เพียงเดือนเศษๆ หลังเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ฤกษ์เผยโฉมภัตตาคารฮาร์เบอร์ (Harbour) สาขาแรกในประเทศไทย โดยนับเป็นสาขาที่ 10 ของโลก ในอภิมหาโครงการไอคอนสยาม เพื่อเปิดแนวรบใหม่ เจาะตลาดบุฟเฟต์อินเตอร์ระดับพรีเมียม ดูเหมือนว่าเกมธุรกิจทั้งหมดกำลังเดินตามแผนขยายหน้าร้านเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกเซกเมนต์และทุกระดับรายได้ ชนิดทะลุเป้าหมาย
ที่สำคัญ แบรนด์ “ฮาร์เบอร์” ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ซีพีต้องการชิมลางขยายฐานลูกค้ากลุ่มกระเป๋าหนักๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ตามราคาบุฟเฟต์ที่กำหนดเรตเริ่มต้นคนละ 799++ ในมื้อกลางวัน และมื้อเย็นคิดราคา 899 ++ บาทต่อคน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ 1,099++ บาทต่อคน ในพื้นที่ร่วม 2,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับลูกค้ารอบละ 450 ที่นั่ง หรือราว 1,000 ที่นั่งต่อวัน และถือเป็นภัตตาคารบุฟเฟต์ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
แน่นอนว่า หากภัตตาคารฮาร์เบอร์ ซึ่งถือเป็นร้านอาหารแบรนด์แรกที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดตัวภายใต้แผนร่วมทุนกับไห่หลายกรุ๊ปไต้หวัน สามารถเจาะตลาดอย่างฉลุย
นั่นย่อมหมายถึงการเดินหน้ารุกตลาดพรีเมียม เพื่อเสริมพอร์ตอาณาจักรซีพีอย่างครบถ้วนมากขึ้น หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือซีพีพยายามขยายไลน์ธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายฐานตลาดอย่างไร้ขอบเขต โดยตั้งเป้าหมายเป็น Food Organizer และ Food Service Provider ให้บริการด้านอาหารทุกรูปแบบ
เริ่มต้นจากการเปิดตัวร้านเชสเตอร์กริลล์และร้านในกลุ่มห้าดาว สร้างโมเดลร้านหลากหลายรูปแบบ ทั้งซุ้มขายสินค้าประเภทเดียว ซุ้มขายสินค้าหลายประเภท และร้านฟาสต์ฟู้ดขนาดเล็กที่ลูกค้านั่งรับประทานได้ที่ร้าน เพื่อเจาะตลาดแมส เช่น ร้านไก่ย่างห้าดาว ไก่ทอดห้าดาว ข้าวมันไก่ห้าดาว บะหมี่ห้าดาว เรดี้มีล ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้าน ก. ไก่อร่อย และร้านเครื่องดื่มชานมไข่มุกสูตรไต้หวัน “Crown Bubble”
ขณะเดียวกัน แตกไลน์ธุรกิจศูนย์อาหาร “ซีพีฟู้ดเวิลด์” เพื่อเป็นหน้าร้านสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เช่น ร้านข้าวไข่เจียว “จ.การเจียว” ร้านข้าวขาหมู “โปยก่ายตือคา” ร้านราดหน้ามหาชน ร้านอาหารไทย “ต้มยำทำแกง” ร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเลิศ และร้านข้าวมันไก่เฟซดุ๊ก
ล่าสุด ซีพีฟู้ดเวิลด์มีสาขารวม 11 แห่ง ได้แก่ สาขาโรงพยาบาลศิริราช อาคารปิยมหาราชการุณย์ สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์อาหารทวีวงศ์ทวัลยศักดิ์ สาขาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาคาร CP All Academy สาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต สาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สาขาศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ สาขาโรงพยาบาลรามาธิบดีฯ สาขาคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารบรมนาถศรีนครินทร์ สาขาโรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา สาขาโรงพยาบาลบีเอ็นเอช และสาขาปิยชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีกด้านหนึ่ง ซีพีเร่งปรับตัวรับเทรนด์คนรุ่นใหม่ โดยแตกไลน์ทั้งร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และร้านฟาสต์ฟู้ด ภายใต้โครงการ Young Talent ที่เจ้าสัวธนินท์ปิ๊งไอเดียและทุ่มงบสนับสนุนกลุ่ม “นิวเจน” สร้างสรรค์โมเดลร้านอาหารฉีกแนวคู่แข่ง
อย่างร้านไก่ทอดฟรายด์เดส์ คอนเซ็ปท์ Lifestyle Quick Service Restaurant ที่ครบเครื่อง หลุดกรอบ เพราะเป็นร้านไก่ทอดสไตล์ไทยผสมผสานไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ให้ผู้คนสามารถใช้เวลาได้ตลอดทั้งวันและทุกวัน เรียกว่า ALL DAY @ FRIEDDAYS เพราะมีทั้งพื้นที่รับประทานอาหารที่เน้นความรวดเร็ว ที่นั่งกะทัดรัด เหมาะกับคนทำงานออฟฟิศ พื้นที่รีแลกซ์โซน (Relax Zone) เหมาะกับการพบปะสังสรรค์ของเพื่อนฝูง หรือทำงาน อ่านหนังสือ ที่นั่งมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีปลั๊กเสียบชาร์จโน้ตบุ๊กและมือถือ และพื้นที่ไพรเวตโซนหรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ แยกสัดส่วนห้องชัดเจน พร้อมบริการจอมอนิเตอร์ เลเซอร์ รวมทั้งมีมุมจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารจีนสไตล์โมเดิร์น “มังกรทอง” ร้านอาหารญี่ปุ่น Ramen Habu ร้านอาหารญี่ปุ่น Gohango สไตล์เบนโตะและข้าวหน้าต่างๆ ร้านข้าวหน้าเป็ดย่าง “เป็ดโปรด” ร้านข้าวแกง “ปรุงสุข” ร้านอาหารสุขภาพ Sit Nature และร้านเบอร์เกอร์ PaPa’s Burger รวมทั้งยังสร้างแบรนด์มินิฟู้ดคอร์ท เดอะ เซนส์ ฟู้ด คอมเพล็กซ์ ตามแนว “ซีพีฟู้ดเวิลด์” เพื่อเป็นหน้าร้านโชว์แบรนด์ต่างๆ ของกลุ่มยังก์ทาเลนต์
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การร่วมทุนกับ ไห่หลายกรุ๊ป ไต้หวัน ภายใต้ชื่อบริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด เป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจภัตตาคาร ซึ่ง “ฮาร์เบอร์” ถือเป็นภัตตาคารบุฟเฟต์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างล้นหลามทั้งในไต้หวันและจีน กระทั่งมีคำกล่าวว่าต้องจองล่วงหน้านานนับเดือนจึงจะได้ลิ้มรส
จุดเด่นสำคัญ คือ อาหารสดใหม่จากท้องทะเลและมีเมนูอาหารนานาชาติมากกว่า 200 รายการ แบ่งโซนการบริการอาหารเป็น 6 จุด ได้แก่ จุดซีฟู้ด/เจแปน เช่น บะหมี่เย็น ยำหอยเชลล์น้ำมันงา หอยหวานหมักกิมจิ หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปูดาว ปูม้า กุ้ง ให้เลือกรับประทานกับน้ำจิ้มรสชาติต่างๆ ซาชิมิปลาบุรี ซาบะดอง หมึกยักษ์ ทูน่า และแซลมอน ข้าวห่อหน้าปลาไหล ข้าวห่อสายรุ้ง แคลิฟอร์เนียโรลกุ้งเทมปุระ ปลาไข่ ไก่ทอด และคาราเมลส้มบรั่นดี
จุดเวสเทิร์น มีเมนูเด็ด เช่น เนื้ออบ แฮม ซี่โครงหมูบาร์บีคิวซอส สลัดผักกับชีสการ์น่า พาดาโน และน้ำสลัดชนิดต่างๆ
จุดเอเชี่ยน ฟู้ดส์ เช่น ผัดไทยกุ้งแม่น้ำ ส้มตำไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ แกงเขียวหวาน และมีของทอดเป็นถุงทอง เปาะเปี๊ยะ
จุดไชนีส ได้แก่ ไส้หมูพะโล้ ซาลาเปาหมูแดง ขนมจีบกุ้ง ฮะเก๋ากุ้ง ยำสะไบนางซอสหม่าล่า ไก่กวางตุ้งหนังกรอบ เป็ดปักกิ่งสไตล์ฮ่องกง เนื้อตุ๋นยาจีน ขาไก่ตุ๋นซอสเป๋าฮื้อให้เลือกรับประทาน ซุปไต้หวันปูนึ่ง และหอยนางรมนึ่ง
จุดพิชซ่า เทปันยากิ พาสต้า มีหอยเชลล์ และเนื้อปูซอสเอ็กซ์โอตุ๋นหม้อดิน สเต๊กเนื้อสไตล์ไต้หวัน บะหมี่ไข่ไต้หวัน และมีพิซซ่าแป้งบางกรอบทำสดใหม่ จนปิดท้ายจุดเครื่องดื่มและของหวาน พวกผลไม้ไทยตามฤดูกาล น้ำผลไม้สด ชานมไข่มุกไต้หวัน ชาไทย กาแฟร้อน ชาร้อน ข้าวเหนียวมะม่วง ลูกชุบ ทองหยิบ ทองหยอด ของหวานแบบไทย และของหวานแบบฝรั่ง ขนมอบสไตล์ฝรั่งเศส พานาคอตต้า ไวท์ช็อกโกแลตรัสเชียนมูส พุดดิ้งมะม่วง
ทั้งนี้ ไห่หลายกรุ๊ป ไต้หวัน เริ่มต้นด้วยธุรกิจโรงแรมและฝ่ายจัดเลี้ยงของโรงแรมได้เปิดภัตตาคาร “ฮาร์เบอร์” ขึ้นเป็นสาขาแรกที่ชั้น 43 โรงแรมแกรนด์ไห่หลาย ภัตตาคารฮาร์เบอร์ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก จึงแยกฝ่ายจัดเลี้ยงของโรงแรมออกมาตั้งเป็น บริษัท ไห่หลาย ฟู้ดส์ จำกัด และปี 2554 ขยายภัตตาคารฮาร์เบอร์ สาขา 2 ณ ศูนย์การค้าฮั่นเฉิน อารีน่า ซึ่งนับเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์ระดับห้าดาวที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน จากนั้นเข้าไปเปิดให้บริการในประเทศจีนที่มณฑลซีอานและมณฑลเซี่ยงไฮ้
ปัจจุบัน ไห่หลาย ฟู้ดส์ ดำเนินกิจการภัตตาคาร “ฮาร์เบอร์” รวม 9 สาขา อยู่ในไต้หวัน 7 สาขาและอีก 2 สาขาอยู่ในประเทศจีน โดยสาขาไอคอนสยามในประเทศไทยนี้นับเป็นสาขาที่ 10 ของโลก
ด้านนายหลิว ซื่อ หมิง ผู้บริหารระดับสูงของไห่หลายกรุ๊ป ไต้หวัน กล่าวว่า เครือไห่หลายมีธุรกิจอาหาร 15 แบรนด์ รวม 42 สาขา มีธุรกิจโรงแรมและบริการจัดเลี้ยง มีรายได้ยอดขายรวม 4,400 ล้านบาท โดยในไทยนั้น บริษัทมีแผนขยายสาขาภัตตาคารสู่หัวเมืองใหญ่อีก 5 แห่ง อาจเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีจำนวนประชากรมาก และมีกำลังซื้อสูง เช่น พัทยา ภูเก็ต และหากลงทุนครบทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มยอดขายแตะ 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี จากปีแรกที่ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 240 ล้านบาท และอาจขยายสาขาไปยังประเทศอื่นในอาเซียนด้วย
นอกจากนี้ ในอนาคต กลุ่มไห่หลาย อาจนำแบรนด์อื่นเข้ามาบุกตลาดในไทย เช่น บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น อาหารเจ ร้านซาลาเปา เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคนไทยมีพฤติกรรมนิยมบริโภคอาหารจากแบรนด์ต่างชาติ หรือเป็นแบรนด์ต้นตำรับ
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชสเตอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ในเครือซีพีเอฟ ตัดสินใจขยายพอร์ตธุรกิจ เปิดตัวเครื่องดื่มชานมไข่มุกสูตรไต้หวัน “Crown Bubble” โดยระบุว่าเป็นชานมต้นตำรับที่ใช้วัตถุดิบจากไต้หวัน ประเดิมสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเตรียมขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากจะนับแบรนด์ร้านอาหารในอาณาจักรซีพีที่มีจำนวนหลายสิบแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ที่กำลังจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แบรนด์ที่จะไปบุกต่างประเทศและแบรนด์สร้างสรรค์ใหม่ของกลุ่มยังก์ทาเลนต์ ทั้งตลาดแมส ตลาดกลาง และตลาดพรีเมียม กลุ่มคนระดับล่าง กลางและเศรษฐี กลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ ยังไม่นับช่องทางจำหน่ายอีกมากมาย ย่อมยืนยันถึงการเป็นครัวโลกของซีพีอย่างชัดเจนแล้ว