 แสนล้านบาท เพราะสุดท้ายต้องหดเป้าทั้งหมดและกุมขมับยอมรับว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นช่วงเลวร้ายที่สุด

เหตุผลสำคัญ คือ กำลังซื้อในระดับรากหญ้าและภาคการเกษตรหายไปค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งของกำลังซื้อที่หดหายมาจากพิษเงินบาทที่แข็งค่ามาที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ความสามารถในการส่งออกลดน้อยลง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้วัตถุดิบและแรงงานในไทยแบบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบบ 100%

นั่นทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างสหพัฒน์ต้องปรับกระบวนทัพต่างๆ เมื่อแนวโน้มกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าและแฟชั่นเติบโตลดลง บริษัทเริ่มมองหากลุ่มธุรกิจใหม่ๆ โดยขยายไปยังกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และหันไปลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจกลุ่มสินค้าบริการและการศึกษา ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ ในย่านสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับสินค้าในเครือของบริษัทที่ต้องการส่งแบบรวดเร็วและสดใหม่ และธุรกิจพลังงานทดแทน

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าและแฟชั่น ซึ่งยังเป็นแหล่งรายได้หลักนั้น เสี่ยบุณยสิทธิ์พลิกกลยุทธ์ลดขนาดธุรกิจ (Scale Down) และปรับแผนงานสู่ธุรกิจเสื้อผ้าเจาะตลาดลูกค้าองค์กร (B2B) เช่น เจาะตลาดชุดยูนิฟอร์มพนักงาน

ทั้งนี้ ช่วงการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 27-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เครือสหพัฒน์สะท้อนภาพความพยายามหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการโชว์เทคโนโลยีการบริหารร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการนำเสนอร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงาน “His & Her Smart Shop ซึ่งร่วมมือกับกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ให้บริการ Unmanned Shop โซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกยุค 4.0 รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

มีระบบ Face Recognition ลูกค้าสามารถเดินเข้า-ออกร้านด้วยเทคโนโลยีกล้องจดจำใบหน้า เมื่อลูกค้าต้องการใช้บริการ ระบบจะประมวลผลจากข้อมูลที่จัดเก็บเพื่อเปิดประตู

ระบบ Smart tag เมื่อลูกค้าต้องการชำระเงิน สามารถวางสินค้าลงในตะกร้า ระบบจะอ่านป้ายราคาแบบอัตโนมัติ พร้อมแสดงรายการสินค้า และยอดชำระ

ระบบ Auto Payment Machine เลือกวิธีการชำระเงิน ทั้งเงินสด หรือชำระผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารด้วย QR Payment หรือบัตรเครดิต ไม่จำเป็นต้องถือเงินสดและรอเงินทอน โดยเก็บข้อมูลรายการสินค้าต่างๆ เพื่อประมวลผลและใช้ในการส่งเสริมการตลาดต่อไป นอกจากนี้ มีระบบ Heat Map IoT CCTV ตรวจจับความร้อนของร่างกาย เพื่อแสดงภาพความหนาแน่นของลูกค้าในบริเวณต่างๆ ภายในร้าน เพื่อช่วยบริหารจัดการ Traffic Flow และจัดรูปแบบการวางสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ที่สำคัญ เครือสหพัฒน์เร่งดึงพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนใหม่ๆ อย่างการประกาศความร่วมมือกับบริษัท โซจิทสึ (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ โดยให้ โซจิทสึ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสวนอุตสาหกรรม มีเครือข่ายในประเทศไทยและญี่ปุ่น รวมถึงเคยเข้าลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ เป็นตัวแทนขยายฐานลูกค้าเข้ามาลงทุนในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ทั้ง 4 แห่ง คือ สวนอุตสาหกรรมศรีราชา กบินทร์บุรี ลำพูน และแม่สอด

การร่วมมือด้านเทคโนโลยีพลังงานกับบริษัท เจเนรัล อิเลคทริค (ประเทศไทย) (GE) บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด และบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด ในการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมให้เป็นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Park) เพื่อพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ให้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าไมโครกริด (Micro Grid) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

การร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าโตคิวและโตคิวแฮนด์ (Tokyu Hands) ที่มีสาขาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 50 แห่ง พัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่สมาชิกบัตร His & Her Points Card ของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และขยายความร่วมมือต่อยอดจากปี 2557 ซึ่งกลุ่มโตคิวและเครือสหพัฒน์ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท สห โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจบ้านพักที่อยู่อาศัยสำหรับชาวญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “HarmoniQ” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยปีนี้วางแผนพัฒนาปรับปรุง Service Apartment “Green Life” ใจกลางอำเภอศรีราชา รองรับกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่มาพักอาศัยในประเทศไทยเพียงคนเดียว ไม่ใช่มาแบบครอบครัว และต้องการที่พักขนาดกะทัดรัด

หรือโครงการร่วมลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ย่านถนนรัชดาฯ-พระราม 3 ซึ่งจะเปิดการเรียนการสอนในปี 2563 ตั้งแต่ชั้น Pre-Nursery (2 ขวบ) จนถึง Year 13 (18 ปี) สามารถรองรับนักเรียน 1,500 คน โดยถือเป็นโรงเรียนแห่งที่ 3 ในโลก และแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับโรงเรียนคิงส์คอลเลจวิมเบิลดันถือเป็นโรงเรียนที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 สุดยอดโรงเรียนที่มีคะแนนสอบดีที่สุดของอังกฤษ เนื่องจากนักเรียนของโรงเรียนสามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปีละประมาณ 25% หรือราว 300 คน ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และนักเรียนมากกว่า 90% สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พรินซ์ตัน สแตนฟอร์ด และเยล

ขณะที่บริษัท สหลอว์สัน จำกัด และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศจับมือกับบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เพื่อรุกขยายร้าน Lawson108 บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและสร้าง Offline-to-Online (O2O) Ecosystem ผ่านบริการจากร้าน Lawson108 โดยมีแรบบิทเป็นช่องทางการชำระเงิน

แน่นอนว่า การเร่งขยายการลงทุนทุกทิศทางที่เป็นไปได้ของสหพัฒน์ ด้านหนึ่งพุ่งเป้าขยายฐานธุรกิจใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นแผนดิ้นสู้วิกฤตที่นับวันจะจู่โจมเข้ามาชนิดคาดไม่ถึงด้วย

22 ปี พิษเงินบาท เมื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ยังหลอกหลอน

เงินบาทที่ทำสถิติแตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จนหลายฝ่ายเริ่มนึกถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เกิดมรสุมค่าเงินบาทครั้งใหญ่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ชนิดที่ยังหลอกหลอน แม้ผ่านมานาน 22 ปี

วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งเริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างหนักจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 56 บาทต่อดอลลาร์ จากการตัดสินใจของรัฐบาลไทยยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 หลังเผชิญกับการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทางการเงิน (financial overextension) โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามพยุงค่าเงินบาท โดยใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศจนหมด รวมถึงกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เงินของกองทุนช่วยเหลือสถาบันการเงินหลายแห่งสูงถึง 6 แสนล้านบาท และต้องกู้จากไอเอ็มเอฟอีก 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังลอยตัวค่าเงินบาท คือ รัฐบาลเข้ายึดใบอนุญาตการประกอบกิจการของสถาบันการเงิน 58 แห่ง ปลดพนักงานจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายเหลือเพียง 2 บริษัท คือบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันคือ ธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสต์เมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ

ต่อมา มีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2540 ตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือบริษัทการเงินที่ถูกยึดใบอนุญาตก่อนหน้านี้

ปี 2541 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2540 ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาโครงสร้างสถาบันการเงินประเภทธนาคารครั้งใหญ่ หรือ “มาตรการ 14 สิงหาคม 2541” ทำให้เกิดการควบโอน ควบรวม การซื้อขายกิจการธนาคารบางแห่ง ส่งผลให้จำนวนธนาคารลดลง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเร่งแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยออกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 สนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารงานและฐานะทางการเงินในระดับดี แปรรูปเป็นนิติบุคคลหุ้นส่วน หรือบริษัท (มหาชน) จำกัด เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนและสร้างรายได้ให้ประเทศ รวมทั้งรวบการประชาสัมพันธ์ปีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2541-2542 มาเป็นช่วงปลายปี 2540 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวระดมเม็ดเงินครั้งใหญ่

ด้านไอเอ็มเอฟ จี้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน แต่ส่งผลให้ปัญหารุนแรงขึ้น ราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆ พุ่งพรวด รัฐบาลนายชวนจึงกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทย รณรงค์ประหยัดการใช้จ่ายและบริโภคผลิตผลของคนไทยด้วยกัน จนถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนผ่านพ้นวิกฤตได้

ใส่ความเห็น