วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > New&Trend > สกว. เปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากขุนเขา ชูแม่ฮ่องสอน “เมืองพิเศษทางวัฒนธรรม”

สกว. เปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากขุนเขา ชูแม่ฮ่องสอน “เมืองพิเศษทางวัฒนธรรม”

สกว.จับมือโบราณคดี ศิลปากร จัดเวทีสาธารณะระดมสมองรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหาแนวทางในการพัฒนาแม่ฮ่องสอนสู่ความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ รองพ่อเมืองฝากข้อคิดการพัฒนาปรับปรุงศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว เกษตร และการตลาดร่วมกับพื้นที่ชายแดนพม่า

นายประจวบ อาจารพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะเรื่อง “แม่ฮ่องสอนโมเดล: เสียงสะท้อนจากขุนเขา” อนาคตแม่ฮ่องสอน: ใครกำหนด? ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ห้องประชุมสวนหมอกคำรีสอร์ท จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนบนพื้นฐานของความรู้และกระบวนการมีส่วนร่วม สู่การบูรณาการร่วมกับการพัฒนายุทธศาสตร์ แผนและกลไกการพัฒนาตามลักษณะเฉพาะของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมีเป้าหมายของสหประชาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วนทั้งตัวแทนชุมชน นักวิจัยท้องถิ่น นักวิชาการสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ เอกชน นักศึกษา ประมาณ​ 60 คน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แม่ฮ่องสอนมีความพร้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เราควรปรับปรุงพัฒนาเรื่องวัฒนธรรมการร่ายรำ แม้การแสดงจะน่าตื่นตาตื่นใจในครั้งแรกแต่เมื่อดูหลายครั้งก็นึกภาพออก เพราะเราอนุรักษ์อยู่ในท่าเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รัฐคะยา ประเทศเมียนมา มีวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากของเราแต่มีการปรับปรุงและประยุกต์พัฒนา ทำให้เห็นว่าเขามาไปไกลกว่า จึงควรนำขบคิดจะทำอย่างไรให้แม่ฮ่องสอนมีความ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน รวมถึงควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเกษตรเชิงพืชผล ทำการตลาดร่วมกันระหว่างสองประเทศแบบร่วมด้วยช่วยกัน สำหรับงานวิจัยของ สกว. ที่ผ่านมาช่วยส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม และฝากฝังการพัฒนาเส้นทาง 9.7 กิโลเมตรของสองประเทศด้วย ปัจจุบันได้ทำถนนตรวจการณ์และลงนามทำวิจัยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ให้เป็นเขตป่าสงวนจะได้ใช้พื้นที่อย่างสะดวกมากขึ้นและพัฒนาเป็นด่านถาวรต่อไป ทั้งนี้ หวังว่าเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนาแม่ฮ่องสอนอย่างสร้างสรรค์

ด้าน รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุว่า “แม่ฮ่องสอนโมเดล” เป็นโครงการนำร่องสู่สาธารณะในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องรู้จักภูมิหลังของพื้นที่และที่มาของผู้คน ฐานข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง และเครื่องมือในการพึ่งพาตนเองจากงานวิจัยทำให้พบจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีช่องว่างจากงานวิจัยทั้งด้านเศรษฐกิจสันติภาพ หุ้นส่วน ทรัพยากร และคนในประเด็นต่างๆ อีกมาก ข้อมูลพื้นฐานไม่ครบถ้วนและจำเป็นต้องบูรณาการ ทำให้ทันสมัยและยังขาดข้อมูลเชิงลึกของมาตุภูมิและชาติภูมิที่จะสร้างความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ จึงอยากเชิญชวนคนท้องถิ่นมาร่วมทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องกับนักวิชาการในพื้นที่ต่อยอดงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จเป็นโมเดลสำหรับพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมกลไกและเครื่องมือสำหรับการวิจัยและทำงานคู่ขนานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสุเทพ นุชทรวง ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน กล่าวในเวทีเสวนา “อนาคตแม่ฮ่องสอนใครกำหนด???” ว่าแม่ฮ่องสอนมีการสืบทอดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นและจะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตภายใต้หลักการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาสิทธิในที่ทำกินเป็นทุกข์ใหญ่ของคนแม่ฮ่องสอนที่ต้องย้ายตัวเองออกจากพื้นที่โดยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก รัฐควรกันพื้นที่อยู่อาศัย ทำกิน ใช้สอยและอนุรักษ์ให้เสร็จก่อนประกาศ นักท่องเที่ยวต้องเคารพวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ในอนาคตจะมีสภาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีตัวแทนกลุ่มเพื่อความเท่าเทียม รวมถึงกลุ่มเยาวชน และจัดหลักสูตรวิชาท้องถิ่นให้รู้ความเป็นมาและช่วยกันอนุรักษ์เรื่องใกล้ตัว ให้แม่ฮ่องสอนเป็น “เมืองพิเศษทางวัฒนธรรม” และเสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์การวัดรายได้ประชากรมาใช้ดัชนีความสุขมวลรวมเช่นเดียวกับภูฏาน

ขณะที่ ดร.โยธิน บุญเฉลย รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเห็นว่าประเด็นวิจัยที่ควรทำคือ การจัดการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมชาติพันธุ์และทรัพยากรธรรมชาติเชิงสร้างสรรค์ การจัดการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับรัฐฉาน และการจัดการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพบนเขตพื้นที่สูง ประเด็นวัฒนธรรม เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชนชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนกลไกสภาชาติพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา การจัดการแม่ฮ่องสอนเมืองมรดกทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์และพัฒนาชีวิตวัฒนธรรมลุ่มน้ำปาย รวมถึงประเด็นด้านแรงงาน สิ่งที่ท้าท้าย คือ จะทำอย่างไรให้งานวิจัยชี้นำและเป็นภาคีร่วมในการพัฒนาจังหวัดและพื้นที่อย่างแท้จริง

ด้านชนเขต บุญญขันธ์ ประธานหอกานค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า งานวิจัยเป็นการกระตุ้นความอยากรู้จากข้างนอกทำให้คนเข้ามาในพื้นที่เพื่อแสวงหาสิ่งที่ได้รับรู้ จะดึงงานวิจัยลงจากหิ้งอย่างไร ถ้าคนในพื้นที่ไม่เตรียมการให้พร้อมก็ตอบไม่ได้หรือไม่ลงลึก จึงต้องกระตุ้นตัวเองด้วยการหยิบความรู้จากงานวิจัยมาใช้

ด้านมุมมองจากคนนอก ผศ. ดร.ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานะของพื้นที่มีปัญหาด้านกฎหมายและเป็นประเด็นสำคัญของจังหวัดที่ถูกบีบจากความคาดหวังของคนทั้งประเทศที่ส่งผลกระทบต่อสถานะในการพัฒนาที่ทำอะไรแทบไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่ป่า รวมทั้งความไม่เป็นธรรมจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผูกสถานะของบุคคลไร้สัญชาติที่ถูกโยงถึงสิทธิต่างๆ มากมาย เป็นคอขวดที่ต้องปลดล็อกเพราะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของการพัฒนาพื้นที่

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าอยากเห็นการวิจัยที่เข้าใจผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ เปลี่ยนมุมมองจากการสงเคราะห์มาสู่ผู้มีศักยภาพในการพัฒนา มองเขาเป็นพวกเราและเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้ แม่ฮ่องสอนยังมีจุดเด่นเรื่องเพศสภาวะ บทบาทของสตรีแม่ฮ่องสอนถูกกลบด้วยความเป็นชาติพันธุ์แต่เป็นแม่แรงในการจัดงานประเพณีต่างๆ การประเมินความรู้จากงานวิจัยยังไม่ชัดเจนเรื่องความเป็นชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม อะไรคือความเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่มต่างๆ เช่น ประชาคมแม่ฮ่องสอนที่จัดการเรื่องวัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย กิจกรรมต่างๆ ใช้อะไรในการหล่อหลอมและดึงภูมิปัญญาหรือศักยภาพออกมา งานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดียังขาดมิติเศรษฐกิจการเมือง ความมั่นคง การข้ามแดนทั้งการอพยพและการค้า กฎหมายป่าไม้ ทั้งหมดเป็นเรื่องอำนาจของรัฐในการครอบคลุมพื้นที่ในฐานะรัฐชายแดน เรายังตามปรากฏการณ์ปัจจุบันไม่ทัน

ขณะที่ ศ. ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดด่านห้วยต้นนุ่นทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเข้ามาของทุนใหญ่ ส่งผลให้ขึ้นตรงต่อศูนย์กลางมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้พ้นจากเส้นความยากจน เม็ดเงินเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในพื้นที่และคนพื้นถิ่นจะสูญเสียความหมายของตนเองให้กับนักท่องเที่ยว เมื่องมอง การขยายตัวของการท่องเที่ยว การคมนาคมพัฒนานำมาซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและเพิ่มมากขึ้น มีกิจกรรมและภาคบริการที่หลากหลาย คนพื้นถิ่นถูกดึงให้เดินไปในการขายแรงงานภาคบริการ การผลิตท้องถิ่นจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ กลายเป็นฐานการบริโภค เช่นเดียวกับการขยายตัวของความเป็นเมือง ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนเป็นสังคมสุดช่วงแขน และสังคมแยกย่อยเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เกิดปัญหาการละเมิดพื้นที่สาธารณะสูงขึ้นในทุกขอบเขต ปัญหาเพศสภาวะกับความสัมพันธ์ทางสังคม สตรีมีการเคลื่อนย้ายในสังคมสูงมาก การศึกษาสูงขึ้น ผู้ชายสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจจึงใช้วิธีเรียกร้องความรุนแรง

“เราต้องคิดถึงความเป็นเมืองที่ยุติธรรม ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมของเมืองได้ ลดปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา เมืองแม่ฮ่องสอนเหมาะสำหรับการสร้างเมือง ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากส่วนกลาง จากรัฐ/ระบบราชการ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน โดยผ่านการยกระดับความรู้จากงานวิจัย สร้างความมั่นคงอาหาร สร้างตลาดเฉพาะและเชื่อมตลาด ยกระดับสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสิทธิบนที่ดินที่หลากหลาย สร้างพื้นที่สาธารณะรูปแบบต่างๆ แต่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนคือการศึกษาเพื่อความเป็นแม่ฮ่องสอน อาจให้ กศน. รวมกับวิทยาลัยชุมชน สร้างฐานตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นมาจนถึงปริญญาตรี สร้างความเป็นเอกเทศเฉพาะ หรือการศึกษาทางเลือกที่เพิ่มศักยภาพของผู้คน และสร้างสังคมผู้ประกอบการในเมืองเล็ก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเครือข่ายประชาสังคมที่ขยายตัว และการสร้าง “ประวัติศาสตร์มีชีวิต” ที่ผูกผู้คนไว้ด้วยกัน ประวัติศาสตร์หลัง 2490 เห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในการสร้างเมืองแม่ฮ่องสอนทำให้คนมีสำนึกร่วมกัน”

ใส่ความเห็น