วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์” นับถอยหลังศึกลักชัวรีเอาต์เล็ต

“เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์” นับถอยหลังศึกลักชัวรีเอาต์เล็ต

“เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์” กลายเป็นคู่แข่งทุกเวที นอกจากกระโดดร่วมประมูลชิงสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินแล้ว ทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่เตรียมระเบิดศึกลักชัวรีเอาต์เล็ต โดยเจ้าแรกได้ฤกษ์เปิดให้บริการโครงการ “เซ็นทรัลวิลเลจ” ในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ค่ายหลังดีเดย์ “ลักชัวรีพรีเมียม เอาต์เล็ต ซิตี้” ในเดือนตุลาคม ทิ้งห่างกันไม่ถึง 2 เดือน บนสมรภูมิเดียวกัน ฟากกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก

ล่าสุด ทีมผู้บริหารของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอ็น” ออกมาประกาศความพร้อม เพื่อสร้าง New Shopping Platform หรือลักชัวรีเอาต์เล็ตระดับโลกแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ติดสนามบินสุวรรณภูมิ (The First International Luxury Outlet in Thailand) ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Bangkok Outlet Experience’ ไฮไลต์สำคัญ คือ บูทีคสโตร์จากแบรนด์ระดับโลกรวมกว่า 235 ร้านค้า ได้แก่ Polo Ralph Lauren, Kenzo, Vivienne Westwood, CK Jeans, Adidas, Matter Makers, Guess, Converse, Superdry, Rip Curl, Roxy, Quiksilver, Samsonite รวมถึงแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัว ของเล่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร โรงแรม สนามเด็กเล่น โดยมี Exclusive Outlet Store กว่า 50 แบรนด์

ตามแผน กลุ่มเซ็นทรัลตั้งเป้าจับกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มีรายได้สูงและผู้ชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมทั่วประเทศ กลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย แต่ประสบความสำเร็จเร็วจากทั่วโลก อย่างชาวจีน รัสเซีย เพื่อตอบรับเทรนด์การสร้างเมืองสนามบิน ให้เมืองไทยเป็นสวรรค์แห่งการชอปปิ้งแห่งใหม่ของคนไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีบริการรถรับส่งจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังเซ็นทรัล วิลเลจ เช่นเดียวกับเอาต์เล็ตในเอเชียหลายแห่งในเมืองท่องเที่ยวของโลก เช่น โอซากา ฮอกไกโด และฮ่องกง รวมถึงบริการรถรับส่งจากเซ็นทรัลเวิลด์มายังโครงการและเชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิด้วย

วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า เซ็นทรัล วิลเลจ ถือเป็นหนึ่งใน Key Strategic Move ที่จะเป็นแบรนด์ใหม่ใน Portfolio ของซีพีเอ็นที่ต้องการตอกย้ำการเป็นหนึ่งใน Global Player ในเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายดึงดูดทราฟฟิกจากกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงปีละกว่า 6 ล้านคน หรือวันละกว่า 17,000 คน

ด้านกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ซึ่งประกาศแผนการร่วมทุนกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เมื่อปีที่ผ่านมา ประเดิมเร่งก่อสร้าง “เมือง” หรือโอเอซิสแห่งใหม่แห่งแรกที่ตั้งเป้าดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้ทุกวัน โดยมี “ลักชัวรีพรีเมียมเอาต์เล็ต” เป็นแม็กเน็ตชิ้นสำคัญ และตั้งเป้าหมายผุดโครงการต่อเนื่อง 3 แห่งภายใน 3 ปี งบลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

สำหรับลักชัวรีพรีเมียม เอาต์เล็ต ซิตี้ แห่งแรกตั้งอยู่บนที่ดิน 150 ไร่ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ มีพื้นที่เช่าราว 50,000 ตารางเมตร ภายในมีร้านค้าแบรนด์กว่า 200 ร้าน ร้านอาหาร ศูนย์การเรียนรู้ และลักชัวรีพรีเมียมเอาต์เล็ต เป็นแม็กเน็ตหลัก ซึ่งตามแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการเฟสแรกในเดือนตุลาคม 2562 ก่อนขยายสาขา 2 และ 3 ในภาคเหนือและภาคใต้

แน่นอนว่า การจับมือกับกลุ่มไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ถือเป็นจุดแข็งด้านพันธมิตรที่สำคัญ เนื่องจากกลุ่มไซม่อนฯ เป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำของโลกที่สร้างโครงการระดับเดสติเนชันของผู้คนทั่วโลก ทั้งชอปปิ้ง กินดื่ม บันเทิง และมิกซ์ยูส มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดรวม 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์รวมกว่า 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเจ้าของโครงการมากกว่า 230 โครงการ ใน 12 ประเทศทั่วโลก พื้นที่ให้เช่ามากกว่า 17 ล้านตารางเมตร มีแบรนด์เข้ามาจำหน่ายในโครงการต่างๆ มากกว่า 3,000 แบรนด์ มีรายได้มากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ยอดผู้คนเข้าใช้บริการรวม 2,000 ล้านคนต่อปี

เป็นเจ้าของพรีเมียมเอาต์เล็ต 96 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้ 15 แห่ง อยู่ในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น 9 แห่ง เกาหลี 4 แห่ง และมาเลเซีย 2 แห่ง โดยประเทศไทยจะเป็นพรีเมียมเอาต์เล็ตแห่งที่ 16 ในเอเชีย

เมื่อเร็วๆ นี้ ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ ได้ออกมาย้ำทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปีจากนี้ (2562-2566) เพื่อเป็นผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะไม่พัฒนาหรือทำเพียงแค่โครงการค้าปลีกที่เป็นเพียงแค่ศูนย์การค้าแบบเดิมแล้ว แต่ต้องพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่เป็นมิกซ์ยูสที่มีลักษณะเป็นเมือง

ชฎาทิพพูดถึงแนวทางการลงทุนมีทั้งการพัฒนาโครงการเอง การซื้อไลเซนส์ การลงทุนร่วมกับพันธมิตรทั้งไทย และต่างประเทศ รวมทั้งการขยายธุรกิจไปลงทุนในต่างประเทศด้วยการร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่น หรือการรับเป็นที่ปรึกษาโครงการค้าปลีกต่างๆ ในต่างประเทศ โดยวางงบประมาณการลงทุน 5 ปี รวม 70,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้รวมใน 5 ปีจากนี้ เติบโต 1-1.5 เท่าจากปัจจุบันมีรายได้รวมเมื่อปี 2561 อยู่ที่ 25,500 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ประมาณ 23% และตั้งเป้าหมายปี 2562 เติบโต 12-15%

ที่สำคัญ โครงการลักชัวรีพรีเมียม เอาต์เล็ต ซิตี้ ถือเป็นหนึ่งในโมเดลล่าสุดที่สะท้อนแนวทางใหม่ในการขยายธุรกิจศูนย์การค้าและเปิดยุทธศาสตร์การขยายเครือข่ายออกต่างจังหวัดครั้งแรกของสยามพิวรรธน์ เพื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในแง่การลงทุน รายได้ และกำไร โดยลักชัวรีพรีเมียม เอาต์เล็ต ซิตี้ แห่งแรกจะมีชื่อว่า สยามพรีเมียมเอาต์เลตมอลล์ และกำลังเจรจาหาซื้อที่ดินเพื่อเปิดอีก 2 แห่ง พร้อมๆ กับ โครงการเมืองแบบไอคอนสยามอีก 2 แห่ง แต่ละแห่งมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่

ต้องยอมรับว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ 2 ยักษ์ค้าปลีกเร่งรุกขยายอาณาจักรศูนย์การค้าสไตล์ “ลักชัวรีเอาต์เล็ต” มาจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะตัวจักรกลกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ยังเข้มแข็งอยู่ แม้ที่ผ่านมาอาจประสบปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาฝุ่นพิษทางภาคเหนือก็ตาม ซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังยืนยันเป้าหมายรายได้รวมของธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2562 ที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 3.3-3.4 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 40.5 ล้านคน

ส่วนภาคเอกชนอย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 39-39.80 ล้านคน เติบโตร้อยละ 2.1-4.1 จากปี 2561 โดยตลาดที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอาเซียน เกาหลีใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น

ขณะที่ประเมินรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 2.16-2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9-8.9 จากปี 2561ที่เติบโตร้อยละ 7.1 หรือมีจำนวน 38.12 ล้านคน แม้ช่วงครึ่งหลังของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติจากหลายประเทศชะลอการเดินทางมาเที่ยวไทย แต่ช่วง 2 เดือนสุดท้าย นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวขึ้น เพราะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ให้นักท่องเที่ยวจาก 21 ประเทศ ส่งผลให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 2.01 ล้านล้านบาท

เมื่อสถานการณ์ตัวเลขยังสวยหรู ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์กับการประเดิมโครงการรีเทลฟอร์แมตใหม่ ต่างฝ่ายต่างโหมโรงอย่างคึกคัก

นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือน ศึกลักชัวรีเอาต์เล็ตเดือดแน่

ล้อมกรอบ

CENTRAL VILLAGE – BANGKOK OUTLET EXPEREINCE

๐ LOCATION ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพียง 10 นาที

๐ พื้นที่โครงการ 100 ไร่

๐ พื้นที่โครงการ 40,000 ตร.ม.

๐ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท

๐ กลุ่มเป้าหมายหลัก Domestic 65%, International Tourists 35%

๐ ศักยภาพกรุงเทพฯ

๐ Top 10 Airports with the Most Passengers in Asia ปี 2560 สนามบินสุวรรณภูมิติดทอปเท็นสนามบินที่มีจำนวนผู้ โดยสารมากสุดในเอเชีย (55.8 ล้านคน)

๐ Rank #1 Airport with the Most Passengers in Southeast Asia ปี 2560 สนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารมาก เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (55.8 ล้านคน)

๐ Rank #1 in International Overnight Arrivals in Asia Pacific Destinations ปี 2560 กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้โดยสารต่าง ชาติที่เข้ามาและพักค้างคืนมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย (19.3 ล้านคน)

๐ Rank #2 in Expenditures by International Visitors in Asia Pacific Destinations ปี 2560 กรุงเทพฯ มีจำนวนการใช้ จ่ายเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย (US$ 12.7 billion) รองจากสิงคโปร์ (US$ 15.4 billion)

๐ The Highest Average Monthly Household Income in Thailand กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือน สูงสุดในประเทศไทย 45,572 บาท/ครัวเรือน/เดือน

๐ จุดเด่นของโครงการ

๐ ความหลากหลายของลักชัวรีแบรนด์จากทั่วโลกกว่า 235 ร้านค้า

๐ ส่วนลด 35-70% ทุกวัน

๐ Customer Centric มีบริการหลากหลายครบวงจรเหมือนศูนย์การค้า ร้านอาหาร จุดบริการนักท่องเที่ยว playground โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต

๐ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางจากในเมืองประมาณ 45 นาที ส่วนนักท่องเที่ยวแวะชอปก่อนเข้า เมือง หรือก่อนไปสนามบินได้

๐ เป็นเกตเวย์สู่ภาคตะวันออก จำนวนรถยนต์ที่วิ่งผ่านบนถนนบางนา-ตราดต่อวัน กว่า 200,000 คัน หรือกว่า 75 ล้านคัน ต่อปี สามารถเดินทางมาจากพัทยาใน 75-90 นาที

ใส่ความเห็น