สองธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย “ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย)ฯ” เครือสหพัฒน์ จับมือ “คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย” ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย เตรียมรุกตลาดเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก ผ่านช่องทางทีวีช้อปปิ้ง “ช้อป ชาแนล(SHOP Channel)” ช่อง PSI 45 และ 445, ช่อง True visions HD 52, ช่อง G-MM Z 69 และ 102 หวังกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภค ผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถด้านการผลิตสินค้าเครื่องสำอางไทยสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น หลังครองแชมป์อันดับ 1 ตลาดเครื่องสำอางในอาเซียน และอันดับ 3 ในเอเชียเป็นรองแค่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ด้วยยอดมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจมากถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท
บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ผ่านทีวีช้องปปิ้งจากญี่ปุ่นในนาม “ช้อป ชาแนล (SHOP Channel)” เครือสหพัฒน์ จับมือ “คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster)” หลากหลายอุตสาหกรรมธุรกิจด้านเครื่องสำอางไทย ภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน โดยมี คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย ผู้บริหารจากทั้งสองฝั่งมาร่วมลงนามในบันทึกขอตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย คุณสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท ช้อปโกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด, มร.นาโอฮิซะ ยากิ (Naohisa Yagi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด, คุณลักษณ์สุภา ประภาวัติ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย และ คุณสุพัฒน์ เลาระวัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกินเทค อินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ณ ห้องพุทธรักษา ชั้น 6 บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
มร.นาโอฮิซะ ยากิ (Naohisa Yagi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทช้อป โกลบอล (ประเทศไทย)ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 จนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ที่บริษัทฯ ได้มาเปิดตลาดในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท สุมิตโตโม่ คอร์ปเปอเรชั่น (Sumitomo Corporation) ของญี่ปุ่น กับ เครือสหพัฒน์ ช่อง “ช้อป ชาแนล (SHOP Channel)” ที่ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นช่องช้อปปิ้งทีวีอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่มีการออกอากาศครอบคลุมทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น “ช้อป ชาแนล (SHOP Channel)” ยังมีความมุ่งมั่นสู่ตลาดไทยด้วยความช่วยเหลือด้านการตลาดจาก “ช้อป ชาแนล ญี่ปุ่น” และความร่วมมือที่สำคัญจากทางเครือสหพัฒน์ของไทย
มร.ยากิ ยังกล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ตลาดโลกเปิดมากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้า หรือค้นหาข้อมูลของสินค้าได้จากหลายช่องทาง รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยต้องเผชิญกับคู่แข่งหรือการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ภายใต้ของการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้า “ราคา” หรือ “ของฟรี” ทั้งสองอย่างไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าและถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจของเราในช่วงเวลานี้คือ “สินค้า”
“ช้อป ชาแนล (SHOP Channel) เรามี 7 สิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าเพื่อลูกค้าของเราคือ 1.หายาก 2.มีจำกัด 3.มีคุณสมบัติเฉพาะ 4.ราคาสมเหตุสมผล 5.มีเรื่องราว 6.มีเอกลักษณ์ และ 7. มีคุณค่า ยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกมากมายในประเทศไทย ที่คนไทยบางคนอาจจะยังไม่รู้จัก รวมถึงสินค้าในกลุ่มของ SME ที่มีคุณสมบัติครบตรงตาม 7 สิ่งที่สำคัญที่ได้กล่าวไป ผู้ประกอบการจะต้องเล่าเรื่องว่าทำไมถึงอยากจะพัฒนาสินค้าของคุณเองหรือจุดเด่นสินค้าของคุณคืออะไร และจุดไหนที่ยากที่สุดสำหรับคุณในการทำสินค้าของตัวเองเป็นต้น ศูนย์กลางของเราคือ ทีวี การจะเข้าถึงจุดสำคัญของการตลาดในปัจจุบันได้ตรงเป้าหมายที่สุดนั้น อยู่ที่การเตรียมการหรือการหาสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยที่เชื่อมต่อระหว่างคนดูโดยตรง เพื่อเป็นเสียงไปถึงผู้ประกอบการนั้นๆ”
ด้านคุณสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท หรือเกือบประมาณ 3 แสนบาท ไทยคือผู้ส่งออกเครื่องสำอางอันดับ 1 ในอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางในไทย มากกว่า 10,000 ราย อีกทั้งเครื่องสำอางยังเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญไม่แพ้อุสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ โดยที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมของไทยได้ให้การสนับสนุนรวบรวมผู้ประกอบการในประเภทต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้าด้วยกัน คือ วัตถุดิบ,โรงงาน,แบรนด์สินค้า และผู้จัดจำหน่าย มาจัดตั้งเป็น “กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย” เพื่อพัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ
“บริษัท ช้อบ โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท สุมิตโตโม่ คอร์ปเปอเรชั่น เจ้าของธุรกิจทีวีช้อปปิ้งอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นกับเครือสหพัฒน์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย มีนโยบายให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขายสินค้าคุณภาพให้กับลูกค้าผ่านช่องทางทีวีผสมผสานแบบ โอม นิ แชลแนล (Omni Channel) โดยเน้นสินค้าใน 4 กลุ่มหลัก คือ 1.เครื่องประดับ 2.แฟชั่น 3.สุขภาพความงาม และ 4.เครื่องใช้/เครื่องไฟฟ้าในบ้าน ด้วยเครือข่ายช่องทางการขาย การประชาสัมพันธ์ และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือ ระหว่าง บริษัทฯ กับทางกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เพื่อร่วมพัฒนาและเป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าคุณภาพของผู้ประกอบการสู่ลูกค้าในช่องทางต่างๆ รวมถึงโอกาสการไปเปิดตลาดในประเทศญี่ปุ่น และความร่วมมือด้านอื่นๆ ในอนาคต” คุณสรโชติ กล่าว
ในฐานะพาร์ตเนอร์คนสำคัญ คุณลักษณ์สุภา ประภาวัติ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ และความชำนาญด้านคุณภาพ ปัจจุบันเครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากประชากรโลกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงาม ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกายเครื่องหอม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจมากถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นตลาดในประเทศประมาณ ร้อยละ 60 และตลาดส่งออกคิดเป็น ร้อยละ 40 ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของธุรกิจ โดยภาพรวมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครื่องสำอางอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดเครื่องสำอางในอาเซียน เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ความชำนาญ และคุณภาพ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มีสัดส่วนการขยายตัวในด้านการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่สำคัญ อย่างเช่นประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงขึ้นทุกปี และประเทศไทยยังมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางเป็นที่ 1 ในอาเซียนโดยครองส่วนแบ่งตลาด ถึงร้อยละ 40 จากสถิติในปี 2560 ผู้ประกอบการของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยที่จดทะเบียน มีจำนวน
ประมาณ 2,000 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางธุรกิจขนาดเล็ก 68 เปอร์เซ็นต์, ผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดกลาง 29 เปอร์เซ็นต์ และผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดใหญ่ 3 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม เช่น สมุนไพร เคมีอาหาร สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว และพลาสติก เป็นต้น
ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ยังกล่าวต่อว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมของ SME ที่รวมผู้ประกอบการ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเข้าด้วยกันสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแบบรวมกลุ่ม โดยจะเน้นได้จากทิศทางการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ และจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อุตสาหกรรมเครื่องสำอางยังถือเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นและอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศในอัตราที่สูง
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในทุกระดับห่วงโซ่อุปทานที่สามารถบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทางอุตสาหกรรม เพื่อจะส่งให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อที่จะสามารถสร้างการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลก ที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว
“นอกเหนือจากการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายสู่การเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนาและรวมกลุ่มกับประเทศต่างๆสู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกคลัสเตอร์เครื่องสำอางโลก หรือ Cosmetic Valley โดยถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแรกของไทยที่ได้เข้าสู่ในระดับนานาชาติ นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาไปในทิศทางเดี่ยวกันกับประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมดังกล่าว” คุณลักษณ์สุภา กล่าวทิ้งท้าย